Human Touch และ ระบบการผลิตของโตโยต้า

Human Touch และ ระบบการผลิตของโตโยต้า

... ชายหนุ่มเข้าไปนั่งในรถ ดึงเข็มขัดนิรภัย ที่เป็น 2 มือและแขน โอบตนเองเข้ากับที่นั่ง ขับไปพักหนึ่งฝนตก มีคนโผล่จากกระโปรงรถขึ้นมา

จับที่ปัดน้ำฝนแกว่งไปมา ขณะถอยหลังรถเข้าจอด เกิดเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้น จากคนที่อยู่ในรถเป่านกหวีดเป็นจังหวะ และเมื่อเปิดฝากระโปรงท้าย ไฟส่องสว่างขึ้นจากไฟฉาย ที่อยู่ในมือผู้แอบอยู่ในท้ายรถ ... จากนั้น ภาพสุดท้ายที่ปรากฏคือ โลโก้สามห่วงโตโยต้า พร้อมกับข้อความ “Human Touch”

เรื่องราวข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของโฆษณารถยนต์โตโยต้าเมื่อหลายปีก่อน ที่ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์[1] ด้วยแนวคิดหลักคือ ระบบการผลิตด้วยสัมผัสจากมนุษย์ ซึ่งสามารถสะท้อนได้ถึงตัวตนวัฒนธรรมองค์กร ที่สาวความย้อนกลับไปได้ ตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งบริษัทเลยทีเดียว

ในระบบการผลิตของโตโยต้า ที่ได้รับการอ้างอิงเป็นหลักการของระบบ Lean นั้น ได้กล่าวถึง การจัดการที่สำคัญ 2 เรื่อง ว่าเป็น 2 เสาหลักของระบบ คือ การจัดการด้าน ปริมาณ และการจัดการด้าน คุณภาพ” 

ในด้านคุณภาพ เป้าหมายของระบบคือ การไม่ผลิตและไม่ส่งมอบของเสียให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าภายนอกหรือลูกค้าภายใน ด้วยหลักการง่ายๆว่า ทุกคนในองค์กรต้องดูแลคุณภาพในกระบวนการของตนเองอยู่เสมอ

เมื่อใดที่พบของเสีย แทนที่จะทำเพียงแต่คัดแยกของเสียออกไป กระบวนการต้องหยุด เพื่อของเสียจะไม่ถูกส่งต่อ จากนั้นหาสาเหตุต้นตอของปัญหาและแก้ไขให้เรียบร้อย กระบวนการจึงเดินหน้าต่อไป

การหยุดกระบวนการใดการหนึ่งในโรงงานนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนั่นอาจหมายถึงการหยุดทั้งสายการผลิตเลยทีเดียว แต่ด้วยวิถีปฏิบัติเช่นนี้ หมายถึงองค์กรได้ให้อำนาจการตัดสินใจหยุดสายการผลิต อยู่ในมือพนักงานระดับล่างที่สุด เพื่อรักษาคุณภาพไว้

ในทางปฏิบัติของโรงงานประกอบโตโยต้า เมื่อพนักงานเจอปัญหาที่ตนเองแก้ไขไม่ได้ จะส่งสัญญาณร้องขอความช่วยเหลือไปยังหัวหน้า โดยกดสัญญาณเพื่อให้ไฟบนหมายเลขกระบวนการตนเอง ติดบนแผงไฟขนาดใหญ่ เห็นได้จากทั่วทั้งโรงงาน ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกแผงไฟนี้ว่า Andon เมื่อหัวหน้างานเห็นสัญญาณแล้ว เป็นหน้าที่จะต้องรีบมายังกระบวนการที่มีปัญหา หากหัวหน้างานไม่สามารถแก้ไขได้ทันตามรอบเวลาที่กำหนด สายพานการผลิตก็จะหยุดโดยอัตโนมัติ

หลักการด้งกล่าวนี้ เป็นการปฏิบัติรูปแบบหนึ่งตามแนวคิด Visual Management เมื่อเกิดปัญหาขึ้น องค์กรต้องสร้างระบบการสื่อสาร เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาอย่างง่ายๆได้ทันที การหยุดกระบวนการเมื่อมีปัญหา คือสิ่งที่เป็นปรัชญาองค์กร ตั้งแต่ก่อนการเกิดบริษัทฯ ครับ 

