บันทึกเปิดสภา

บันทึกเปิดสภา

การเปิดสภา ทั้งสภาสูงและสภาผู้แทนฯ บอกอะไรกับเราบ้าง...

1.เสียง ส.ว.เป็นเอกภาพเสียจนเกือบจะไม่มีความแตกต่างหลากหลาย จึงทำนายได้ว่าน่าจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจบางฝ่ายมากกว่าเป็นปากเสียงให้ประชาชน

2.สภาผู้แทนราษฎรยังคงปั่นป่วน ยืดเยื้อ เน้นเกมการเมืองมากกว่าสาระเช่นเดิม ส.ส.หน้าเก่าก็ใช้มุขเก่าๆ ส่วนหน้าใหม่หลายคนโดยเฉพาะจากพรรคใหม่ๆ ใช้สภาเป็นสถานที่เปิดตัว หาเสียง สร้างไอดอลใหม่ หรือแม้กระทั่งแก้ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ที่ไม่ถูกใจตนเอง

3.พรรคพลังประชารัฐเสียรังวัดทั้งจากการโหวตเลือกประธานและรองประธานสภา สะท้อนถึงความไม่พร้อมในการเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล เสียงสนับสนุนไม่มีเอกภาพ และไม่สามารถจัดการได้จริง

4.พรรคประชาธิปัตย์แสดงความเขี้ยวในเกมการเมือง (แต่จะเหลือเพื่อนหรือเปล่ายังน่าคิด) พลิกสถานการณ์จากผู้แพ้ยับเยินในสนามเลือกตั้ง เป็นพรรคอันดับ 4 แต่กลับได้เก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะที่พลังประชารัฐร่อแร่ ส่วน เพื่อไทย พรรคอันดับ 1 ไม่ได้อะไรเลย

5.กติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สภาไทยย้อนยุคและมองไม่เห็นการพัฒนา ยังมีการแกล้งเข้าประชุมช้า หลบในห้องน้ำ แกล้งลงคะแนนผิด เจรจาต่อรองผลประโยชน์ พร้อมกับปรากฏการณ์ “งูเห่า” เพ่นพ่าน และข่าวลือ โอนล่วงหน้า” เพื่อหาเสียงสนับสนุนในเกมที่แพ้ไม่ได้

6.อีกหนึ่งผลพวงของกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเป็นรัฐบาลผสมถึง 20 พรรค ว่ากันว่าอาจจะเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองจับมือกันมากที่สุดในโลก (พร้อมถือมีดไว้ข้างหลัง) ส่งผลให้การบริหารงานทำได้ยาก เพราะต้องเผชิญทั้งศึกนอกศึกใน ท่ามกลางสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ

7.เซียนการเมืองคาดการณ์ว่า รัฐบาลพลังประชารัฐน่าจะอายุสั้น อย่าเพิ่งฝันถึงหลักปี เพราะต้องว่ากันเป็นไตรมาส บ้างก็ว่าต้องเตรียมงานฌาปนกิจไว้ล่วงหน้า เพราะล้มได้ทุกเมื่อ

8.ปู่ชัย ชิดชอบ ทำหน้าที่ได้อย่างน่าชื่นชม ควบคุมการประชุมได้ดีพอสมควร แถมยังโชว์เก๋าคลี่คลายบรรยากาศตึงเครียดได้หลายครั้ง สะท้อนว่าคนแก่ ความชรา หรือวัยวุฒิ ก็ยังมีประโยชน์ มีคุณค่า ไม่จำเป็นต้องล้มล้าง ล้มกระดาน

9.บรรยากาศประชุมสภา สะท้อนบรรยากาศการเมืองนอกสภาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย ป้ายสี ไม่มีวี่แววความปรองดอง