ทางเลือกเพื่อปรับตัว (2)

ทางเลือกเพื่อปรับตัว (2)

บางครั้งการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจรวดเร็วจนไม่อาจรอได้

ช่วงเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับคำว่า “ดิสรัปชั่น” ที่บีบให้หลายๆ ธุรกิจต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ และผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาคือการ “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จด้วยดีและที่ล้มเหลวจนต้องล้มหายตายจากปิดกิจการไปหลายๆ แห่ง

ปัญหาใหญ่ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่มีสูตรสำเร็จใด ตายตัว เราอาจเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี แต่นำมาใช้ในบ้านเราไม่ได้เลยเพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน หรือบางครั้งอาจมีคนทำธุรกิจใหม่แบบเดียวกัน แต่อาจมีเพียง 1-2 รายเท่านั้นที่ทำได้สำเร็จเพราะองค์ประกอบของธุรกิจที่แตกต่างกัน

สิ่งที่ทุกบริษัทต้องประสบพบเจอเหมือนๆ กันก็คือ แม้จะมองเห็นลู่ทางและโอกาสในการทำธุรกิจใหม่แต่ก็ไม่อาจหาคนมาร่วมงานได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะคนเดิมที่มีอยู่ขาดความรู้และทักษะที่จำเป็น ขณะที่จะมองหาคนใหม่ก็ไม่มีใครมีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ

การขาดแคลนคนทำงานในธุรกิจใหม่ๆ ขององค์กรธุรกิจยุคปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นด้านบิ๊กดาต้าซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านข้อมูล และยังเป็นข้อมูลระดับสูงซึ่งเอามาใช้เพื่อตัดสินใจบริหารองค์กร

ผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งเดินหน้าจับมือกับองค์กรธุรกิจในการวางแผนพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการปั้นนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ให้พร้อมทำงานได้ทันทีเพื่อป้อนให้กับองค์กร หรือพัฒนาบุคลากรเดิมให้ทันกับโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน

องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งอาจใช้ทางลัดที่เร็วกว่าคือ การลงทุนซื้อกิจการจากบริษัทสตาร์ทอัพซึ่งได้ทั้งธุรกิจใหม่และบุคลากรไปพร้อมกัน ถึงแม้ลงทุนสูงแต่ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที เพราะบางครั้งการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจรวดเร็วเสียจนไม่อาจรอได้

แม้กระทั่งนโยบายภาครัฐอย่างดิจิทัลไทยแลนด์ก็ยังมองเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงผลักดันกฎหมายจำนวนมากเพื่อรองรับการเติบโตในด้านดิจิทัลของธุรกิจไทย เช่น ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลไอดี เพราะเชื่อว่าการบริหารจัดการธุรกิจในอนาคตต้องอาศัยเทคโนโลยีเหล่านี้มาเพิ่มประสิทธิภาพ

หลายๆ เรื่องมีกฎหมายบังคับใช้พร้อมให้เอกชนปรับตัวตามแนวทางเหล่านี้ ในขณะที่หลายๆ เรื่องผ่านการพิจารณาแล้วและกำลังจะประกาศใช้เร็วๆ นี้ แต่หลายๆ องค์กรอาจปรับตัวไม่ทันจนทำให้เสียโอกาสที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของตัวเองไป

คนรุ่นก่อนอาจเคยชินกับการใช้เอกสารจำนวนมากในการทำธุรกรรมต่างๆ แค่จะยืนยันตัวตนก็ต้องใช้ทั้งบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ฯลฯ จะค้าขายก็ใช้เอกสารที่เป็นกระดาษมากมายทั้งใบเสนอราคา ใบสั่งซื้อ ใบกำกับภาษี ฯลฯ รวมถึงการติดต่อราชการในนามนิติบุคคล ที่จะต้องมีเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฯ พร้อมลงนามรับรองเอกสารจากผู้มีอำนาจ และเอกสารอื่นๆ ซึ่งความเคยชินของคนรุ่นเก่าได้กลายเป็นความเบื่อหน่ายของคนรุ่นใหม่

เพราะพวกเขามองเห็นว่าเขาเอาเวลาที่หมดไปกับงานเอกสารเหล่านี้ไปใช้ทำอย่างอื่นย่อมได้ประสิทธิภาพสูงกว่าหลายเท่า เอกสารและขั้นตอนเหล่านี้สามารถใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาจัดการได้ทั้งหมดซึ่งแน่นอนว่ารวดเร็วกว่า และยังตรวจสอบติดตามได้อย่างโปร่งใส

การปรับองค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องการจัดการงานเอกสารและยืนยันตัวตน แต่ยังมีอีกมากมายเช่นเอไอ หุ่นยนต์ทางธุรกิจ ไอโอที ฯลฯ ซึ่งล้วนต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทางด้านนี้อีกเป็นจำนวนมาก

การปรับเปลี่ยนองค์กรจึงไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการเรียนรู้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีศึกษาของต่างประเทศ การอัพเดทความรู้ใหม่ ๆ จากกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ

รวมไปถึงการแสวงหาพันธมิตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงกว่าเรา ซึ่งเราอาจใช้จุดแข็งที่มีเสริมกับความเชี่ยวชาญของเขาสร้างเป็นสินค้าและบริหารใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็ล้วนเป็นทางรอดสำหรับองค์กรได้เช่นกัน