ปรัชญาชีวิต แง่คิดและคำปลอบโยน

ปรัชญาชีวิต แง่คิดและคำปลอบโยน

หนังสือเล่มใหม่ของผู้เขียน โดยสำนักพิมพ์แสงดาว (www.sangdao.com โทร 02 –954 - 98 - 3) แปลเรียบเรียง/คัดสรร

 แนวคิด คำคม บทกวี เรื่องชีวิต ความสุข การพลัดพราก (ความตาย) จากสำนักคิดปรัชญาสโตอิก (กรีกยุคโบราณ) ปรัชญาพุทธ นักจิตวิทยา นักปรัชญา นักเขียน กวี จากหลายยุคสมัยและภูมิภาค

“มีวิธีเดียวที่จะทำให้คนเรามีความสุขได้ นั่นคือเลิกวิตกถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจความตั้งใจของเรา” อีปิคเตตัส ครูสอนปรัชญาสโตอิกชาวกรีก 

มนุษย์เราต่างมีธรรมชาติอยากมีชีวิตที่มีความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์ และหลายคนมักจะตั้งคำถามตัวเอง (ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต) ว่าเราเกิดมาทำอะไร เราจะอยู่ไปเพื่ออะไร จะอยู่อย่างไร บางคนอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามเพราะคิดว่าเขามีคำตอบสำเร็จรูปแล้ว เนื่องจากคนยุคปัจจุบันถูกสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการขายสินค้าและบริการเพื่อหากำไร ครอบงำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าความสุขคือความสำราญทางประสาทสัมผัส ความมั่งคั่ง อำนาจ การบริโภค (สินค้า, บริการ) แต่ความจริงคือนี่เป็นเพียงความสำราญระยะสั้น ไม่ใช่ความสุขที่ยั่งยืน คนส่วนใหญ่รวมทั้งคนรวย คนมีอำนาจ สถานะทางสังคมสูงมักหาความสุขที่แท้จริงไม่ค่อยพบ

ปรัชญาพุทธ,สโตอิก (Stoicism) นักจิตวิทยาและนักปรัชญาคนอื่นๆ ให้คำตอบเราในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุข ได้ดีกว่าคำตอบของสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ปรัชญาสโตอิก เน้นเรื่องการรู้จักการวางเฉย(อุเบกขา)ไม่หวั่นไหว,ยึดติดกับการดีใจหรือเสียใจ อธิบายหลักการดำเนินชีวิตที่ดีได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับหลักวิชาจิตวิทยาสมัยใหม่

ผู้เขียนใช้คำว่า อยู่ดีมีสุข แทนที่จะใช้คำว่า ชีวิตที่มีความสุขแบบที่นักจิตวิทยานิยมใช้กัน เพราะทั้งปรัชญาพุทธ และปรัชญากรีกโบราณไม่ได้มองแค่เรื่องการขจัดความทุกข์และแสวงหาความสุข แต่มองเรื่องชีวิตที่ดี ชีวิตที่มีคุณค่า/มีความหมาย ชีวิตในเชิงอุดมคติ การแสวงหาความสงบสุขทางด้านจิตใจอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งกว่าการแสวงหาชีวิตที่มีความสุขในหนังสือประเภทฮาวทูของนักจิตวิทยาสมัยใหม่

หนังสือเล่มนี้เริ่มจากการสรุปแนวคิดชีวิตดีมีสุขแนวพุทธจากงานของทะไล ลามะ ฉบับภาษาอังกฤษ และคัดส่วนสุดท้ายของงาน 2 ชิ้นของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ชื่อ การพัฒนาความสุข 5 แบบ และการพัฒนาคนเพื่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นงานเชิงปรัชญาชีวิตและสังคม ที่ท่านบรรยาย/เขียนแบบนักวิชาการ ให้คำแนะนำเรื่องที่เป็นความรู้และความจริง และมีความชัดเจน กระทัดรัด ตามด้วยพุทธวจนะ ส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตอยู่ดีมีสุข ปรัชญาพุทธเสนอหลักง่ายๆว่าชีวิตที่ดี ที่จะช่วยลดหรือปลดเปลึ้องความรูสึกทุกข์ของเราได้ คือการลดละความโลภ โกรธ หลง เข้าใจว่าทุกสิ่งคือทุกข์ ทุกสิ่งค่อยๆเสื่อมสลาย และไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้เราจับยึดได้จริง แต่หลักง่ายๆนี้ไม่ค่อยตรงกับวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบัน เราจึงต้องอ่านให้มากและฝึกฝน(ปฏิบัติธรรม)ด้วย จึงจะเข้าใจได้