ตระกูลโตโยดะ (Toyoda) ผู้ก่อตั้งโตโยต้านั้น ก่อนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาก่อน เหตุการณ์สำคัญหนึ่งในปี 1924 คือ การประดิษฐ์เครื่องทอผ้าที่ “Smart” ในยุคที่เจ้าแห่งอุตสาหกรรม คือประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่นในสมัยนั้นอุตสาหกรรมยังตามหลังตะวันตกอยู่มาก  ความชาญฉลาดที่ว่าคือ กลไกของเครื่องทอผ้าที่คอยตรวจสอบ ว่าหากมีปัญหาเส้นด้ายขาด ให้เครื่องจักรหยุดตนเองโดยอัตโนมัติทันที ผ้าที่เกิดขึ้นจะได้ไม่มีตำหนิ และพนักงานจะได้เข้ามาแก้ไขปัญหา ผลบวกที่ตามมานอกจากด้านคุณภาพแล้ว ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ก็สูงขึ้นมาก เพราะพนักงานหนึ่งคน สามารถดูแลเครื่องจักรได้หลายเครื่อง ในเวลาพร้อมๆกัน  ผู้คิดเครื่องจักรดังกล่าวเป็นคุณทวด ของประธานบริษัทโตโยต้าฯคนปัจจุบัน ก่อนที่บริษัทรถยนต์จะถูกก่อตั้งในรุ่นถัดมาโดยคุณปู่ ในปี 1937

แนวคิดนี้ได้ถูกยกระดับในเวลาต่อมาว่า เครื่องจักรอัตโนมัติไม่ควรจะเป็นเพียงสิ่งไม่มีชีวิต ที่ผลิตชิ้นงานซ้ำๆกันไปเรื่อยๆ แต่ต้องผสมผสานใส่ความเป็นมนุษย์ ที่ใส่ใจในการรักษาคุณภาพ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าด้วย

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปเมือง Nagoya ประเทศญี่ปุ่น ขอให้เผื่อเวลาไปชมพิพิธภัณฑ์ Toyota commemorative Museum of Industry and Technology จะได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของบริษัทฯ ที่โยงใยเป็นรากของระบบ Lean รวมถึงเครื่องทอผ้าชาญฉลาดนี้ด้วย  การบอกเล่าความเป็นมา (Story Telling) ตั้งแต่การก่อตั้งองค์กร เป็นวิธีการหนึ่งที่องค์กรในปัจจุบัน ใช้เป็นวิธีการเพื่อ ปลูกฝังค่านิยม วัฒนธรรมองค์กร ด้วยเรื่องราวของตัวละครที่มีชีวิตและมีความสำคัญกับองค์กรครับ

โตโยต้าเรียกหลักการรับประกันคุณภาพของตนเอง โดยการสร้างสรรค์คำใหม่ขึ้นมาเรียกว่า Jidouka ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับคำเดิมที่มีอยู่แล้ว ที่มีความหมายว่า Automation หรือ ระบบอัตโนมัติ   คำใหม่นี้ มีการเพิ่มตัวอักษรจีนที่แปลว่า คน” เข้าไป และเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็ดัดแปลงไปเป็น “Autonomation” เพื่อสะท้อนถึง Autonomous + Automation คือ ระบบของทั้งคนและเครื่องจักร ที่สามารถรับผิดชอบคุณภาพด้วยตนเอง โดยอัตโนมัติ 

อย่างไรก็ตามในระยะหลัง เพื่อเป็นการเน้นความสำคัญในเรื่องของคน รวมทั้งเพื่อให้สื่อสารในวงกว้างได้ง่ายขึ้น การให้ความหมายในภาษาอังกฤษ ได้ปรับไปเป็น “Automation with a human touch” เพื่อสื่อสารว่ารถยนต์ทุกคันที่ส่งมอบนั้น รักษาคุณภาพด้วยความใส่ใจจากพนักงานทุกคน

ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นี้ แม้ว่าการพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เป็นหลัก แต่องค์กรต้องสร้างความสมดุล ระหว่างการพัฒนาคุณภาพของเทคโนโลยี ระบบงาน และ บุคลากรผู้ใช้ระบบ

สิ่งที่ AI หรือ Robot ไม่สามารถทัดเทียมกับมนุษย์ได้คือ ความรัก ความภูมิใจในสิ่งที่ทำ รวมถึงความรู้สึกมีส่วนร่วมหรือความเป็นเจ้าของ ที่จะเป็นแรงจูงใจให้ คนและงานพัฒนาเจริญเติบโต เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืนครับ

โดย... 

กฤชชัย อนรรฆมณี

Lean and Productivity Consultant / Trainer

[email protected]