ทำไมเข้าถึงนักเรียนยากจนเป็นเรื่องยาก!

ทำไมเข้าถึงนักเรียนยากจนเป็นเรื่องยาก!

แบบสอบถามคัดกรองที่จะค้นหาและเข้าถึงปัญหาบางทีก็กลายเป็นอุปสรรคเป็นปัญหาโดยตัวของมันเองได้เหมือนกัน

ในข่าวดีที่ว่ามีนักเรียน 5.1 แสนคนทั่วประเทศใน 10 จังหวัดนำร่อง ระดับชั้นอนุบาล 2-3 จนถึง ม.3 ได้รับความช่วยเหลือในในโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (conditional cash transfer -CCT)ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) โดยเด็กจะได้รับเงิน 1,600 บาทต่อคนช่วยค่าเดินทางและค่าครองชีพ ก็มีข่าวไม่ค่อยดีห้อยท้ายมาว่ายังมีเด็กขาดโอกาสและยังไม่ได้รับการคัดกรองอีกจำนวนมาก พบโรงเรียน 2,310 โรงเรียนทั่วประเทศในปีการศึกษาที่ผ่านมา(2561) ไม่ได้เข้าไปดำเนินการกรอกข้อมูลในระบบคัดแยกเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ส่งผลให้ผู้เรียนกว่า 3 หมื่นคนเสียโอกาสไป

การขอความร่วมมือให้โรงเรียน 2 พันกว่าโรงเรียนนี้ด้วยวาจาหรือด้วยเอกสารให้ดำเนินการกรอกข้อมูลอาจไม่เพียงพอและที่จะเสียหายอย่างมากคือไม่ทันการ

แบบคัดกรองนักเรียนยากจน ที่ออกแบบไว้อย่างดีนั้น กว่าจะกรอกได้ ครูประจำชั้นและครูที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่หลายหน ต้องถ่ายภาพ ต้องมีลายเซ็นผู้เกี่ยวข้องในหลายแบบฟอร์ม เป็นงานที่ใช้เวลาและความละเอียดถี่ถ้วนอย่างมาก ยังต้องใช้จ่ายค่าเดินทางอีก ภาระนี้จะให้ครูรับผิดชอบฝ่ายเดียวหรือ

ในจังหวัดของผู้เขียนที่รายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่ำมากเป็นอันดับท้ายๆของประเทศ การเข้าถึงนักเรียนยากจนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักแม้ในเขตอำเภอเมือง ไม่ใช่ชายขอบจังหวัดหรือชายแดนแต่อย่างใด

มีนักเรียนหญิงชั้นม.2 คนหนึ่งในโรงเรียนประจำจังหวัดที่ไม่เคยขาดเรียน ผลการเรียนระดับปานกลางและชอบคณิตศาสตร์ อยู่ดี ๆ ในปีการศึกษา 2561 ก็เริ่มมีขาดเรียนบ้าง วันหนึ่งเมื่อเธอขาดชั่วโมงเรียนคณิตศาสตร์ ครูจึงตามไปที่บ้าน ก็พบสภาพที่อยู่อาศัยอันตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่เธอมี กล่าวคือ ที่โรงเรียนทุกคนเห็นเธอในเครื่องแบบที่สะอาดสะอ้าน ผมตัดสั้นเรียบร้อย เธอมีมือถือ ขี่มอเตอร์ไซต์มาโรงเรียน แต่บ้านเธอที่ครูไปเห็นเป็นเพิงสภาพคร่ำคร่า ปะผุทั้งเพิง เธออยู่กับตาผู้ขับรถรับจ้าง พอมีเงินสดชนเดือนต่อเดือนสำหรับสองชีวิต พ่อแม่ของเธอแยกทางกันตั้งแต่เธอยังเล็ก ๆ ถึงจะยังอยู่ในอำเภอเมืองเดียวกันทั้งแต่ก็ไม่เคยไปมาหาสู่กันรหว่างพ่อแม่ลูก มีแต่ตาผู้เดียวที่ดูแลเธอและเธอก็ไม่เคยนึกจะไปหาพ่อหรือแม่

เมื่อตาขับรถเกิดอุบัติเหตุ นอกจากเจ็บตัวทำงานไม่ได้ เงินเก็บเล็กน้อยที่พอมีต้องจ่ายให้คู่กรณีจนหมด เงินสดแทบไม่มีติดตัวทั้งตาหลาน

