ภาษีและกองทุนรวมตราสารหนี้

ภาษีและกองทุนรวมตราสารหนี้

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดเก็บภาษี 15% จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในปี 2561

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) ได้ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย และจะมีผลใช้บังคับในเดือนส.ค. 2562 โดยมีสาระสำคัญในการเพิ่มเติมหลักการ “การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม” ซึ่งเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ผลจากการแก้กฎหมายครั้งนี้จะเป็นอย่างไร และการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีเหตุผลอะไร?

ที่ผ่านมารัฐเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้อย่างไรที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้แบ่งเป็นสองกรณี กรณีที่ (1) หากเป็นการ

ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง (ไม่ผ่านกองทุน) และมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ผู้จ่าย หรือ ผู้ออกตราสารมีหน้าที่ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ซึ่งกฎหมายให้สิทธินักลงทุนในการเลือกได้ว่าจะนำเงินได้จากผลตอบแทนดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ประจำปีหรือไม่ก็ได้

กรณีที่ (2) หากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม และมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ผู้จ่าย หรือ ผู้ออกตราสาร ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เท่ากับว่ากองทุนได้รับผลตอบแทนดังกล่าวแบบเต็มจำนวน ซึ่งเหตุผลทางกฎหมาย คือ กองทุนรวมไม่ใช่นิติบุคคลตามความหมายของประมวลรัษฎากร (แต่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายหลักทรัพย์) ดังนั้น กองทุนรวมจึงไม่ใช่หน่วยภาษีและไม่มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย โดยกองทุนรวมมีลักษณะเป็น pass-through entity หรือ ช่องทางในการไหลผ่านของเงินไปสู่ผู้ลงทุน ดังนั้น จึงเป็นภาระของผู้ลงทุนเองในการเสียภาษีจากผลตอบแทนนั้นตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และในส่วนของผู้จ่ายหรือผู้ออกตราสาร เมื่อมีการจ่ายผลตอบแทนให้กองทุนรวม ย่อมไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เช่นกัน อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัตินักลงทุน (บุคคลธรรมดาเฉพาะที่อยู่ในประเทศไทย) เมื่อได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม สามารถเลือกได้ว่าจะให้กองทุนหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อได้รับผลตอบแทนดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 10% และเมื่อหักแล้วไม่ต้องนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีอีก ในทางกลับกัน หากนักลงทุนรายใดไม่ได้แจ้งความประสงค์ให้กองทุนหักภาษี ณ ที่จ่าย ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนเองในการนำผลตอบแทนดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี (หากเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะไม่สิทธิเลือกตามกรณีในข้างต้น)

จากสองกรณี (1) และ (2) ตามแนวทางของกฎหมายเดิม จะสังเกตเห็นว่า การลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง กับการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับ “ดอกเบี้ยสุทธิหรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราที่ต่างกัน  จากความแตกต่างในเชิงภาระภาษีดังกล่าว จึงเป็นที่มาในการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ 

กฎหมายใหม่กำหนดหลักการอย่างไร?

  กฎหมายฉบับใหม่ (ฉบับที่ 52) ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยผู้เขียนขอวิเคราะห์ เป็นรายประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก กฎหมายฉบับนี้ประสงค์จะปรับเปลี่ยนภาระภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมให้เท่าเทียบกันกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง โดยไม่ได้ส่งผลให้สิทธิของนักลงทุนไทย

ในการได้รับการยกเว้นภาษี capital gain หายไป และไม่ได้ตัดสิทธิผู้ลงทุนในการเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย (10%) จากการจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลจากกองทุนรวม ประเด็นที่สอง กฎหมายได้แก้ไขนิยามคำว่า “กองทุนรวม” (ทุกประเภท) จากเดิมที่ไม่ใช่หน่วยภาษี และไม่ได้เป็น tax entity ตามความในประมวลรัษฎากร ให้เป็น “หน่วยภาษีประเภทนิติบุคคล” โดยกองทุนรวมในที่นี้ ให้รวมถึง กองทุนรวมทั้งที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งการปรับปรุงนิยามในส่วนนี้เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนประเภทต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยกองทุนเหล่านี้อาจมีลักษณะการจัดตั้งที่แตกต่างไปจากในปัจจุบัน เช่น ถูกจัดตั้งตามกฎหมายอื่น ๆ หรือถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เป็นต้น ประเด็นที่สาม เมื่อกองทุนรวมเป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรแล้ว นั้นหมายความว่า กองทุนเป็นหน่วยภาษีตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในประเด็นเรื่องภาระภาษี กฎหมายจะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกองทุนรวมเฉพาะเงินได้บางประเภทเท่านั้น อันได้แก่ เงินได้ประเภทดอกเบี้ย เงินได้ประเภทส่วนลดในตราสารหนี้ (discount) หรือเงินได้อื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินได้ประเภทดอกเบี้ย ประเด็นที่สี่ เป็นผลมาจากภาระภาษีในข้างต้น คือ เมื่อกองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีการลงทุนในตราสารหนี้ ดังนั้น เมื่อผู้จ่ายหรือผู้ออกตราสารมีการจ่ายผลตอบแทนประเภทดอกเบี้ย discount หรือเงินได้ในลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย ย่อมมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

ประเด็นที่ห้า สำหรับนักลงทุน เมื่อได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม หากเป็นกองทุนประเภทลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียว นักลงทุนหรือผู้ถือหน่วยไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผล 10% เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ double tax ในเงินได้ก้อนเดียวกัน ในทางกลับกัน หากเป็นกองทุนผสม (ตราสารหนี้และทุน) ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลดังกล่าว

ประเด็นที่หก กฎหมายยังคงยังเว้นภาษีให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวแบบ Contractual Saving ที่ผู้ออมสมัครใจเข้าออมเพื่อรองรับการเกษียณอายุของตนในอนาคต

ท้ายที่สุด แม้กฎหมายจะแก้ไขเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการลงทุน แต่การลงทุนทุกอย่าง มีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน … 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]