เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

ข่าวหนึ่งที่ดูจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อไทยมากนักทั้งๆ ที่เป็นข่าวใหญ่ของภูมิภาคและมีผลกระทบกว้างไกลต่อไทย

ประเทศที่เป็นข่าวนี้มีขนาดเศรษฐกิจและประชากรที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนเพิ่งเลือกตั้งกันเมื่อกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

อินโดนีเซียดินแดนแห่ง 17,000 กว่าเกาะ ประชากร 260 ล้านคน อันดับ 4 ของโลก และเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีการเลือกตั้งที่มีนักวิชาการระบุว่า เป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่สุดของโลก เพราะมีคนลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆรวม 245,000 คน เพื่อที่นั่งกว่า 20,000 ตำแหน่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้คน 193 ล้านคนลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี ส.ส.และ ส.ว. ตลอดจนผู้แทนในระดับท้องถิ่นพร้อมกันทั้งประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ลองจินตนาการดูว่าคนจัดการเลือกตั้งจะปวดหัวแค่ไหนในการพิมพ์บัตร การบริหารจัดการลงคะแนนและนับคะแนน การยืนยันผลการเลือกตั้ง ฯลฯ มีรายงานว่าใช้เจ้าหน้าที่รวม7ล้านคนและกว่า500คนเสียชีวิตจากการดูแลการเลือกตั้งและนับคะแนน

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอินโดนีเซียที่มีประชากรหลากหลายภาษาและวัฒนธรรมน่าสนใจมาก เพียง 2 วันหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ในปี1945 Sukarno และHatta ก็ประกาศอิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ซึ่งในที่สุดต้องยอมรับอย่างเป็นทางการเพราะแรงกดดันจากนานาชาติในปลายปี1949

ประธานาธิบดี Sukarno ครองอำนาจต่อเนื่องจนเสื่อมความนิยมและถูกแทนที่โดย นายพลSuhartoในปี1967 ผู้ใช้อำนาจเผด็จการไม่มีการเลือกตั้งและถูกพิษภัยเศรษฐกิจในเวลาใกล้เคียงกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ของไทยหลุดจากอำนาจในปี1998

อินโดนีเซียมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรกในปี 2004 อดีตนายพล Susilo Bambang Yudhoyono (เรียกกันสั้นๆว่าSBY)ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยคือระหว่าง2004-2014 และตามมาด้วยประธานาธิบดีJoko Widodo (อีกชื่อที่เรียกกันคือJokowi) “ม้ามืด”เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่2014จนถึงปี2019จึงครบวาระแรกและมีการเลือกตั้งในปีนี้ดังที่กล่าวมาแล้ว

การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นการต่อสู้ระหว่าง“อำนาจเก่า”ที่ครองกันมายาวนานตั้งแต่สมัย นายพลSuharto กับ “ของใหม่” ผู้เป็นตัวแทน “อำนาจเก่า” คือนายพลSubianto (อดีตลูกเขยของ นายพลSuharto) ส่วนตัวแทน “ของใหม่” คือJokowi อดีตผู้ว่าการเมืองจาการ์ตา ผลการเลือกตั้งชนะกันด้วยคะแนน53.2% กับ 46.9%

ถึงแม้จะเลือกตั้งแพ้แต่คนไม่แพ้น ายพลSubianto ต่อสู้ทุกทาง ทั้งในศาลและนอกศาลเพื่อให้ตนชนะให้ได้(กล่าวหาว่า“โกงเลือกตั้ง” “เลือกตั้งไม่เป็นธรรม”) แต่ในที่สุดก็แพ้ ในช่วง5ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้หยุดการหาเสียงทำงานตลอดจนได้ลงแข่งขัน“รีแมทช์” อีกครั้งกับประธานาธิบดีJokowi ผู้ประสงค์จะเป็นประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่งซึ่งเป็นได้อีกเพียงสมัยเดียวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

การเลือกตั้งเป็นไปอย่างตื่นเต้นในตอนก่อนการเลือกตั้ง Jokowiเลือก Ma'ruf Amin วัย76 ปีผู้อาวุโสทางศาสนาซึ่งมีคนนับถือกว้างขวางของกลุ่มมุสลิมใหญ่สุดเป็นผู้ร่วมแข่งตำแหน่งรองประธานาธิบดี ส่วนSubianto เลือกเศรษฐีนักลงทุนสมัยใหม่วัย 49 ปี ชื่อUno ขวัญใจคนรุ่นใหม่เป็นคู่เข้าชิง

