เพิ่มพลังเครือข่าย”ประชาชน” ต้านโกง

เพิ่มพลังเครือข่าย”ประชาชน” ต้านโกง

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้ไปร่วมเป็นวิทยากรให้กับหลักสูตรอบรม “ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส” ทั้งที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด คือที่ อุดรธานี

 เป็นงานของศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย ดร.จุรี วิจิตรวาทการและคณะ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคคลากรท้องถิ่นให้ตระหนักต่อการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและสร้างความสุจริตโปร่งใสให้เกิดขึ้น เพื่อให้บุคลลากรท้องถิ่นสามารถร่วมเป็นกลไกแก้ไขปัญหา นับเป็นภารกิจที่สำคัญและเป็นแนวคิดที่ตรงประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน ประมาณ 10 ล้านคนหรือ 15 เปอร์เซนต์อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นอีก 85 เปอร์เซนต์อยู่ต่างจังหวัด ทำให้ประชากรของประเทศส่วนใหญ่อยู่ในท้องถิ่นทั้งในเขตเมืองและชนบท ถือเป็นพลังของคนในสังคมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ของประเทศได้ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น

ต้องยอมรับว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เป็นปัญหาที่ทำลายอนาคตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในสังคม เนื่องจากทรัพยากรเศรษฐกิจที่ประเทศมี เช่น ภาษีที่ควรนำไปลงทุนสร้างสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งสำหรับรุ่นปัจจุบันและอนาคต กลับถูกโกงไปเป็นสมบัติส่วนตัวของคนโกง ทำให้ประชาชนเสียโอกาสและไม่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ประเทศมี ขณะเดียวกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็มีมากขึ้น เพราะคนที่โกงส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะ มีตำแหน่งในสังคม ที่สามารถเข้าถึงการทำนโยบายและการบริหารทรัพยากรแผ่นดิน ทำให้มีโอกาสที่จะโกงประเทศได้ง่าย ขณะที่การตรวจสอบจับกุมและลงโทษคนทำผิดก็อ่อนแอ เพราะคนโกงมักมีอำนาจและมีอิทธิพลต่อระบบบริหารและระบบยุติธรรม ผลก็คือ การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอจนไม่สามารถเอาผิดคนโกงได้ การทุจริตคอร์รัปชั่นจึงไม่ยอมหยุด ไม่ยอมลดลง แต่กลับมีมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศไม่ชอบอยากให้แก้ไข แต่การแก้ไขก็ไม่เกิดขึ้น

ถ้าใครติดตามตัวเลขดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นที่ประเมินโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ช่วง 17 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศเราแย่ลงตลอด จากอันดับที่ 61 ของโลกในปี 2001 เป็นอันดับที่ 80 ในปี 2008 อันดับที่ 88 ในปี 2012 และล่าสุด ปี 2018 อันดับที่ 99 ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศเรารุนแรงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องของการให้สินบนหรือทุจริตเป็นครั้งคราว แต่เป็นปัญหาเชิงระบบที่ฝังอยู่ในพฤติกรรมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำ นักธุรกิจและประชาชน ที่ไม่เอาจริงกับการแก้ไขปัญหา และพร้อมมีส่วนร่วมหรือยอมให้ปัญหาเกิดขึ้น เป็นปัญหาเชิงระบบของสังคมไทย และเมื่อคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาของสังคม การหวังพึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งให้เข้ามาแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศก็คงไม่สำเร็จ การแก้ไขจะต้องมาจากทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำ นักธุรกิจ ประชาชน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะเป็นปัญหาที่ทุกคนสร้างขึ้นมาหรือยอมให้เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คอร์รัปชั่นจึงเป็นปัญหาที่มาจากพฤติกรรมของคนในสังคม แต่พฤติกรรมคนเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือคนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมโดยคนๆ เดียวหรือคนกลุ่มเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ การเปลี่ยนพฤติกรรมจะต้องมาจากทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องเอาด้วย ทุกคนต้องเห็นด้วยและต้องร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรม และการเปลี่ยนพฤติกรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสร้างพลัง สร้างพื้นที่หรือเครือข่ายที่พร้อมจะผลักดันให้สังคมเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำจากเล็กไปใหญ่ และต้องทำทั้งในภาคการเมือง ภาคข้าราชการประจำ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน

