5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Single Stock Futures

5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Single Stock Futures

ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Single Stock Futures หรือ SSF นับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากพอสมควร

แม้ในแง่มูลค่านั้นจะไม่สูงมากนักแต่หากพิจารณาปริมาณการซื้อขายใน TFEX นั้น SSF มีสัดส่วนมากถึงราว 40-45% เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ SSF จึงอยากขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ SSF ให้ท่านที่สนใจได้มีโอกาสศึกษาและทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจซื้อขาย

ข้อแรกที่จำเป็นต้องพูดกันก่อนจะนำไปยังประเด็นอื่นๆ ก็คือ SSF คืออะไร SSF เป็นสัญญาซื้อขายหุ้นรายตัวล่วงหน้า แต่เมื่อถึงเวลาที่สัญญาหมดอายุไม่ต้องนำหุ้นมาส่งมอบแต่ใช้วิธีชำระราคาด้วยเงินสด (Cash Settlement) การถือครองสัญญา SSF 1 สัญญาจะเสมือนกับการลงทุนในหุ้น 1,000 หุ้น ราคาของ SSF จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับหุ้นที่อ้างอิง ส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับผลกำไรขาดทุนเช่นเดียวกันกับการลงทุนในหุ้นนั้นๆ แต่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเพราะจ่ายแค่เงินประกันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10-20% ของมูลค่าสัญญา จึงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายหุ้นอ้างอิง ด้วยการซื้อขายฟิวเจอร์สเป็นการทำสัญญาเท่านั้น  ดังนั้น อัตราผลตอบแทนทั้งด้านกำไรและขาดทุนจึงสูงกว่าการลงทุนตรงในหุ้น

ข้อที่สอง ข้อดีของการซื้อขาย SSF คืออะไร อย่างที่กล่าวไปแล้ว SSF สามารถใช้เป็นทางเลือกในการลงทุนแทนการลงทุนตรงในหุ้นได้ โดยใช้เงินทุนน้อยกว่า และยังมีความยืดหยุ่นมากกว่าด้วยสามารถทำได้ทั้งด้านซื้อด้านขาย หรือที่เรียกว่า long หรือ short ในขณะที่หุ้นนั้นต้องซื้อหุ้นมาก่อนจึงขายได้ หรือถ้าจะขายชอร์ทก็ต้องไปหายืมหุ้นมาก่อน ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ลงทุนจึงสามารถขาย SSF ประกอบกับพอร์ตลงทุนในหุ้นเพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ส่งผลให้พอร์ตลงทุนไม่ขาดทุนยามที่หุ้นราคาปรับตัวลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ด้วย SSF เป็นอนุพันธ์และไม่ได้ใช้เงินเต็มจำนวน จึงขอย้ำว่าผู้ซื้อขายต้องเข้าใจลักษณะสินค้า กลไกการซื้อขายและการวางหลักประกันอย่างแท้จริง มิเช่นนั้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการวางหลักประกันหรือมีสถานะซื้อขายเกินตัวจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงมากในช่วงที่ตลาดผันผวนตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้

ข้อสาม กลไกของ SSF ต่างกับหุ้นอย่างไร นับเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากข้อสอง ซึ่งประเด็นหลักที่แตกต่างคือการวางหลักประกัน (Margin) และการคำนวณกำไรขาดทุนประจำวัน (mark to market)  กล่าวคือ การลงทุนตรงในหุ้น ณ ทุกสิ้นวัน มูลค่าพอร์ตผู้ลงทุนจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามราคาของหุ้นที่เปลี่ยนแปลง และอาจแสดงผลกำไรขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ (Unrealized Gain/Loss) เพื่อสะท้อนภาพการลงทุน แต่ unrealized gain/loss นี้เรามักคิดว่าไม่ขายแปลว่าไม่ขาดทุน

