พล.อ.เปรม ที่ผมได้เห็นและเรียนรู้

พล.อ.เปรม ที่ผมได้เห็นและเรียนรู้

การเป็นนักวิชาการทางสังคมวิทยามีข้อดีประการหนึ่งคือ จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง การได้สังเกต

ศึกษาบุคคลสำคัญทางการเมืองในแบบวิธีการที่ผู้เขียนเรียนรู้ด้วยตนเอง หากผิดพลั้งไปหรือถูกต้องประการใดถือเป็นสิ่งที่ผู้เขียนบันทึกจดจำจากประสบการณ์ตรงและภาพแห่งความทรงจำที่ได้พบเห็นตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ได้มีโอกาสรับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในบริบทของสังคมไทย

การได้รู้จักพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ของผู้เขียน ย้อนไปได้นับแต่เรียนหนังสือในชั้นมัธยม โดยเฉพาะวลีทองที่คุ้นหูว่า “โชติช่วงชัชวาล” เป็นคำกล่าวที่ท่านพูดถึงนโยบายการพลังงานของชาติที่ทำให้ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ก้าวไกลมาได้ถึงทุกวันนี้ หน้าที่ประการหนึ่งของนักเรียนสมัยนั้นจะต้องจดจำคำกล่าวสำคัญ คำขวัญของวันเด็กบ้าง รายชื่อนายกรัฐมนตรีบ้าง การเมืองดูเป็นเรื่องห่างไกลและเกินความฝันของคนทั่วๆ ไป เหตุการณ์รัฐประหารเป็นเรื่องเกือบจะเรียกว่าเป็นปกติที่เกิดขึ้นปีเว้นปีหรือปีละสองสามครั้งก็เคยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  คือนายกรัฐมนตรีที่ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนจะรู้จักคุ้นเคย ด้วยเหตุผลประการที่ท่านอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลายาวนานและต่อเนื่อง แต่เรื่องราวในเมืองไทยได้จางหายไปจากการรับรู้ของผมเกือบ 10 ปี เพราะได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ระหว่างนั้นมีโอกาสช่วยค้นหาเอกสารตำราสำคัญเล่มหนึ่ง ให้ท่าน ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีในขณะนั้น 

เมื่อกลับถึงเมืองไทย ได้เข้าไปกราบเรียนให้ท่านทราบว่าได้สำเร็จการศึกษาแล้ว พร้อมทั้งขอเสนอให้ท่านเป็นประธานที่ปรึกษากิติมศักดิ์ในองค์กรที่ผมกับพรรคพวกนักวิชาการร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา ท่านอาจารย์ธานินทร์ฯ มีความเมตตาต่อผมมาก เพราะท่านรับเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาพร้อมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ผมรู้จักหลายท่าน แต่สำหรับตำแหน่งประธานฯ ท่านแจ้งว่า ท่านจะหาคนที่เหมาะสมให้ ผมมาทราบว่าผู้ที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม คือใครแน่ชัด ในวันที่ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป โทรศัพท์แจ้งผมว่า “พล.อ.เปรม ยินดีรับเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” ถือเป็นเรื่องที่ผมมีความยินดีและตื่นเต้นอย่างที่สุด เพราะส่วนตัวดังเรียนให้ทราบแล้วว่า รู้จักพล.อ. เปรม ผ่านสื่อ ผ่านข่าวสารต่างๆ เคยเห็นท่านในบางวาระโอกาส แต่ไม่นึกไม่ฝันว่า วันหนึ่งท่านจะกรุณาและให้เกียรติผมและนักวิชาการที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานเฉกเช่นพวกเราถึงเพียงนี้

