ภาษีท่องเที่ยว: ประเทศไทยเริ่มคิดได้หรือยัง

ภาษีท่องเที่ยว: ประเทศไทยเริ่มคิดได้หรือยัง

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าของโลกด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ทั้งที่เป็นเงินตราระหว่างประเทศ

และรายได้จากการท่องเที่ยวกันเองภายในประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า ปีละ 3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ผู้บริหารระดับประเทศยังมีความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเหมือนอย่างที่เป็นมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กล่าวคือ คิดว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ต้องงอนง้อนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยว แต่เมื่อเวลาผ่านไป การท่องเที่ยวของไทยกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แม้เราจะยังคงมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ไม่ใช่ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันมากๆ แต่เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยต้องการ เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการจับจ่ายใช้สอยในการท่องเที่ยวสูง

เมื่อท่องเที่ยวกลายมาเป็นเศรษฐกิจนำของประเทศ รัฐบาลก็ควรหารายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น การหารายได้จากการท่องเที่ยว 4.0 จะทำให้ไทยสามารถนำเงินนี้มาพัฒนาประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ ก็เริ่มมีความคิดที่จะนำภาษีท่องเที่ยวเข้ามาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศมากขึ้นเช่นกัน

ในปี 2559 กรมการท่องเที่ยวระบุว่า ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2558 ก่อให้เกิดภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมประมาณ 10% ของภาษีทั้งหมดของประเทศ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มถึง 40,000 ล้านบาท แต่จำนวนนี้ไม่ได้แยกว่าเป็นภาษีที่เกิดจากนักท่องเที่ยวไทยเท่าไหร่ และเกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่าไหร่

แนวคิดการเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นนี้ คงจะมีผู้แย้งว่าจะเก็บภาษีท่องเที่ยวเพิ่มไปอีกทำไม ในเมื่อนักท่องเที่ยวเมื่อเขามาใช้จ่ายที่กรุงเทพฯ หรือที่จังหวัดต่างๆ ก็มีการจ่ายภาษีอยู่แล้ว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อซื้อของ ภาษีสรรพสามิตเมื่อดื่มเหล้าหรือใช้น้ำมันในการท่องเที่ยว ภาษีที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายในปัจจุบันก็เหมือนกับภาษีที่นักท่องเที่ยวไทยหรือคนไทยต้องจ่ายนั่นแหล่ะ ด้วยเหตุนี้ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงมอบหมายให้ผู้เขียนทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวซึ่งประเทศท่องเที่ยวชั้นนำในแถบยุโรปและเอเชียบางประเทศนำมาบังคับใช้เก็บจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ วันนี้ ผู้เขียนจึงขอมาแบ่งปันข้อมูลให้ทุกท่านรับทราบ

สาเหตุที่นักวิชาการสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากเดิม เนื่องจาก นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น ย่อมต้องการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เช่น การขนส่งสาธารณะ การรักษาความปลอดภัย การให้ข้อมูลต่างๆ ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้คนไทยจะต้องเสียภาษีรายได้เพื่อให้รัฐจัดหาขึ้น แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เสียอะไรมีเพียงเสียภาษีในส่วนที่มากินมาใช้เท่านั้น หมายความว่านักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถได้ประโยชน์จากบริการต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องมีการเยียวยา การเยียวยาก็ต้องอาศัยงบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุนเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กว่า 41 ประเทศทั่วโลกที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เบลเยี่ยม และฮังการี เป็นต้น ต่างก็มีการเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยว และบางประเทศในเอเซียก็ได้ริเริ่มเก็บภาษีการท่องเที่ยวแล้ว 

ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียได้เรียกเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าพักโรงแรมในอัตรา 10 ริงกิต ต่อห้องต่อคืน (ประมาณ 75 บาท) หรืออย่างที่ญี่ปุ่นก็เรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวขาออกระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีซาโยนาระ” คนละ 1,000 เยนต่อคน (ประมาณ 300 บาท) เช่นเดียวกับที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียก็ได้มีการเก็บภาษีในอัตรา 10 ดอลลาร์ต่อคน (ประมาณ 320 บาท) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น 

สำหรับประเทศไทย จากการทบทวน พบว่า มีรายการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายรายการทั้งที่เรียกเก็บโดยตรงและโดยอ้อมจากนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการให้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนโยบายระดับชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาระการดูแลแหล่งท่องเที่ยวจะตกไปอยู่ในมือของท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่งที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต้องแบกรับภาระต้นทุนการดูแลนักท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สนับสนุน การท่องเที่ยวในท้องถิ่น

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการอนุญาตให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้เข้าพักโรงแรมได้ในอัตราไม่เกิน 3% ของอัตราค่าห้องพัก ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 สามารถเก็บได้เพียง 426.59 ล้านบาทเท่านั้น นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าพักทั้งหมด คำนวณแบบคร่าวๆ แล้วไทยควรมีรายรับจากค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า อบจ. ยังจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักโรงแรมได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรืออาจเนื่องค่าธรรมเนียมที่กำหนดอยู่ในอัตราที่ต่ำเกินไป นอกจากค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักแล้ว กฎกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ. 2559 ยังเปิดโอกาสให้ อปท. สามารถออกข้อบัญญัติในการเพิ่มค่าธรรมเนียม การจัดการขยะมูลฝอยจากสถานที่พักนักท่องเที่ยวได้ในอัตรา 2 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งหาก อปท. ในประเทศไทยมีการเก็บค่าบริการดังกล่าวในทุกจังหวัด คาดว่าในแต่ละปีน่าจะมีรายรับไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท/ปี ซึ่งเม็ดเงินนี้จะช่วยให้ อปท. มีงบประมาณที่จะนำมาจัดการเรื่องขยะ ซึ่งนับวันจะเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องเริ่มคิดเรื่องภาษีท่องเที่ยวกันอย่างจริงจังเสียที

โดย... 

อัครพงศ์ อั้นทอง

คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้