เราต้องเรียนรู้อะไรจากสงครามการค้า สหรัฐ - จีน 

เราต้องเรียนรู้อะไรจากสงครามการค้า สหรัฐ - จีน 

ผู้อ่านหลายท่าน คงกำลังตื่นเต้นตกใจ กับเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นระหว่าง สหรัฐ และ จีน โดยเฉพาะในกรณีของหัวเว่ย

ที่กำลังเผชิญกับมาตรการต่างๆ ของ สหรัฐ ซึ่งนำไปสู่การประกาศแผนสำรองของ หัวเว่ย ที่มีตั้งแต่ หงเหมิง โอเอส ที่จะนำมาใช้ทดแทนแอนดรอยด์ และกระทั่งการกักตุนวัตถุดิบทางเทคโนโลยี ในกรณีที่ไม่สามารถนำเข้าจากสหรัฐได้

ไม่ว่าเรื่องราวดังกล่าวจะมีจุดจบอย่างไร แต่ก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าเหตุการณ์นี้มีบทเรียนที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ที่เป็นการสะท้อนจากเหตุการณ์โดยตรง และส่งผลสู่กำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ควรจะต้องบรรจุเป็นวาระของรัฐบาลชุดใหม่ ที่กำลังจะเริ่มต้นปฏิบัติงานในอีกไม่นานข้างหน้านี้

1. โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบดิจิทัลคืออะไร: โดยผิวเผินแล้ว เราอาจมองเห็นเฉพาะฮาร์ดแวร์ที่จับต้องได้ เช่นสายโทรคมนาคม ดาต้าเซ็นเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ แต่สงครามการค้าทำให้เราเห็นว่า การเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น แอนดรอยด์ หรือการเข้าถึงบริการทางดิจิทัล เช่น กูเกิลเพลย์สโตร์ โซเชียลมีเดีย หรือ เสิร์ชเอนจิน มีความสำคัญไม่แพ้กับ โครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้ จึงเปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบดิจิทัลเช่นกัน
2. เรามี อธิปไตย (Sovereignty) เหนือเทคโนโลยี และ บริการทางดิจิทัลที่สำคัญของประเทศหรือไม่: สำหรับประเทศจีน ได้มีโซเชียลมีเดีย และ เสิร์ชเอนจินของตัวเองมานานแล้ว ไม่ต้องอาศัยประเทศอื่น แต่ในด้านของ โอเอส และ กูเกิลเพลย์สโตร์ ที่เชื่อมต่อกับระบบนิเวศของแอพจากทุกมุมโลก จีนยังคงเป็นรองสหรัฐอยู่มาก ครั้นสำหรับประเทศไทยแล้ว เราไม่มีอะไรเลยที่เป็นของตัวเอง ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้จากประเทศอื่นทั้งสิ้น
3. อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อ เทคโนโลยี และ บริการทางดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ หยุดให้บริการในประเทศไทย: หัวเว่ย มีแผนสำรอง แต่ประเทศไทยไม่มี สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือการหยุกชะงักของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
4. เราสามารถควบคุม เทคโนโลยี และ บริการทางดิจิทัลที่สำคัญ ให้อยู่ภายใต้กฎหมายไทยได้หรือไม่: อำนาจการควบคุมของกฎหมายไทย สิ้นสุดที่ชายแดนไทย หาก เทคโนโลยี และ บริการเหล่านี้ ให้บริการมาจาก แคลิฟอร์เนีย ต้องอาศัยกระบวนการทางการทูตเท่านั้น
5. ข้อมูลของคนไทย อยู่ในมือของใคร: แม้สหรัฐกำลังกล่าวหาบริษัทของจีน ว่าแอบส่งข้อมูลให้รัฐบาลจีน แต่ก่อนหน้านี้ สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) และ สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐ ก็ได้ออกมาแฉถึงพฤติการณ์ของบริษัทของสหรัฐที่แอบส่งข้อมูลให้รัฐบาลสหรัฐเช่นกัน หากเชื่อข้อกล่าวหาทั้งหมด จะหมายความว่า ข้อมูลของคนไทย ที่ใช้เกือบทุกอุปกรณ์ หรือ บริการที่เป็นดิจิทัล ก็ล้วนมีความเสี่ยงที่จะถูกส่งไปยังรัฐบาลต่างชาติทั้งสิ้น
6. ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ถูกมองข้ามโดยกฎหมาย ต่างๆ ของไทยหรือไม่: ใช่
7. สำหรับธุรกิจของไทย มีอะไรต้องกังวลหรือไม่: เกือบจะไม่มีในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะธุรกิจของไทย ส่วนใหญ่เป็นการซื้อมาขายไป ซึ่งเป็นการนำเข้าเทคโนโลยีและบริการจากต่างประเทศมาขายในเประเทศไทย เราไม่ได้เข้าไปแข่งขันในระดับเดียวกับ สหรัฐ จีน หรือ สหภาพยุโรป และสตาร์ทอัพของไทย ก็ไม่ได้แข่งขันในระดับของผู้ผลิตเทคโนโลยี ประเด็นที่น่าเป็นห่วง เป็นเรื่องความมั่นคงของเศรษฐกิจดิจิทัล อำนาจต่อรองระหว่างประเทศของภาครัฐ และความสามารถในการรักษา อธิปไตย ทางดิจิทัล ของประเทศ
ความเสียเปรียบดังกล่าว ไม่ได้มีขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เพื่อนบ้าน ทั้งประเทศที่กำลังพัฒนา แม้แต่ประเทศที่เล็กกว่า หรือมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าประเทศไทย ล้วนมีนโยบาย หรือ กฎหมาย ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ อาทิเช่นกลุ่มของกฎหมายที่มีชื่อเล่นว่า Google Tax ได้ถูกออกแบบมาเพื่อลดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ของ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากประเทศอภิมหาอำนาจทางเทคโนโลยีเหล่านี้ และรักษาอธิปไตยทางดิจิทัลของประเทศ