ครูคณิตศาสตร์ผู้นี้สรุปปัญหาว่า นักเรียนโดยเฉพาะวัยมัธยมมีพฤติกรรมที่ต้องการทำตัวเป็นปกติเหมือนและมีสิ่งที่ทุกคนมีที่โรงเรียน เช่น มือถือ มอเตอร์ไซต์สำหรับเดินทาง จึงทำให้ยากที่จะรู้สภาพความเป็นจริง นี่ถ้าไม่เกิดเหตุขาดเรียนและครูตามไปถึงบ้านซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองจึงไปไม่ยากโดยไม่ได้บอกเด็กล่วงหน้า ก็จะไม่มีทางได้รู้ความจริง 

การรอให้เด็กยากจนแสดงตัวเองจึงไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน แต่ว่าจะให้ครูตามไปถึงบ้านนักเรียนทุกคนหรือ นั่นก็ไม่ใช่คำตอบ ทางสายกลางอยู่ตรงไหน คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนคงต้องหาคำตอบให้ได้

การเดินทางออกไปติดตามหาข้อมูลและการนำมากรอกแบบสอบถามเป็นงานที่ต้องมีผู้รับผิดชอบและควรมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล

การตอบในแบบคัดกรองว่ามียานพาหนะเดินทางอาจไม่ได้หมายถึงไม่ยากจน ในต่างจังหวัดการไม่มีพาหนะเดินทางอาจหมายถึงค่าเดินทางประจำวันที่สูงมากและจบลงด้วยการไม่ได้ออกไหน ยิ่งจะตกอยู่ในสภาพ จนยากหนักเข้าไปอีก

การมีเพียงชื่อผู้ปกครองไม่เพียงพอแล้วในทะเบียนนักเรียนยุคสมัยที่พ่อแม่แยกทางกันและเด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย ควรระบุให้ละเอียดยิ่งขึ้นตั้งแต่แรกเข้า เช่นติดต่อพ่อแม่อยู่หรือไม่

ปัญหานักเรียนหญิง ม.2 คนนี้แก้สำเร็จไปแล้วด้วยทุนฉุกเฉินจากบรรดาแวดวงคนที่ครูรู้จัก อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพะเยาไม่อยู่ใน 10 จังหวัดนำร่องในโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข ในปีการศึกษา 2562 คือ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี นนทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ภูเก็ตและยะลา ถึงอย่างไรเธอก็ไม่มีสิทธิ์จะได้ประโยชน์จากโครงการฯในปีการศึกษาใหม่นี้อยู่ดี น่ารู้เหมือนกันว่าใช้หลักเกณฑ์ใดตัดสินจังหวัดนำร่อง

ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด เป็นโรงเรียนระดับชั้นใด ฯลฯ สองพันกว่าโรงเรียนที่ยังไม่ได้ดำเนินการกรอกข้อมูลในระบบคัดแยกนักเรียนยากจนพิเศษต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ

ความล่าช้าต่อไม่ติดเพียงนิดเดียว ขาดช่วงไปนิดเดียว อาจทำให้เด็กต้องออกกลางคันอันเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย

เด็กของเราชั้น ป.1 เข้าครบ 100% ประมาณ 5-6 แสนคน แต่เด็กจะลดไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่คือออกกลางคันเด็กหายไปตอน ม. 1 ประมาณ 10% หายไปตอน ม.4 อีก 20% คือหายไป 30% จากระบบ คือถ้าเด็ก 10 ล้านก็หายไป 3 ล้านคน แม้ตัวเลขออกกลางคันมีแนวโน้มจะลดลง แต่เนื่องจากมีการสะสมขึ้นทุกปี ต้องนำตัวเลขมารวมกันจึงจะเห็นปัญหาใหญ่ชัดเจนขึ้น

เด็กไทย 100 คน ได้เรียนอุดมศึกษา 18 คน กระนั้น ที่ต้องทำขณะนี้ไม่ได้อยู่ตรงเพิ่มที่นั่งในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นบริการของรัฐที่คนมีฐานะได้ประโยชน์มากที่สุดและมักขยายตัวแต่สาขามนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ แต่อยู่ที่การยกระดับคุณภาพและการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำช่วงชั้นปฐมวัยจนถึง ม.3 และ ม.6 ผลักดันอาชีวศึกษาให้ก้าวหน้า.