ในกรณีภาคธุรกิจ ตัวอย่างหนึ่งของการพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมก็คือ โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต(โครงการ CAC) ที่ผมได้มีส่วนขับเคลื่อนช่วงปี 2011-2018 ที่บริษัทเอกชนที่ต้องการทำธุรกิจอย่างสะอาดปลอดคอร์รัปชั่นสามารถมาร่วมโครงการได้โดยสมัครใจ เพื่อส่งเสริมทำธุรกิจสะอาดให้เกิดขึ้น ภายใต้แนวคิดว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากการมีผู้ให้สินบนและมีผู้รับสินบน ผู้ให้คือภาคธุรกิจที่ถูกมองว่าอยู่ในด้านอุปทานของสมการคอร์รัปชั่น ขณะที่ภาคราชการและนักการเมืองที่รับสินบนคือ ผู้รับหรือด้านอุปสงค์ของคอร์รัปชั่น ถ้าผู้ให้ปฏิเสธไม่ให้ คอร์รัปชั่นคงเกิดขึ้นยาก แต่ผู้ให้คนเดียวหรือสองสามบริษัทปฏิเสธไม่ให้ คงจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ การปฏิเสธไม่จ่ายสินบนต้องมาจากบริษัทจำนวนมากที่พร้อมร่วมกันปฎิเสธคอร์รัปชั่นและส่งเสริมการทำธุรกิจสะอาดไม่รับไม่จ่าย ถ้าทำได้ พลังของธุรกิจสะอาดก็จะเกิดขึ้น

ตอนเริ่มโครงการCAC เมื่อปี 2010 มี 27 บริษัทสมัครใจเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันตัวเลขได้เพิ่มเป็น 941 บริษัท โดยมี 374 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากโครงการว่า เป็นบริษัทที่มีนโยบายและมีระบบงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครบตามหลักเกณฑ์ นี่คือตัวอย่างของการสร้างพื้นที่ให้ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ มาด้วยความต้องการ มาด้วยใจที่อยากร่วมแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์และอนาคตของส่วนรวม สิ่งเหล่านี้คือพลังที่สะท้อนความต้องการของคนในสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหาและพร้อมมีส่วนร่วม เป็นพลังของเครือข่าย ของการทำงานร่วมกันที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการแก้ไขปัญหา

ในลักษณะนี้ การรวมตัวของภาคประชาชนในรูปเครือข่าย ประชาชน ก็สามารถเป็นพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและร่วมแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอยู่ได้ เพราะช่วงที่ผ่านมา เราเห็นชัดเจนว่า ความพยายามของนักการเมืองและข้าราชการประจำที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีอะไรจริงจัง คือพูดมากกว่าทำ ทำให้ปัญหายังอยู่และนับวันยิ่งจะหนักมือขึ้น ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ดังนั้นผู้ที่ถูกกระทบโดยตรง เช่น ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการทำนโยบายของฝ่ายการเมือง และภาคประชาชน จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกันสร้างพลัง สร้างเครือข่ายเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นจริง

ทั้งที่กรุงเทพฯและที่อุดรธานี ที่ผมไปร่วมเป็นวิทยากร ผมได้ฝากข้อคิดไว้ว่า สังคมก็เหมือนร่างกายมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตและเมื่อสังคมเกิดปัญหา ปัญหาก็จะมาจากสิ่งที่สังคมได้ทำขึ้นหรือได้สร้างขึ้น ทำให้การแก้ไขปัญหาต้องมาจากคนในสังคม เหมือนร่างการมนุษย์ที่พอเกิดปัญหาขึ้นมา ร่างกายก็จะมีระบบที่จะซ่อมแซมตัวเอง แต่ที่สังคมยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้มักเกิดจาก หนึ่ง ไม่รู้ว่ามีปัญหา สอง รู้ว่ามีปัญหาแต่ไม่มีความรู้ที่จะแก้ปัญหา สาม รู้ว่ามีปัญหา มีความรู้ที่จะแก้ปัญหา แต่ยังไม่สามารถรวมพลังและใช้ความรู้ที่สังคมมีแก้ไขปัญหา

เรื่องการแก้คอร์รัปชั่นก็เช่นกัน สังคมไทยรู้ดีว่าเป็นปัญหา สังคมไทยมีความรู้ที่จะแก้ไขปัญหา แต่ที่ยังแก้ไม่ได้ก็เพราะสังคมยังไม่สามารถรวมพลังและใช้ความรู้ที่สังคมมีมาแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมา การรวมพลังของคนในสังคมมาร่วมกันแก้ไขปัญหายังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้พลังของสังคมผ่านเครือข่าย “ประชาชน” มาร่วมแก้ไขปัญหาเพื่ออนาคตของประเทศและอนาคตของคนในสังคม ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ประเทศอื่นๆ เขาทำได้ แต่เรายังทำไม่ได้