ระวัง! คุณอาจถูกตี...แตก

ระวัง! คุณอาจถูกตี...แตก

ไปเยือน “ซิลิคอน แวลลี่” ทั้งที ถ้าเก็บเรื่องราวไว้คนเดียว ก็คงไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกสอนมาว่า ทำอะไรให้คิดถึง “ตัวทวีคูณ

 ผมจึงต้องเอาเรื่องราวมาเล่าต่อ เพราะที่แสตนฟอร์ด ได้ฟังกูรูซึ่งมีทั้งอาจารย์  และ ผู้นำจากวงการสตาร์ทอัพ ตั้งเวทีอภิปรายหลายเรื่อง แต่หัวใจของเรื่องที่หลายคนพูดถึงบ่อยครั้ง ก็คือคำว่า “Impact Investment”

 นับว่าเป็นกระแสสังคมปัจจุบัน รวมทั้งเป็นวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ด้วย นั่นคือในการลงทุน เราจะต้องไม่มุ่งหวังเพียงความสำเร็จ จากความร่ำรวยเท่านั้น แต่ต้องถามว่าการลงทุนของเรา จะสร้างผลบวกให้แก่คนในสังคม ด้วยหรือไม่

 ในเมืองไทย ก็เช่นกัน เท่าที่ผมได้พบปะและพูดคุยกับ เด็กไทย Gen Y หลายคน (รวมถึง 2 สาวน้อยที่บ้านด้วย) ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้ลุ่มหลงเพียงคำว่าสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจใหม่ๆเท่านั้น แต่ลึกๆในหัวใจ มีคำว่า Impact อยู่ด้วย เด็กรุ่นนี้จำนวนไม่น้อย มักถามว่าสิ่งที่เขาทำหรือจะทำนั้น ผู้บริโภคจะได้อะไร มีผลต่อสังคมอย่างไร 

 ฟังแล้วชื่นใจครับ

 ที่ “ศูนย์นวัตกรรม” แห่งหนึ่งในหุบเขาซิลิคอน  เราได้พบกับ อดีตอาจารย์คนหนึ่งของแสตนฟอร์ด ซึ่งลาออกมาประลองยุทธ ในชีวิตจริงบนเวทีธุรกิจของหุบเขามหัศจรรย์แห่งนี้ และทำให้ผมได้รับข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งนัก

 รู้ไหมว่า บรรดาบริษัทใหญ่ๆ 500 บริษัท ที่อยู่ในดัชนี “S&P 500" นั้น ครึ่งหนึ่ง ได้ล้มหายตายจากไปแล้ว เพราะเมื่อปี 1960 บริษัทใน S&P 500 มีอายุยืนยาวได้นานถึง 67 ปี แต่ปัจจุบัน บริษัทในกลุ่มนี้ มีอายุยืนยาวได้เพียง 20 ปี เท่านั้นเอง

 รู้ไหมว่า 4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกในอเมริกา ล้มละลายไปแล้ว 40 แห่ง มีชื่อที่เราคุ้นๆเช่น Toys R Us, American Apparel, หรือ SEARS เป็นต้น

 รู้ไหมว่า ธุรกิจที่เสี่ยงมากต่อการถูก “ตีแตก” (ผมใช้คำนี้แทนคำว่าถูก “Disrupt”) ก็คือ ธุรกิจสื่อสาร โทรคมนาคม บริการทางการเงิน ค้าปลีก เทคโนโลยี ฯลฯ ตามลำดับ

 อ้าว แล้วทำไมบริษัทเทคโนโลยี แท้ๆ ก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูก ตีแตก ล่ะครับ คำตอบก็คือบริษัทต่างๆใน ซิลิคอน ที่สร้างนวัตกรรม เพื่อไป ตีแตก อุตสาหกรรมอื่นๆนั้น ก็ต้องแข่งขันกันเองด้วย ผู้คนที่นี่ ซึ่งเป็นมันสมองระดับสุดยอดทางเทคโนโลยี จึงต้องแข่งขันกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ให้เหนือกว่าของบริษัทคู่แข่ง พูดง่ายๆคือ ต้อง “ตี (บริษัทอื่นในซิลิคอน แวลลี่ ให้...) แตก” ด้วยเช่นกัน

 สมัยก่อน เวลามีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ออกวางตลาด จะมีผู้คนจำนวนหนึ่งเริ่มซื้อมาใช้งาน จากนั้นก็ค่อยๆขยายวงไปสู่ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้น แต่การขยายวงมักใช้เวลานานมาก กว่าจะไปถึงกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ของสังคม ทำให้บางบริษัทที่สายป่านไม่ยาวพอ เจ๊งไปเสียก่อน

 เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว กระบวนการนี้ใช้เวลานานถึง 80-90 ปี กว่าที่คนจำนวนมากๆจะเข้ามาเป็นลูกค้า จนทำให้บริษัทมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อปี 1960 ระยะเวลาดังกล่าวค่อยๆลดลงเหลือ 30-40 ปี  ปัจจุบัน นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ใช้เวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้นเอง ก็ได้รับการตอบสนอง จากผู้บริโภค “ทั่วโลก” แล้ว

 ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็น สตาร์ทอัพ เติบโตอย่างรวดเร็ว และก้าวเข้าสู่ระดับ ยูนิคอร์น เร็วมากขึ้น เมื่อปี 2014 สตาร์ทอัพที่ก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง ยูนิคอร์น ใช้เวลาเฉลี่ย 7.5 ปี แต่ปัจจุบัน บางแห่งใช้เวลาเพียง 1.5 ปี เท่านั้นเอง

 มูลค่าตลาด ก็มิใช่เพียง 1 พันล้านดอลล่าร์ (ตามคำจำกัดความ) เท่านั้น แต่อาจทำได้ถึง 6-7 พันล้านดอลล่าร์ เลยทีเดียว

 ขณะที่บริษัทใน S&P 500 ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 20 ปี จึงจะได้มูลค่าตลาด 1 พันล้านดอลล่าร์ แต่ Google ใช้เวลาเพียง 8 ปี Facebook 5 ปี Uber และ Whatsapp  2 ปี และ Snapchat ใช้เวลาเพียง 1.5 ปี เท่านั้นเอง

 แต่ก็อย่าเพิ่งตื่นเต้น เพราะอัตราการ “ตีแตก” ก็เข้าสู่โหมดที่ พุ่งกระฉูด เหมือนกัน กล่าวคือใครทำได้สำเร็จเร็ว ก็ถูก สกัด เร็ว เช่นกัน ดังนั้นเมื่อผมถามว่า “ชีวิตของชาวซิลิคอน เป็นเช่นใด” คำตอบสั้นๆ ของวิทยากรก็คือ “เครียด” แถมบอกว่าบริษัทของฉัน ก็อาจจะถูกตีแตกได้เหมือนกัน

 ผมถามว่า สตาร์ทอัพที่ทำงานหนัก และนานแรมปี จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ประสบความสำเร็จ ตรงนี้ ผู้บรรยาย (คงเดา) บอกว่าโอกาสน้อยมาก คือ 99.9% ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญอีกรายบอกผมว่า ถ้าเวนเจอร์แคป ลงทุนในสตาร์ทอัพ 3,500  แห่ง ก็จะประสบความสำเร็จแบบเจ๋งๆ เพียงประมาณ 1 รายเท่านั้น

 อีกคนบอกว่า สตาร์ทอัพ 1,000 ราย จะคว้าน้ำเหลวถึง 700 ราย อีก 299 ราย ผู้ประกอบการและผู้ร่วมทุน อาจได้ผลตอบแทนกลับมาบ้าง แต่จะมีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่ไปได้ถึงระดับ Facebook, Instagram, หรือ Twitter ซึ่งก็เป็นสถิติที่ใกล้เคียงกันครับ

 สรุปง่ายๆคือ มันยากเย็นแสนเข็ญ และโอกาสน้อยมากๆ แต่ถ้าทำสำเร็จ ก็จะร่ำรวยแบบ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก นั่นแหละ ดังนั้น หนุ่มสาวไฟแรงจำนวนมาก จึงไปแสวงหาความสำเร็จกันที่ซิลิคอน แวลลี่ แม้มีโอกาสสูงมากที่เวลาผ่านไป 10 ปี อาจจะคว้าน้ำเหลว ไม่ได้อะไรกลับมาเลยก็ตาม

 เมื่อต่างคนต่างก็จ้องจะตีแตกคนอื่น แล้วเราจะป้องกันการถูกตีแตกได้อย่างไร คำตอบก็คือ เราอยู่ในโลกของ ความคิดใหม่และนวัตกรรม เราต้องมีความคิดใหม่ตลอดเวลา และ ทำความคิดใหม่ ให้เป็น นวัตกรรม ที่วางตลาดได้เร็วกว่าคู่แข่ง เท่านั้นแหละ จึงจะเป็นทางรอด

 สรุปว่า ซีอีโอ ยุคนี้ ต้องบริหารพอร์ทปัจจุบันให้ดี เพื่อสร้างกำไรให้เพียงพอ ขณะเดียวกันสายตาก็จะต้องกว้างไกล และกันกำไรส่วนหนึ่งไว้สร้างนวัตกรรมด้วย จึงขอฝากเรื่องนี้ ให้ไปคิดต่อ-ทำต่อ กันนะครับ

 ถ้าไม่ทำ.... แล้วโดนตีแตกเมื่อไร อย่าหาว่าหล่อไม่เตือน