อยู่ดีมีสุขตามปรัชญาสโตอิก คือการเข้าใจและฝึกฝนการรู้จักหารวางเฉยหรืออุเบกขา ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่มากระทบเรามากเกินไป และใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ ปรัชญานี้ยังทันสมัย เหมาะที่คนในโลกยุคใหม่ที่ยังยากลำบาก มีความวุ่นวาย ความทุกข์วิตกกังวลอยู่มากให้นำแง่คิดไปใช้ในชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ในหมู่ปัญญาชนในโลกตะวันตกมีทั้งหนังสือและกลุ่มที่เผยแพร่ปรัชญาและวิธีการปฏิบัติธรรมแนวสโตอิกซึ่งมีปรัชญาหลายอย่างคล้ายพุทธ

บทต่อไปเป็น แนวทางสร้างความสุขในทัศนะของนักจิตวิทยา และคำคมว่าด้วยชีวิตอยู่ดีมีสุข นักจิตวิทยาสมัยใหม่ช่วยสรุปยืนยันว่าแนวทางไปสู่ความสุขที่แท้จริงในเชิงจิตวิทยานั้นไปในทิศทางใหญ่ทิศเดียวกันกับปรัชญาสโตอิกและพุทธ ขณะที่คำคมของนักคิดอื่นๆ สะท้อนความเข้าใจเรื่องชีวิตที่ดีมีสุขไปในแนวทางหาความสุขที่แท้จริง ซึ่งต่างไปจากการหาความสำราญจากความมั่งคั่ง การบริโภค ตำแหน่ง อำนาจ ชื่อเสียง อย่างที่คนส่วนใหญ่ในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันเชื่ออย่างผิดๆ กันอยู่ คำคมของนักคิดในยุคต่างๆ ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเชื่อศาสนาปรัชญาไหนหรือไม่ก็ตาม สะท้อนความจริงของชีวิตว่า คนที่ฉลาด มีวุฒิภาวะ มีแนวโน้มจะเข้าใจเรื่องชีวิตที่ดี มีสุข ว่าเป็นเรื่องของความคิดจิตใจ เช่นพอใจในสิ่งที่มีอยู่และพอหาได้ ไปในทางใกล้เคียงกัน และช่วยเสริมกันและกัน

หนังสือเล่มนี้น่าทำหน้าที่คล้ายๆ กับคู่มือการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้มีใครให้ติดตัวเรามาด้วย พ่อแม่เราซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัญญาชน นักคิด ก็สอนเราไปตามกระแสความเชื่อในสังคมที่ท่านรับมา และเราต้องเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตัวเราเองเป็นด้านหลัก แต่ก็อย่างที่ภาษิตฝรั่งเศสกล่าวว่า “ชีวิตถูกใช้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง ก่อนที่เราจะรู้จักว่าชีวิตคืออะไร” ถ้าเราพยายามหาคำตอบว่า ชีวิตคืออะไร ยังดีกว่าคนที่ยังไม่รู้หรือไม่รู้อย่างชัดเจน ไม่รู้อย่างแน่ใจ

ภาคที่๒ของหนังสือคือแง่คิดและคำปลอบโยนเรื่องความตาย การเข้าใจ,ยอมรับ,มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แม้จะเกิดความตายของคนใกล้ชิด หรือแม้จะกังวล กลัว ความตายของตนเองในอนาคต นี่คือเรื่องที่เข้าใจและทำใจยอมรับได้ยากมาก รวมทั้งเรามักหลีกเลี่ยงไม่อยากคิด ไม่อยากพูดถึง แต่นี่ก็คือเรื่องจริงส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเผชิญ ดังนั้น น่าจะดีกว่าที่เราจะหาอ่านแง่คิดในเรื่องนี้ ตีความ และนำไปคิด ไปฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง อย่างที่มาร์คุส ออเรริอุส นักปรัชญาสโตอิกคนหนึ่งเขียนไว้”ความตายยิ้มให้เราทุกคน และเราทำได้อย่างเดียวคือยิ้มตอบ”

ในช่วงชีวิตเรา เรามักจะพบความทุกข์ยากหรือรู้สึกความทุกข์ วิตกกังวล อยู่เป็นระยะๆ แต่เราก็จะพบความสุข ความงาม ความน่าพิศวงในบางระยะ, บางช่วงด้วยเช่นกัน เราควรเปิดใจกว้างหรือไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป ในชีวิตที่มีทั้ง 2 ด้าน บางช่วงเราต้องเผชิญความโศกเศร้ากับการจากไปของคนใกล้ชิด ถ้าเราป่วยเรื้อรังหรือสูงวัย, อ่อนแอ เราก็อาจกังวลต่อความตายของตัวเราเองเพิ่มขึ้น ถ้าเราเข้าใจยอมรับว่าวันหนึ่งเราจะต้องตาย เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยิ้มตอบความตาย อยากให้คนที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ช่วย แนะนำ แบ่งปันภูมิปัญญา ข้อคิด คำคม ในเรื่องการมีชีวิตอยู่และความตายอย่างช่วยให้เราเข้าใจสภาวะของธรรมชาติที่แท้จริง ให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วย อย่างที่ยูริพิดีส นักเขียนบทละครกรีก “ความรัก คือสิ่งดีๆ สิ่งเดียวที่มนุษย์จะให้กันและกันได้”