ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกา “คดีเลือกตั้ง”ที่น่าสนใจ"

ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกา  “คดีเลือกตั้ง”ที่น่าสนใจ"

ช่วงที่ผ่านมามีคดีเกี่ยวกับพรรคการเมืองและคดีการเลือกตั้งขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหลายคดี มีคดีที่น่าสนใจน่าศึกษา พร้อมข้อสังเกต ดังนี้

1 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2812/2522 วินิจฉัยว่า คำร้องว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ชอบเพราะ ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน ซึ่งเป็นพนักงานของหน่วยงานของรัฐ มิได้บรรยายว่าผู้สมัครนั้นรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครฝ่าฝืน พ.ร.บ.การ เลือกตั้ง ส.ส. ปี 2522 ม.26 ไม่ชอบด้วย ม.78 ศาล ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ให้ยกคำร้อง

  ข้อสังเกต คำร้องคัดค้านไม่ครบองค์ประกอบความผิด ผู้ถูกร้องรอดตัวไป ยังคงเป็น ส.ส. ไม่ต้องกลับไปเป็นกำนัน

2 คำพิพากษาฎีกาที่ 5017/2540 พรรค ส. จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2538 แต่ใน คราวทีมีพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ในวันที่ 17 พ.ย.2539 ปรากฏว่าพรรคการเมืองดังกล่าวไม่มีสมาชิกของพรรคได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.เลย และหัวหน้าพรรค ได้ร้องขอให้เลิกพรรค ดังนี้ พรรค ส. จึงต้องเลิกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46(4) แห่ง พ.ร.บ. พรรคการเมือง ปี 2524 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.พรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) ปี 2535 มาตรา 7

  ข้อสังเกต  เพราะสอบตกยกพรรค จึงเข้าองค์ประกอบ ต้องเลิกตามกฎหมายที่พรรคการเมืองที่ใช้บังคับในขณะนั้น กฎหมายพรรคการเมืองที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติให้เลิกพรรค เมื่อมีการเลือกตั้งและสอบตกยกพรรค

3 คำพิพากษาฎีกาที่ 4794/2536 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้

รับเลือกตั้งโดยชอบให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้รับเลือก ตั้งโดยชอบนั้น ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอเช่นนั้นได้ ผู้ร้องคงมีสิทธิเพียงยื่น คำร้องคัดค้านเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เท่านั้นไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ข้อสังเกต การเลือกตั้งไม่ใช่การแข่งขันกีฬาหรือประกวดนางงาม ที่ผู้ชนะเมื่อถูกปรับให้พ้นตำแหน่ง จึงเลื่อนอันดับต่อไปขึ้นแทน ยกเว้นกรณีเป็นสส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่ผู้อยู่ลำดับที่มีสิทธิเลื่อนขึ้นมา ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งต้องพ้นตำแหน่งไป

4 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333 - 339/2556จำเลยทั้งเจ็ดจงใจฉีกบัตรเลือกตั้ง อันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้ง ชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงครบองค์ประกอบ ความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ . การที่จำเลยทั้งเจ็ดจงใจ ฉีกบัตรเลือกตั้งซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด และมีโทษทางอาญา จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันกระทบต่อความสงบ เรียบร้อยของรัฐ มิใช่เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังที่จำเลยทั้งเจ็ดกล่าวอ้าง จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีความผิด จำคุกคนละ6 เดือน ปรับคนละ 1 หมื่นบาท โทษจำรอลงอาญาไว้ 1 ปี ถอนสิทธิ การเลือกตั้ง5 ปี

ข้อสังเกต  แม้ต่อมาศาลรธน. จะมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในครั้งที่มูลคดีเกิดขึ้นนี้ ไม่ชอบด้วย รธน. ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน. ไม่มีผลลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยในวันเลือกตั้งดังกล่าวหรือลบล้างการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เพราะการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จแล้วก่อนที่ศาล รธน.จะมีคำวินิจฉัย

5 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2556 จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับและยึดของกลาง ธนบัตรที่แบ่งแยกเป็นห่อและเป็นซองย่อยพร้อมที่จะนำไปแจกจ่าย ให้แก่หัวคะแนนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อ ถือว่าจำเลยจัดเตรียมเพื่อจะให้ธนบัตร ของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้ง ให้แก่ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น หรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใดหรือให้งดเว้น การลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด แม้จำเลยจะยังไม่ได้แจกจ่าย หรือให้ธนบัตรนั้นแก่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย จำเลยก็กระทำความผิดสำเร็จ ลงโทษจำคุก3 ปี ปรับ 5 หมื่นบาท ถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ริบเงินของกลาง 933,000 บาท

ข้อสังเกต แม้จำเลยยังไม่ได้จ่ายแจกเงินดังกล่าว ศาลฎีกาถือว่า จำเลยกระทำความผิดสำเร็จแล้ว อันเป็นบรรทัดฐานในคดีเลือกตั้งสำหรับนักการเมืองที่เตรียมแจกเงินด้วย และที่ศาลไม่ลงโทษสถานเบาตามที่จำเลยร้องขอ เพราะถือว่าเป็นการบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม

6 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2528

คดีนี้จำเลยเป็น สส. ถูกฟ้องให้ชำระเงินกู้ จำเลยให้การว่าได้รับเงินจากนาย. ว 3 แสนบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดตั้งพรรคการเมืองแต่ไม่สำเร็จ และถูกชวนให้ไปเข้าพรรคการเมือง อีก พรรคหนึ่ง แต่ไม่ไปจึงถูกฟ้องคดีนี้. จำเลยให้การว่าได้เซ็นต์เอกสารรับเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าว ในเอกสารที่ระบุจำนวนเงินเท่านั้นไม่มีข้อความอื่นใด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีการเติมข้อความในเอกสารว่าเป็นการกู้เงินในภายหลัง จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ ให้ยกฟ้อง

ข้อสังเกต นายทุนพรรคให้เงินไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง แต่เมื่อขัดแย้งกัน เงินที่ให้ มีการแปรอักษรเป็นเงินกู้ นักเลือกตั้งจึงควรระวังในการเซ็นต์เอกสารรับเงินสนับสนุนจากนายทุนพรรค ส่วนนายทุนพรรคน่าจะโดนคดีปลอมแปลงเอกสาร

7 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2537 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2535 แต่เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2535 จำเลยได้มอบเงินให้แก่วัดบ้าน บัวบกสะดำ เพื่อจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนหรืองดเว้นมิให้ลง คะแนนให้แก่ผู้สมัครอื่นทำให้โจทก์เสียหายดังนั้นขณะเกิดเหตุโจทก์ไม่มีฐานะเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งส.ส. ปี 2522 มาตรา 93 จัตวา ที่บัญญัติว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่ง มีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 28 (2)

 ข้อสังเกต  ช่วงเกิดเหตุโจทก์ยังไม่ได้สมัครรับเลือกตั้ง จึงยังไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่สามารถกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนหรือผู้มีอำนาจสอบสวนให้ดำเนินคดีได้