อาชีพถาวรไม่มีอยู่จริงในยุค 4.0

อาชีพถาวรไม่มีอยู่จริงในยุค 4.0

สิ่งที่หลายคนกลัวแทนลูกหลานของเราก็คือ ในยุค 4.0 พวกเขาจะทำมาหากินกันอย่างไร ควรจะเรียนสาขาไหน ถึงจะมีงานทำ มีความมั่นคงในชีวิต

อาชีพไหนจะรุ่ง อาชีพไหนจะร่วง แต่ความจริงก็คือ ความกังวลภายใต้กรอบการคิดแบบนี้มันเป็นความกังวลยุค 3.0 เป็นการมองปัญหาไม่ตรงจุดเสียทีเดียว เพราะในยุค 4.0 อาชีพถาวรแบบนั้นมันแทบไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป

ยุค 4.0 หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งนี้ในวงอภิปรายทิศทางเศรษฐกิจโลกของงาน “ฮันโนเวอร์แฟร์” ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นงานแสดงเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

ผลการอภิปรายสรุปว่า หากมองเชิงโครงสร้าง เทคโนโลยีหลักที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีอยู่ 5 ประเภทด้วยกัน คือ 1) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง 2) การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมาก 3) เทคโนโลยีอัจฉริยะ ได้แก่ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ การสร้างสถานการณ์จำลอง และการพิมพ์ 3 มิติ 4) การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และ 5) การประมวลผลแบบคลาวด์

ในยุคนี้ การทำงานในเชิงกายภาพเกิดขึ้นควบคู่กับการทำงานในโลกเสมือนจริงนี้ จะกลายเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ในการทำงานใหม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในโลกใดโลกหนึ่งจะกระทบต่อทั้ง 2 โลก

ที่น่าห่วงคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 มีระยะเวลาห่างกันประมาณ 100 ปี แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อาจใช้เวลาเพียงประมาณ 50 ปี หรือคิดเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของเวลาที่เคยใช้ในอดีต การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหรือดิสรัปชั่นจะเกิดขึ้นบ่อยมาก คาดการณ์ได้ยากว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน ดังนั้น ในโลกแบบนี้ อาชีพถาวรจึงไม่มีอยู่จริง

ลองมาดูตัวอย่างของธุรกิจขนส่งสินค้า อาชีพพนักงานส่งสินค้าในปัจจุบัน นอกจากจะต้องมีทักษะการขับรถแล้ว ยังต้องสามารถใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อรับงานและจัดส่งสินค้าได้ด้วย แต่อีกสักพักพนักงานเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยรถขับอัตโนมัติซึ่งมีประสิทธิภาพการขนส่งได้ดีกว่า เพราะรถเหล่านี้จะไม่ฝ่าไฟแดง ไม่แซงพร่ำเพรื่อ ไม่ต้องโดนตรวจใบขับขี่ สิ่งเหล่านี้ช่วยประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจไปได้เยอะ

เมื่อถึงวันนั้น อาชีพพนักงานส่งสินค้าก็จะหายไป

ผู้ที่มีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในวันนี้ ก็จะพบกับชะตากรรมเดียวกัน เพราะเมื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จนมันฉลาดมากพอ มันจะสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนาตัวเอง และสร้างโปรแกรมใหม่ขึ้นมาได้

เมื่อถึงวันนั้นอาชีพโปรแกรมเมอร์ก็จะมีคนทำงานลดลง เหลือแค่คนที่เก่งจริง มีความรู้ในด้านที่ปัญญาประดิษฐ์ยังทำเองไม่ได้

ช่างยนต์คงหางานทำลำบากมากขึ้นเพราะรถยนต์ในยุคหน้าจะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และมีชิ้นส่วนลดลงเยอะมาก ชิ้นส่วนเหล่านี้มักจะมาเป็นหน่วยแยกเป็นส่วน สามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย นั่นหมายความว่า ศูนย์บริการรถยนต์สามารถใช้หุ่นยนต์มาตรวจสภาพและเปลี่ยนชิ้นส่วนได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่างยนต์จำนวนมากเหมือนตอนนี้

เมื่อถึงวันนั้นช่างยนต์อาจไม่ใช่อาชีพที่มีอนาคตสดใสอีกต่อไป

ตัวอย่างทั้ง 3 เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การถามคำถามว่าจะเรียนอะไรแล้วจบไปมีงานทำ เป็นคำถามที่ผิด คำตอบที่ได้จึงเป็นคำตอบที่ผิดเช่นกัน

โลกยุคหน้า งานส่วนใหญ่เป็นงานไม่ถาวร อาจคงอยู่ได้เพียง 5 ถึง 10 ปี ก่อนถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี คนเหล่านี้ต้องหางานใหม่ทำ พอได้งานทำไปอีกสักพัก ก็โดนเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่อีก บางที ช่วงชีวิตคนหนึ่งคนอาจต้องเปลี่ยนอาชีพราว 4 ถึง 5 ครั้ง ดังนั้น อาชีพเดียวที่ทำได้ตลอดชีวิตจึงไม่มีอยู่จริง

ทางรอดในตลาดแรงงานยุค 4.0 ไม่ได้ขึ้นกับวุฒิ หรือสาขาที่เรียนจบมากเท่าปัจจุบันนี้ แต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามากระทบกับงานที่ทำอยู่ ดังนั้น ทักษะด้านการเรียนรู้เพื่อต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ หรือเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่จึงมีความสำคัญมากกว่าใบปริญญา

การเรียนรู้ยุค 4.0 ไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงในสถานศึกษา การเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นทุกที่ แทบจะตลอดเวลา และตลอดช่วงชีวิต

นอกจากนี้ทักษะยอดฮิตจากคำขวัญวันเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ตรงต่อเวลา มีวินัยในการทำงาน จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะหากขาดสิ่งเหล่านี้ไป การเรียนรู้และปรับตัวย่อมเกิดขึ้นได้ยาก การทำงานกับผู้อื่นยากที่จะประสบความสำเร็จ

คนที่ทำงานในยุค 4.0 จะเจอกับโจทย์ยาก โจทย์ใหม่ และโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องเติมความรู้และทักษะอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันโจทย์เหล่านี้ หากต้องการประสบความสำเร็จในโลกอาชีพที่ถาวรไม่มีอยู่จริงควรทำตามคำแนะนำของประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ที่กล่าวไว้ว่า

ถ้ามีคนถามคุณว่าทำงานนี้ได้ไหม รีบตอบไปเลยว่าทำได้ แล้วค่อยหาทางทีหลังว่าจะทำมันให้เสร็จได้ยังไง