ตัวเต็ง ‘ว่าที่นายกฯอังกฤษคนใหม่’

ตัวเต็ง ‘ว่าที่นายกฯอังกฤษคนใหม่’

สัปดาห์ที่แล้ว ภาพที่เทเรซ่า เมย์ กล่าวลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีผลในวันที่ 7 มิ.ย.ที่จะถึงนี้

หน้าบ้านพักผู้นำ ณ หมายเลข 10 ดาวน์นิ่งสตรีท โดยเธอได้กล่าวประโยคสุดท้ายที่ว่า

'.. แต่ก็ยังเป็นเกียรติที่เป็นผู้นำสุภาพสตรีคนที่สองในประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับใช้ประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี’ ก่อนจะเดินกลับเข้าไปบ้านพัก

บทความนี้ จะขอพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับ 4 ตัวเต็ง ว่าที่นายกฯอังกฤษ คนใหม่

เริ่มจากเต็งหนึ่ง ที่ตอนนี้ถือว่ามาแบบทิ้งห่าง 3 ท่านที่เหลือค่อนข้างมาก เขาคือ หนุ่มร่างท้วมผมกระเซิง นามว่า บอริส จอหน์สัน

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปเยือนประเทศอังกฤษ คงจะได้เห็นรถเมล์สีแดง 2 ชั้น และรถจักรยานสีฟ้ามากมายที่ล็อคอยู่ตามสวนสาธารณะต่างๆ โดยทั้งคู่เป็นผลงานของนายจอห์นสัน จนจักรยานสีฟ้าตามสวนสาธารณะได้มีชื่อเล่นที่เรียกกันว่า “Boris Bike” สิ่งที่ทำให้นายจอห์นสันกลายเป็นสีสันในวงการเมืองอังกฤษ ได้แก่ รูปร่างที่ออกจะอ้วนถ้วนและผมทอง แถมบุคลิกที่ดูเฟอะฟะ สังเกตได้จากการสะพายเป้ ทว่าสวมสูทแล้วขับจักรยานคันจิ๋วไปทำงานทุกวัน

การเติบโตในเส้นทางการเมืองของนายจอห์นสัน ถือว่ามาแปลกกว่าท่านอื่นๆ โดยนายจอห์นสันเป็นนักข่าวและนักเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ The Times และ The Telegraph มากว่า 20 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ไต่เต้าจนได้เลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองลอนดอนเมื่อกว่า 6 ปีก่อน รวมทั้งยังเป็นนักเขียนให้กับนิตยสาร Spectator ที่หลายคนยังข้องใจว่าไปรับค่าจ้างกับสำนักพิมพ์นี้ในขณะที่เป็นผู้ว่าฯอยู่ด้วย สิ่งที่เป็นสีสันของนายจอห์นสันมีให้เห็นกันบ่อยมากไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือวัยรุ่นที่ขับจักรยานอยู่แล้วถูกรังแก หรือว่าจะเป็นการอัดเข้าใส่นักฟุตบอลชื่อดังของเยอรมันในแมทช์การแข่งขันรักบี้การกุศล ถ้าจะเปรียบง่ายๆ อาจจะมองได้ว่าบุคลิกของเขาคล้ายกับนักการเมืองบางท่านในบ้านเราที่เป็นสีสันของวงการเมือง ทำให้ประชาชนชาวอังกฤษคุ้นเคยกับนายจอห์นสันเป็นอย่างดี

โดยเหตุผลที่นายจอห์นสันสามารถใช้จูงใจชาวอังกฤษให้คล้อยตาม จนทำให้เกิด Brexit ขึ้นจริง แบบที่ค่อนข้างช็อคชาวโลกไม่น้อยเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน มีดังนี้

หนึ่ง การสูญเสียความเป็นอิสรภาพของอังกฤษในเชิงนโยบายต่างๆ โดยนายจอห์นสันชี้ให้เห็นถึงวิกฤตยูโรที่ผ่านมาว่า หากอังกฤษเข้าร่วมกับยุโรปแบบแนบแน่นกว่านี้ ก็จะต้องใช้เงินภาษีในการช่วยเหลือประเทศที่ทำตัวเป็นภาระ นอกจากนี้ ยังต้องมาแบกรับปัญหาการอพยพจากนอกประเทศอีกต่างหาก

สอง ประชาธิปไตยที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอังกฤษ จะต้องสูญเสียไป โดยนายจอห์นสันชี้ให้เห็นถึงกรีซที่ต้องทำตามสหภาพยุโรปทุกอย่าง ทั้งยังบอกว่าจะมีการรวมศูนย์ของสหภาพยุโรปไปสู่ศูนย์กลางไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง ทางสังคมและทางงบประมาณ ที่สหราชอาณาจักรจะต้องสูญความเป็นตัวของตัวเองไป

