กำเนิดสงครามเย็นใหม่

กำเนิดสงครามเย็นใหม่

นับตั้งแต่เดือน พ.ค. ข่าวที่ยึดครองความสนใจของผู้เสพข่าวเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนมากที่สุดได้แก่ข่าวสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ

จากภาพที่เหมือนจะรอมชอม ตกลงกันได้ในช่วงต้นปี กลับมารุนแรงอีกครั้งหลังจากจีนส่งร่างสนธิสัญญาการค้ากลับมายังสหรัฐ โดยไม่ยอมแก้ไขในประเด็นที่เคยตกลงกันไว้ล่วงหน้า เช่น การบังคับใช้ประเด็นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี เป็นต้น ทำให้ทรัมพ์สั่งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 25% หลังจากนั้น จีนก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี 25% ในสินค้าของสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน

หลังจากนั้น สงครามการค้าก็เข้าสู่เฟสสอง คือกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี จากการที่สหรัฐประกาศแบนหัวเว่ย โดยห้ามบริษัทสหรัฐทำธุรกรรมใด ๆ กับหัวเว่ย ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดในจีนและเป็นผู้นำในเทคโนโลยี 5G

แต่ต่อมาสหรัฐก็ผ่อนปรนลงบ้างโดยห้ามเฉพาะธุรกรรมใหม่ ๆ แต่ก็อนุญาตให้จัดส่งผลิตภัณฑ์ที่ทำสัญญาไว้เดิม เช่น Software update ให้กับหัวเว่ยได้เป็นเวลา 90 วัน ทางจีนจึงตอบโต้ด้วยการปลุกกระแสชาตินิยมมากขึ้นและส่งสัญญาณพร้อมทนเจ็บเพื่อชนะสงครามการค้าครั้งนี้

คำถามสำคัญคือ สงครามการค้าครั้งนี้จะจบอย่างไร หรือจะเป็นเกมยาวที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้ง

ในมุมมองของผู้เขียน คำตอบโดยย่อคือ ยกที่สองแห่งสมรภูมินี้น่าจะจบไม่ช้ามากนัก โดยจีนอาจต้องยอมตามความต้องการสหรัฐ แต่สงครามเทคโนโลยีและสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจจะไม่จบโดยง่าย และอาจนำมาสู่สงครามจริงระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ที่สุดของโลกก็เป็นได้

สาเหตุหลัก ผู้เขียนมองว่าร่างสนธิสัญญาการค้ากว่า 150 หน้าที่ทางจีนส่งกลับมาให้สหรัฐและขีดฆ่ากว่า 50 หน้าในประเด็นที่บังคับให้จีนต้องเคารพทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นดั่ง Sputnik Moment หรือเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่าจีนไม่ยอมต่อการที่สหรัฐเข้ามากดดันกิจการภายในประเทศจีนเองขณะที่การที่ทรัมพ์แบนหัวเว่ยที่ถูกมองว่าเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการทำจารกรรมทางไซเบอร์และอุตสาหกรรม (Cyber and corporate espionage) ก็บ่งชี้ว่าสหรัฐก็ไม่ยอมเช่นกัน

ผู้เขียนมองว่า สงครามครั้งนี้บ่งชี้ถึงการแข่งขันกันของ 2 มหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงการทหารโลก ระหว่างผู้อยู่ก่อนและผู้มาใหม่ ซึ่งการแข่งกันครั้งนี้น่ากลัวกว่าที่ผ่านมา เพราะทั้งสองประเทศแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ แนวคิดทางการเมือง รวมถึงวิธีการดำเนินชีวิตและธุรกิจอย่างสิ้นเชิง รูปแบบที่แตกต่างกันนี้ ทำให้ยากที่ทั้งสองฝ่ายจะหาจุดร่วมกันโดยง่าย

ในอดีต ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันด้วยจุดยืนหลักคือ ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ โดยในปัจจุบัน การค้าระหว่าง 2 ประเทศมีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน และในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ต่างพึ่งพาอาศัยกันมาก แต่สิ่งที่แตกต่างกันมากคือมุมมองของทั้งคู่ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง

โดยสหรัฐมองว่าจีนคือคู่แข่งที่เติบโตขึ้นมาด้วยวิธีที่สกปรก กล่าวคือ ขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ด้วยการใช้ตลาดที่มีขนาดมหาศาลเป็นตัวล่อ โดยบริษัทต่างชาติที่สนใจจะเข้าไปทำธุรกิจในจีนต้องมีการร่วมทุน (JV) รวมถึงต้องเปิดเผยความลับทางการค้า ทำให้ธุรกิจจีนสามารถนำความลับเหล่านั้นไปต่อยอดได้ รวมถึงทำการจารกรรมด้วยกลยุทธพิเศษต่าง ๆ ตั้งแต่ทุ่มเงินซื้อพนักงานของบริษัทคู่แข่ง การทำวิศวกรรมผันกลับ (Reverse Engineering) หรือขโมยแนวคิดของคู่ค้ามาผลิตเอง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ หัวเว่ย ที่เคยมีคดีความกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั้งหลายในประเด็นข้างต้น เช่น CISCO, Motorola, Oracle รวมถึง T-Moblie

กระบวนการเหล่านั้นลามเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมถึงความมั่นคงด้วย เช่น การที่บริษัทจีนเข้าซื้อ Grindr ซึ่งเป็น Application ของกลุ่มรักร่วมเพศ เพื่อนำไปสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยทางการสหรัฐมองว่า อาจนำมาใช้ในการแบล็คเมล์ผู้บริหารและผู้ที่มีชื่อเสียงทางสังคมของสหรัฐได้ รวมถึงกระแสข่าวว่าหน่วยงานข่าวกรองจีนเป็นผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มแฮกเกอร์ APT10 ที่เข้าเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานชั้นนำสหรัฐ เช่น กองทัพเรือสหรัฐ IBM และ NASA เป็นต้น

สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารแล้ว การกระทำเหล่านี้เรียกว่า Civil-military fusion โดยการผสมผสานการจารกรรมไซเบอร์และอุตสาหกรรม เพื่อช่วงชิงการเป็นต่อด้านเทคโนโลยีรวมถึงความลับทางการค้า เพื่อประโยชน์สูงสุดด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน สามารถทำได้โดยง่ายมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีล้ำหน้าในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยภาคเอกชนเป็นหลัก มิใช่เป็นดั่งสมัยก่อนที่ระบบอินเตอร์เนทถูกคิดค้นจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการของจีนที่ไม่เปิดเสรีให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจได้โดยง่าย แต่พัฒนาบริษัทของตนโดยใช้โมเดลเทคโนโลยีจากต่างชาตินั้น ทำให้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 10 แห่งนั้น เป็นของจีนถึง 5 แห่ง (อันได้แก่ Huawei, JD, Tencent, Alibaba และ Baidu ซึ่งแข่งขันกับ Apple, Amazon, Alphabet, Microsoft และ Facebook)

นอกจากนั้น พัฒนาการด้านการทหารของจีนในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้สหรัฐมองจีนด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นการรุกน่านน้ำทะเลจีนใต้มากขึ้น พัฒนาขีปนาวุธวิสัยไกลที่ยิงได้ถึงเกาะกวม ส่งดาวเทียมทางการทหารขึ้นสู่อวกาศเป็นจำนวนมากกว่าสหรัฐในปีที่ผ่านมา รวมถึงพัฒนาในเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคต เช่น Quantum Computing, Big Data และ AI

ในส่วนของจีนนั้น มองว่าสหรัฐต่างหากที่ใจแคบและเห็นแก่ตัว โดยในท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจจีนจะต้องขึ้นมาใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นจีนจึงต้องเตรียมพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านการทหาร และด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่สหรัฐเองก็กำลังลดบทบาทตนเองในฐานะมหาอำนาจโลกลง ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จีนจะสร้างความมั่นคงมากขึ้นด้วยรูปแบบวิธีการแบบเดียวกันกับยุคก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ พัฒนาและต่อยอด (Copy and Development) และการช่วงชิงความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ตามหลักของตำราพิชัยสงครามซุนวู (Art of War)

พัฒนาการเหล่านี้คือสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า Security dilemma หรือการที่ฝ่ายหนึ่งสร้างความมั่นคงของตน ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตร (Hostile) จึงเตรียมตัวพร้อมที่จะโจมตี ภาพเช่นนี้จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่าThucydides’s Trap หรือกับดักธูสิดีดิส ที่จะทำให้มหาอำนาจเดิมและผู้ท้าชิงตกอยู่ในวังวนความขัดแย้ง และนำไปสู่สงครามในที่สุด

ยกที่สองแห่งสงครามมาถึงแล้ว คำถามคือยกสุดท้ายจะจบอย่างไร

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]