แก้กับดักธุรกิจอุตสาหกรรมไทยด้วยยุทธศาสตร์

แก้กับดักธุรกิจอุตสาหกรรมไทยด้วยยุทธศาสตร์

อุตสาหกรรมไทยมีพัฒนาการระดับการแรงงานเข้มข้น ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีและทักษะต่ำ สู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

ความจำเป็นในการยกระดับอุตสากรรมให้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นและใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้นเพราะอุตสาหกรรมไทยมีต้นทุนในการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นสูงขึ้นและเริ่มแข่งขันไม่ได้

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าสู่นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก นอกจากนี้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐบาลในช่วง 2 - 3 ทศวรรษ ในการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ในช่วงปี 2535-2558 โครงสร้างการส่งออกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนที่สูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ยานยนตร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สัดส่วนของสินค้าเกษตรส่งออกและอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

สนธิสัญญาทางการค้าต่างๆ กับต่างชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ได้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น การเปิดประตูการค้า ทำให้ชาติตะวันตกบางชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายทางการคลัง เช่น เก็บภาษีนำเข้าไม่เกิน 3% เป็นต้น ช่วงก่อนปี 2475 ไม่นานนัก พื้นฐานสำคัญของทุนนิยมสยามเปลี่ยนแปลงไปโดย ทุนของชาวจีนโพ้นทะเล ที่เริ่มย่างก้าวเข้ามามีบทบาทแทนที่ทุนตะวันตก ทุนพระคลังข้างที่และกลุ่มทุนขุนนางศักดินามากยิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทค่อนข้างน้อย ทั้งในแง่ผลผลิตและการจ้างงาน ทุนนิยมสยามในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็น “ทุนการค้า” มากกว่า “ทุนอุตสาหกรรม”

นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและการกระจายสู่ภูมิภาคได้พัฒนามาตามลำดับ เกิดแนวคิดในการตั้งเขตอุตสาหกรรมการผลิตตามแนวชายแดนเพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่ ในที่สุด พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วย การจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษ ก็ได้ผ่านมาบังคับใช้ เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะส่งผลในมิติต่างๆ โดยในระยะแรก 5 พื้นที่ชายแดน หากสามารถจัดตั้งได้ตามที่ประกาศเอาไว้ ก่อนการรัฐประหาร ปี 2557 จะทำให้เศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการพัฒนาพื้นที่ชายแดนอันประกอบ ไปด้วย อ. แม่สอด จ. ตาก อ. อรัญประเทศ สระแก้ว จ. ตราด จ. มุกดาหาร อ. สะเดา จ. สงขลา ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ ยังทำให้การผลิตขับเคลื่อนอย่างเต็มที่จากอุปทานแรงงานประเทศเพื่อนบ้านและเป็นการลดการอพยพของแรงงานต่างด้าวเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของประเทศ โดยจะทำให้อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของไทยหลังปี 2558 สูงขึ้น (หากปัจจัยตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจการเมืองอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ) เกิดการกระจายตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจ เกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนตามจังหวัดชายแดนสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่ต้องแก้ไข คือ ราคาที่ดินปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเก็งกำไรที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรมเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างไม่เหมาะสม หรือขาดการทำโซนนิ่งที่ดี การขาดการวางแผนการใช้พื้นที่อย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการ รวมทั้งการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ การจราจรแออัดส่งผลเสียต่อระบบขนส่งมวลชน ปัญหาขาดแคลนนักวิชาชีพและแรงงานทักษะสูง ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความอ่อนแอลงของชุมชน ค่านิยมวัฒนธรรมดีงามของท้องถิ่นถูกแทนที่โดยวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยภาพรวมแล้วเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและสังคมโดยภาพรวม มี Positive Impacts and Externality สูง แต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับและแก้ปัญหา Negative Externality ไว้ด้วย

บทเรียนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน มีทั้งที่บรรลุเป้าหมายและที่เกิดผลกระทบข้างเคียงในทางลบ ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของเศรษฐกิจพิเศษ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม การดำเนินการในจังหวะเวลา ที่เหมาะสม ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการกำหนดมาตรการต่างๆและสิทธิประโยชน์ มีระดับการทุจริตคอร์รัปชันและการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจต่ำ

กับดักสำคัญของธุรกิจอุตสาหกรรมไทย คือ เรายังคงอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ยังคงรับจ้างผลิตหรือเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก การที่เราจะก้าวข้ามนั้น ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีแนวทางในการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งมาตรการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภาพแรงงานให้สามารถดูดซับเทคโนโลยีด้วย