สาม ความมีอิทธิพลของสหราชอาณาจักรต่อนโยบายของตนเองและต่างชาติจะลดลงจากการที่อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรป เนื่องจากในคณะกรรมการสูงสุดของสหภาพยุโรปมีเสียงของชาวอังกฤษเพียง 4% ในขณะที่ประชาชนชาวอังกฤษมีอยู่ถึง 12% ซึ่งตรงนี้นายจอห์นสัน ใช้เป็นเหตุผลของการยืนยันว่าคนอังกฤษจะไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่

ท้ายสุด การปลุกเลือดรักชาติ โดยนายจอห์นสันย้ำว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่สหภาพราชอาณาจักรจะเลือกทางที่ตนเองเป็นเอกราชจากยุโรป ขออนุญาตอ้างอิงประโยคจากนายจอห์นสันโดยตรง "This is a moment for Britain to be brave, to reach out - not to hug the skirts of Nurse in Brussels, and refer all decisions to someone else”

ต้องไม่ลืมว่า นายจอห์นสันเป็นนักหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนาน การพูดจาโน้มน้าวแนวรักชาติถือเป็นของชอบของเขาอยู่แล้ว แม้ว่าตลาดจะมองว่านายจอห์นสันออกจากแนวนักการเมืองแบบโบราณ ที่ไม่สู้มีวิสัยทัศน์ไปนิดก็ตาม

เต็งสอง ได้แก่ นายไมเคิล กอฟ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลของนางเมย์ เหตุผลที่ทำให้หลายคนมองว่านายกอฟ มีโอกาสที่สามารถจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษท่านใหม่ได้ เนื่องจากในการสรรหานายกฯอังกฤษเมื่อกว่า 2 ปีก่อนนั้น นายกอฟเป็นผู้ที่ทำให้นายจอห์นสัน ต้องหวืดตำแหน่งนายกฯ ด้วยการเปลี่ยนใจแบบ เพื่อนรัก.. หักเหลี่ยมโหด ไม่สนับสนุนนายจอห์นสันในนาทีสุดท้ายก่อนที่เส้นตายการรับสมัครจะจบลงเพียงไม่กี่นาที จนทำให้นายจอห์นสันต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันดังกล่าว จนนางเมย์ได้รับตำแหน่งนายกฯอังกฤษในที่สุด โดยนายกอฟได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ในครั้งนั้น พ่ายนางเมย์และนอมินีของนายจอห์นสัน จะเห็นได้ว่านายกอฟถือว่ามีพลังทางการเมืองมากพอสมควรในการเข้าชิงชัยตำแหน่งผู้นำอังกฤษเที่ยวนี้

เต็งสาม ได้แก่ นายโดมินิค ราบ อดีตรัฐมนตรีที่ดูแลหน่วยงานรับผิดชอบการนำอังกฤษออกจากยูโร ที่ลาออกจากตำแหน่งนี้เมื่อปลายปีที่แล่้ว โดยนายราบได้รับเครดิตเป็นอย่างมากสำหรับสปิริตจากการลาออกในครั้งนั้น เนื่องจากตรงใจกับชาวอังกฤษโดยส่วนใหญ่ว่านางเมย์ไปต่อไม่ได้ในประเด็นนี้ จนกลายเป็นเต็งสามของการชิงชัยในเที่ยวนี้

ท้ายสุด เต็งสี่ ได้แก่ นายเจเรมี ฮันท์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลของนางเมย์ โดยนายฮันท์ถือว่ามีประสบการณ์การทำงานในรัฐบาลที่หลากหลายและยาวนาน แม้จะมีผิดพลาดบ้างทว่าก็นับว่ามีผลงานพอสมควร จุดเด่นของนายฮันท์คือประสบการณ์การดูแลงานในกระทรวงที่สำคัญกว่าคู่แข่งท่านอื่น ทว่าจุดอ่อนของนายฮันท์คือ แต่เดิมเขาเคยเป็นฝ่ายเชียร์ให้อังกฤษอยู่ในยูโร โดยเพิ่งมาเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะเป็นชาว Brexit เมื่อปีกว่าๆที่แล้วนี้เอง

ผมมองว่าการชิงชัยในครั้งนี้ น่าจะเข้มข้นและสูสีมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ก่อนที่จะได้ชื่อนายกฯอังกฤษท่านใหม่ตัวจริงในอีก 2 เดือนข้างหน้าครับ