หนี้ครัวเรือนไทย...!! ระเบิดเวลาลูกใหญ่ศก.ไทย

หนี้ครัวเรือนไทย...!! ระเบิดเวลาลูกใหญ่ศก.ไทย

จากรายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่ที่ 12.55 ล้านล้านบาท หรือ 77.8% ต่อ GDP

ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.827 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 4/2561 โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 2.2% ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยับขึ้นเป็น 78.6% ในปี 2561 จาก 78.3% ในปี 2560 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตขึ้น 6.0% สูงกว่าการเติบโตของ GDP ซึ่งอยู่ที่ 5.6% 

โดยมูลหนี้ส่วนใหญ่ มาจากการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 และ 5 เท่าจากปีก่อนตามลำดับ ในขณะที่มูลหนี้จากสินเชื่อรถยนต์ โตขึ้น 4 เท่าจากปีก่อน หนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสินเชื่ออุปโภคและบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในสัดส่วนที่สูงมาก ข้อมูลจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่าคนไทย เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้จนแก่ ผู้กู้ที่มีอายุน้อยมีสัดส่วนเป็นหนี้เสียสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย

คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน และอยู่ในช่วงสร้างรากฐานครอบครัว ปริมาณหนี้ต่อหัวเร่งขึ้นสำหรับคนในช่วงอายุปลาย 30 ปี อยู่ในระดับสูงตลอดการทำงาน ระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้เข้าสู่วัยเกษียณ โดยค่าเฉลี่ยของหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากประมาณ 70,000 บาท ณ สิ้นปี 2553 เป็น 150,000 บาท ณ สิ้นปี 2559 สัดส่วนของคนที่ติดอยู่ในวงจรหนี้เสีย กว่า 16% หรือประมาณ 3 ล้านคน มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรืออยู่ระหว่างกระบวนการทางกฏหมาย 

1 ในห้าของคนที่เป็นหนี้เสียกระจุกอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในวัยเพียงแค่ 29 ปี การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยสะท้อนภาพการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยของ 3 กลุ่มหลักได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ต้องสนองนโยบายรัฐในการขยายสินเชื่อ และสถาบันการเงินที่เป็น Non-Bank ที่ยังคงมุ่งขยายสินเชื่อรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDPเพิ่มสูงขึ้นตลอด และคาดว่ายังอยู่ในสัดส่วนที่สูงในปี 2562 หากนับรวมหนี้นอกระบบที่คาดว่ามีขนาดใหญ่เช่นกัน ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีสัดส่วนที่สูงเกิน 80% อย่างแน่นอน

จากความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเผชิญหลายด้าน ทั้งจากปริมาณการส่งออกที่ลดลงจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ทำให้รายได้ของแรงงานบางส่วนมีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางการส่องออกสินค้าและบริการ ในขณะที่รายได้ของกลุ่มคนในระดับรากหญ้าไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทิศทางของราคาสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ไม่สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจในปี 2562 ได้ คาดว่าจำนวน NPL จะเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มลูกหนี้รายย่อยทุกประเภท

นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภคเพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวของ GDP อาจได้ผลในระยะสั้น เมื่อระดับหนี้สูงเกินตัวจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง กระทบต่อกำลังซื้อ ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทก์ใหญ่ที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อจากรัฐบาลนี้

การส่งเสริมความรู้ในด้านการวางแผนและมีวินัยทางการเงิน เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสมในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงานที่มีการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น เป็น NPL มากขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับมาตรการด้านเศรษฐกิจในการช่วยบรรเทาภาวะค่าครองชีพและส่งเสริมรายได้

รัฐบาลนี้ได้ใช้นโยบาย Helicopter Money ใช้งบประมาณแจกเงินเป็นจำนวนมาก ปรากฎว่าจำนวนคนจนเพิ่มสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่มีความผันผวนสูงมาก น่าเป็นห่วงครับ...