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย (www.thaijustice.org) เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ผมและผู้มีเจตจำนงแน่วแน่ในการทำหน้าที่ในส่วนที่สามารถกระทำได้ในเชิงวิชาการเผยแพร่ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมและเรื่องที่เกี่ยวข้องให้สังคมได้รับรู้ ไม่มุ่งหวังผลกำไร ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง พวกเราก่อตั้งองค์กรนี้มาเกือบยี่สิบปีแล้ว นับแต่ผมสำเร็จปริญญาเอกกลับมาทำหน้าที่อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในวันที่ท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้จากพวกเราไปนี้ นอกจากความอาลัยรักและระลึกถึงในความเมตตาอย่างเหลือล้นที่ท่านมีต่อพวกเราแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากจะถ่ายทอดให้ทุกท่านได้ทราบได้เข้าใจ คือ ท่านเป็นคนที่ทำงานหนักมาก หลายครั้งที่ผมเดินทางไปติดต่อราชการกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ที่บ้านรับรองสี่เสาเทเวศร์ ผมมักจะได้ยินเสียง อินเตอร์คอม (โทรศัพท์ภายใน) โทรมาที่สำนักงานนายทหารประจำตัว ซึ่งพล.ร.อ.พะจุณณ์ จะรีบรับสาย และจับความได้ว่าทุกเรื่องที่ท่านสั่งการหรือพูดคุยผ่านเครื่องโทรศัพท์ซึ่งเป็นระบบเปิดเสียงให้ได้ยินในห้องนั้นเป็นเรื่องงานทางราชการล้วนๆ ไม่มีเรื่องส่วนตัวใดๆ แทรกเข้ามาแม้แต่ครั้งเดียว แม้เมื่อหัวหน้าสำนักงานฯ ท่านใหม่ คือ พล.อ.พิศณุ พุทธงศ์ เข้ามารับหน้าที่แทน ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับวาระโอกาสอื่นๆ ที่เราได้เห็นความพร้อมเพรียงของผู้นำเหล่าทัพ และบรรดานักการเมือง ผู้นำทางสังคมมากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา คือ ในวันคล้ายวันเกิดของท่านในวันที่ 26 ส.ค.ของทุกปี ในวันขึ้นปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น ผมเองหากไม่ติดภารกิจสำคัญ ก็มักจะไปร่วมอวยพรรดน้ำดำหัวเป็นประจำมิได้ขาด พร้อมกับนำวารสาร “ยุติธรรมคู่ขนาน” ที่ศูนย์ศึกษาวิจัยฯ ได้ทำขึ้นเผยแพร่ไปแจกจ่ายให้กับผู้เข้ามาร่วมอวยพรอยู่เป็นประจำ ทำให้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งบารมี ความรักความผูกพันที่ท่านจะให้โอวาทกับผู้นำเหล่าทัพ คณะรัฐมนตรี ซึ่งมักเป็นข่าวให้ได้ยินเสมอ เพราะผู้สื่อข่าวสายทหารมักนำคำอวยพรหรือคำให้โอวาทของท่านไปเผยแพร่ในเวลาต่อมา อย่างคำว่า กองหนุนคำว่า แทนคุณแผ่นดิน” ล้วนแต่เป็นวลีที่พวกเราในยุคปัจจุบันมีความคุ้นเคยกันดี

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้สังเกตเห็นคนมีอำนาจบารมีในสังคมไทย ในทุกชนชั้นสถานภาพทางสังคมที่เข้าไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ในวันเวลาที่พล.อ.เปรม อยู่ในจุดที่เรียกว่าได้รับการยอมรับนับถืออย่างยิ่ง กระทั่งถึงวันที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานแสดงความอาลัยต่อท่านในวันแรกเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา จึงได้เห็นอะไรอีกหลายอย่างที่สะท้อนภาพความเป็น “อนิจจัง” ของชีวิตมนุษย์ เรียกได้ว่า ท่านเป็นแบบอย่างให้พวกเราทั้งในเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และแม้เมื่อท่านจากไปยังได้ทิ้ง “อนุสสติ” สำคัญให้เราได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อาทิ ในส่วนของบุคคลสำคัญของรัฐบาลรวมไปถึงตัวแทนอำนาจสำคัญแห่งรัฐไปกันเกือบครบตั้งแต่วันแรก บรรดา รัฐมนตรี ส.ส.  ส.ว. สมาคมศิษย์เก่าที่ท่านเคยศึกษาอยู่ก็มาอย่างเนืองแน่น 

แต่คนรุ่นใหม่และไมได้ศึกษาประวัติศาสตร์ มักหลงลืมหรืออาจไม่จดจำว่าใครเป็นใครหรือเคยได้ร่วมงานกับท่านในเวลาที่พล.อ.เปรม ทำหน้าที่สำคัญให้กับบ้านเมืองโดยเฉพาะในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอดีตรัฐมนตรีซึ่งเคยร่วมคณะรัฐบาลกับท่านหรือเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้นบางท่านมาในชุดสูทสากลสีเข้ม แต่จำได้ดีว่า บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญที่เคยทำงานกับพล.อ.เปรม อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับความเป็นตัวตนของพล.อ.เปรม ประการหนึ่งคือ ความสมถะ ความไม่สนใจกับการที่ต้องมีคนมาคอยพินอบพิเทาเอาอกเอาใจ ได้เห็นหลายท่านเดินเข้ามาในงานแล้วไปนั่งอยู่ในเต็นท์ปะปนกับประชาชนทั่วไป ซึ่งสะท้อนได้ว่าท่านเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการทดสอบทางสังคมและซึมซับหลักธรรมมามากไม่ยึดติดกับสรรพสิ่งอันเป็นเครื่องชูใจใดๆ เหมือนอย่างที่บางทีคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราอาจกำลังยึดติดและเสพติดกับมันอยู่ในเวลานี้