เมื่อ 7-8 เดือนก่อนเลือกตั้ง Jokowi (พรรคพันธมิตร10พรรคสนับสนุน)นำ Subiantoเกือบ20% แต่เมื่อเวลาผ่านไปคะแนนนำก็ลดลงเป็นลำดับ จนในเดือนมี.ค. เหลือเพียง8% โดยมีผู้ยังไม่ตัดสินใจ 14%

ในวันเลือกตั้งโมเมนตัมอยู่ฝ่ายSubianto–Uno แต่ผลงาน 5 ปีของJokowi-Amin ช่วยต้านไว้ได้จนคะแนนออกมาอย่างไม่เป็นทางการของหลายฝ่ายที่นับคะแนนตรงกันว่า ประธานาธิบดีJokowiได้เป็นต่ออีกสมัยด้วยคะแนน 55.6% กับ44.4% ชนะกันกว่า10% ส่วนคะแนนดิบชนะกันเกือบ 16 ล้านคะแนน(ครั้งที่แล้วชนะกันประมาณ 8 ล้านคะแนน)

การประกาศผลอย่างเป็นทางการคาดว่า เป็นอาทิตย์ที่  3ของเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี Subianto ออกมาประกาศแล้วว่าจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของทางการเพราะเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ที่Jokowi ประสบก็คือการต่อสู้นอกเวทีที่ไม่จบของฝ่ายตรงข้ามคือ“อำนาจเก่า”ที่น่าหวาดหวั่นก็คือการโหมไฟความรู้สึกใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นหนุ่มสาวที่มีอยู่ประมาณ40%ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นั่นก็คือกระแสความเคร่งในศาสนา

อินโดนีเซียโดยทั่วไปไม่ใช่ประเทศที่คลั่งไคล้การเคร่งในศาสนาต่างไปจากมาเลเซีย หากแต่เกิดปรากฏการณ์ “hijrah” ซึ่งหมายถึง born-again muslims กล่าวคือการเปลี่ยนสไตล์การดำเนินชีวิตแบบสบายๆ ของคนรุ่นใหม่มาเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดเปรียบเสมือน การเกิดใหม่

ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางการอินโดนีเซียพยายามไม่ส่งเสริมการเป็นสังคมที่เคร่งครัดจนเกินไปในด้านศาสนา หากแต่กระแสศาสนาเช่นนี้เริ่มปรากฏให้เห็นในสังคมจนน่ากลัวว่าการเมืองจะหาประโยชน์และทำให้สังคมแตกแยกเพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังคงดำรงชีวิตแบบมุสลิมเดิมของอินโดนีเซีย

ปัญหาที่หนักอกเหมือนเพื่อนบ้านในอาเซียนก็คือปัญหาคอรัปชั่นที่ดาษดื่น แก้ไขได้อย่างยากเย็น ถึงแม้จะพยายามตลอด5ปีที่ผ่านมา Corruption Perceptions IndexของTransparency International ในปี2015อินโดนีเซียอยู่อันดับที่88ตกมาเป็นอันดับที่89 ในปี 2018จาก180ประเทศโดยได้คะแนน38จาก100 (ไทยในปี2018อยู่อันดับที่99ได้คะแนน 36จาก100)

Jokowi ได้รับความนิยมสูงเพราะไม่มีชื่อเสียในด้านคอรัปชั่นเ ขาเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แก้ไขกฎหมายสร้างความคล่องตัวในด้านเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ฯลฯจนใน 5 ปีเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 5% ประชาชนยอมรับและให้การสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเขา

การมีจำนวนมากขึ้นของคนชั้นกลางวัยหนุ่มสาวเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดแนวคิดด้านศาสนาที่แตกต่างกันมากขึ้นในสังคม

ยักษ์ใหญ่ของอาเซียนตัวนี้ถึงแม้จะมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าไทยค่อนข้างมาก แต่ก็มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าไทยหนึ่งเท่าตัวประชาคมอาเซียนที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาปัจจุบันเงียบสงบไม่มีบทบาทระหว่างประเทศมายาวนาน บัดนี้อาจมีความคึกคักมากขึ้นเมื่อ พี่ใหญ่มองออกไปข้างนอกมากกว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้