5 ประโยชน์ของเอไอในสายงาน ‘เอชอาร์’

5 ประโยชน์ของเอไอในสายงาน ‘เอชอาร์’

ก้าวสู่การเป็นดิจิทัลเอชอาร์อย่างเต็มรูปแบบ

ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจต่างๆ มากขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยให้องค์กรต่างๆ ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสายงานบัญชีและการเงิน งานบริหารจัดการองค์กร งานบริการลูกค้าสัมพันธ์ 

รวมทั้งงานด้านทรัพยากรบุคคล หรือ เอชอาร์ (Human Resources : HR) ก็สามารถนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วยให้การทำงานมีความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนสามารถลดความเหลื่อมล้ำและความผิดพลาดที่เกิดจากอคติ(bias) ของมนุษย์ได้อีกด้วย บทความนี้จึงขอยกตัวอย่างการนำเอไอมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานด้านเอชอาร์เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กร ดังนี้

1.การสรรหาและคัดเลือกพนักงานใหม่ (Candidate Screening) เอไอ เข้ามาช่วยในขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครให้ตรงตามความต้องการของบริษัทและเหมาะสมกับตำแหน่งที่เปิดรับ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลบนใบสมัคร เช่น การศึกษา อายุ ทักษะความสามารถ ประสบการณ์การทำงาน และแนวโน้มการเข้ากันได้กับผู้ร่วมงานในฝ่ายเดียวกัน รวมทั้งผู้สมัครจะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ความต้องการต่างๆ ของผู้สมัครเบื้องต้นได้ด้วย เช่น สวัสดิการ (benefits) และเงินเดือน เป็นต้น

2.การสัมภาษณ์งาน (Job Interview) แชทบอท (Chatbot) หรือระบบตอบข้อความอัตโนมัติ สามารถนำมาใช้ในขั้นตอนการสัมภาษณ์งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยองค์กรสามารถสื่อสารกับผู้สมัครในรูปแบบการถามตอบข้อความอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลา และต้นทุนด้านแรงงาน รวมไปถึงสามารถใช้คอมพิวเตอร์วิชั่น (Computer Vision) ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลผู้สมัครขณะสัมภาษณ์งานผ่านวีดิโอคอลล์ หรือวีดิโอบันทึกการสัมภาษณ์งาน โดยเอไอจะวิเคราะห์ข้อมูลจากภาษากาย สีหน้า และน้ำเสียง เพื่อช่วยคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นก่อนที่จะไปสัมภาษณ์กับคนในรอบถัดไป

3.การเก็บข้อมูลเข้า-ออกงานของพนักงาน (Employee Attendance) เทคโนโลยีการจดจำและตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) สามารถใช้ในการเก็บข้อมูลของพนักงานได้ เช่น การสแกนใบหน้าเพื่อผ่านเข้าสู่พื้นที่สำนักงาน ระบบก็จะทำการบันทึกเวลาเข้าออกของพนักงานแต่ละคน โดยผลลัพธ์ที่ได้มีความแม่นยำสูง สะดวก รวดเร็ว และส่งเสริมความปลอดภัย รวมทั้งลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการปลอมแปลงข้อมูลของพนักงานได้อีกด้วย

4.การพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงาน (Career Development) เอไอสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์เกี่ยวกับบุคลากร โดยการประเมินความสามารถของพนักงานเพื่อวางแผนเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (career path) ตลอดจนช่วยในการคัดเลือกหลักสูตรอบรมที่เหมาะสมกับพนักงานรายบุคคล เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถได้อย่างตรงจุดและนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

5.การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เอไอ สามารถช่วยคาดการณ์แนวโน้มของพนักงานที่จะทำงานให้กับองค์กรในระยะยาว หรือแนวโน้มที่พนักงานจะลาออก ซึ่งจะช่วยให้เอชอาร์ สามารถประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า 

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี เพื่อปรับขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง โดยขั้นตอนนี้ แม้เอไอจะสามารถประเมินผลโดยปราศจากอคติได้ แต่สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวด้วย

ในอนาคต นอกจากการนำเอไอมายกระดับการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลแล้ว บล็อกเชน (Blockchain) อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการจัดเก็บข้อมูลของพนักงานและผู้สมัคร ที่สามารถช่วยลดความทุจริตในการสร้างข้อมูลเท็จและการปลอมแปลงข้อมูลได้ ขณะเดียวกันสามารถต่อยอดได้ด้วยการนำเอไอมาวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ เพื่อคาดการณ์สถานการต่างๆ ต่อไป ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

สุดท้ายนี้ เอไอไม่สามารถเข้ามาแทนที่บุคลากรของฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้ เพียงแต่จะเข้ามาช่วยลดภาระงานบางอย่าง เพื่อให้พนักงานได้ใช้เวลาในการพัฒนาองค์กรในด้านอื่นๆ เช่น การรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่กับองค์กร และการประเมินความต้องการของผู้สมัครงาน ฯลฯ

ดังนั้น หากเอชอาร์นำเอไอเข้ามาเสริมศักยภาพในการทำงาน ก็จะยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้ในระยะยาว พร้อมทั้งก้าวสู่การเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุคดิจิทัล (Digital HR) อย่างเต็มรูปแบบได้