ในทางตรงข้าม ทุกๆ สิ้นวัน SSF จะมีกลไก Mark-to-Market เพื่อคำนวณผลกำไรขาดทุน โดยเทียบราคา Settlement Price ของวันนั้นเทียบกับของวันก่อนหน้าเพื่อคำนวณกำไรหรือขาดทุนในวันนั้น และจะมีการโอนเงินกำไรเข้าหรือหักเงินขาดทุนจากบัญชีเงินประกันของผู้ซื้อขายทุกวัน โดยหากมูลค่า Margin ลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ซึ่งเรียกว่า MM หรือเงินหลักประกันรักษาสภาพ โบรกเกอร์จะเรียกให้ผู้ลงทุนนำเงินหลักประกันมาวางเพิ่ม (Call Margin) เพื่อให้กลับมาอยู่ที่ระดับเงินประกันเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้น ในการซื้อขาย SSF ผู้ซื้อขายจึงต้องรู้จักประเมินสถานะของตนเองไม่สร้างสถานะฟิวเจอร์สมากเกินไปจนมีเงินประกันมาวางไม่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นแล้วแม้จะคาดการณ์ทิศทางตลาดถูกต้องแต่ก็อาจถูกบังคับปิดสถานะได้เช่นกัน

อีกหนึ่งข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ผู้ถือสัญญา SSF จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับผู้ถือหุ้น เช่น สิทธิในการได้เงินปันผล หรือสิทธิในการออกเสียง อย่างไรก็ตาม กรณีที่หุ้นมีการให้สิทธิซื้อหุ้นใหม่กับผู้ถือหุ้นเดิม จ่ายเงินปันผลพิเศษ ปรับมูลค่าพาร์ จ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ หรือมีการควบรวมกิจการ  TFEX จะมีการปรับลักษณะของสัญญา SSF ให้สอดคล้องกับมูลค่าของหุ้นที่เปลี่ยนไป เช่น ปรับขนาดของสัญญาพร้อมกับปรับราคาซื้อขาย ส่งผลให้ผู้ถือสัญญา SSF ไม่ได้รับผลกระทบจาก Corporate Action ดังกล่าว

ข้อที่สี่  การซื้อขาย SSF ทำได้อย่างไร  การซื้อขาย SSF นั้นทำได้ในบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ที่โบรกเกอร์ โดยการซื้อขายสามารถทำได้ในกระดานหลักแบบที่เรียกว่า AOM หรือ Automatic Matching  แต่หากต้องการซื้อขาย SSF ในจำนวนมากโดยอย่างน้อยเท่ากับที่ TFEX กำหนด ก็สามารถที่จะขอให้โบรกเกอร์ให้บริการแบบที่เรียกว่าบล็อคเทรดได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา TFEX ได้มีการปรับขนาดของ Block Trade เพื่อให้มั่นใจว่ารายการที่มีซื้อขายนั้นมีขนาดใหญ่พอสมควรตามวัตถุประสงค์ของรายการ ซึ่งจำนวนและสถานะคงค้างของ SSF เหล่านี้ สามารถติดตามได้ใน เว็บไซต์ TFEX

 ข้อสุดท้าย หุ้นอ้างอิงของ SSF เลือกมาอย่างไร  ตามหลักการในปัจจุบันหุ้นอ้างอิง จะต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับหุ้นในดัชนี SET100 และมี Market Capitalization สูงกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลในอดีตจะพบว่าตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่แข็งแกร่งขึ้น บริษัทจดทะเบียนก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้จำนวนหุ้นที่มี Market Capitalization สูงกว่า 10,000 บาทเพิ่มจาก 47 หุ้นในปี 2008 เป็น 174 หุ้นในปี 2019 ซึ่งในปัจจุบัน TFEX ได้คัดเลือกหุ้นขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงมาเป็นหุ้นอ้างอิงของ SSF ทั้งสิ้น 93 หุ้น และกำลังจะจัดให้มีการซื้อขายเพิ่มขึ้นอีก 19 หุ้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 รวมเป็นทั้งสิ้น 112 หุ้นด้วยกัน สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จาก www.tfex.co.th