ความเสี่ยงของธุรกิจเริ่มใหม่

ความเสี่ยงของธุรกิจเริ่มใหม่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกหรือเป็นข้อมูลเชิงสถิติ เป็นที่ยืนยันได้ว่า การเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจขนาดเล็กระดับ เอสเอ็มอี หรือ สตาร์อัพ มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่ธุรกิจจะไม่ประสบความสำเร็จ

โอกาสที่ธุรกิจเอสเอ็มอีเกิดใหม่จะอยู่รอดไปได้เกินปีที่ 5 หรือโอกาสที่ธุรกิจสตาร์อัพจะประสบความสำเร็จในระดับยูนิคอร์น มีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ล้วนเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มใหม่ที่มีความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ทางธุรกิจของตนเอง

มีนักวิชาการด้านบริหารธุรกิจหลายรายที่พยายามศึกษาว่า กุญแจแห่งความสำเร็จสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่จะประสบความสำเร็จ คืออะไร

ส่วนใหญ่ก็จะได้ข้อสรุปว่า การสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา จะอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ มากมาย และผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มใหม่ที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ มักจะเป็นผู้ประกอบการที่มองเห็นและตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ล่วงหน้าตั้งแต่ที่มันยังไม่เกิด

การตระหนักถึงความเสี่ยง จะทำให้ผู้ประกอบการเตรียมหาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือตั้งรับความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจเริ่มใหม่ที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการควรตระหนักล่วงหน้า มีดังนี้

1.ความเสี่ยงด้านผลิตภัณฑ์ ตัวสินค้า หรือบริการที่ต้องการนำเสนอ การที่เจ้าของธุรกิจหรือสตาร์อัพ ไม่สามารถที่จะอธิบายหรือสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลทั่วไป หรือนักลงทุนที่จะนำเงินมาลงทุนให้ธุรกิจได้ว่า ตัวธุรกิจหรือบริการที่แท้จริงแล้วคืออะไร อะไรที่เป็นจุดเด่นเหนือคู่แข่งทั่วไป หากเป็นการนำเสนอนวัตกรรมหรือสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในตลาด สิ่งนั้นจะนำไปใช้งานได้อย่างไร และผู้ใช้จะเรียนรู้วิธีการใช้สิ่งใหม่นี้ได้เร็วหรืออย่างไร รวมไปถึงความเสี่ยงที่ไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการในเชิงพาณิชย์ได้ตามที่คาดไว้

2.ความเสี่ยงด้านตลาด เกิดจากการไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคหรือตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะตลาดแรกที่จะเข้าไปเจาะ มีลักษณะอย่างไร ผู้บริโภคกลุ่มแรกๆ จะเป็นใคร ความเสี่ยงด้านตลาดจะลดลงได้หากผู้ประกอบการหรือสตาร์อัพ มีข้อมูลของตลาดเป้าหมายจากการวิจัยหรือสำรวจตลาดมาก่อน และข้อมูลยืนยันว่า สินค้าหรือบริการที่นำเสนอ จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคได้ดี

3.ความเสี่ยงด้านทีมงาน ผู้ร่วมก่อตั้ง หรือหุ้นส่วนธุรกิจ การได้ทีมงานในช่วงเริ่มสร้างธุรกิจที่รู้ใจและมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ตรงกัน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการประคองและแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในระหว่างการปั้นธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญอุปสรรคร้ายแรง เจ้าของหรือผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการคัดเลือกหรือเฟ้นหาเพื่อนร่วมทีมที่มีความสามารถในด้านต่างๆ ที่จะมาเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการหาผู้ร่วมงานในระดับรองลงมาจากกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง

4.ความเสี่ยงด้านความสามารในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้น เมื่อเริ่มนำสินค้าหรือบริการใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อแย่งชิงลูกค้าหรือผู้บริโภค ด้วยความโดดเด่นหรือคุณภาพที่เหนือกว่า ตลอดไปจนถึงการรักษาความสามารถในการแข่งขันระยะยาว การป้องกันการลอกเลียนแบบ หรือการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากผู้เล่นหน้าใหม่

5.ความเสี่ยงด้านการเงิน เริ่มตั้งแต่ความเพียงพอของเงินทุนในระหว่างการพัฒนาสินค้าหรือพัฒนาธุรกิจก่อนนำเสนอสู่ตลาด ไปจนถึงการบริหารค่าใช้จ่าย การควบคุมกระแสเงินสด ซึ่งความเสี่ยงด้านการเงินของธุรกิจ อาจจะป้องกันได้ด้วยการจัดทำแผนธุรกิจ และติดตามปรับปรุงแผนการเงินให้สอดคล้องกับสภาพของธุรกิจอยู่อย่างสม่ำเสมอ

6.ความเสี่ยงด้านกฏหมายและกฏระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการไม่ละเมิดและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเจ้าของธุรกิจหรือสตาร์ทอัพที่ไม่มีนักกฏหมายร่วมทีม อาจต้องใช้ที่ปรึกษากฏหมายในบางครั้งมาช่วยตัดสินใจในการปกป้องแนวคิดนวัตกรรมของตนเอง นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เรื่องของกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองสังคม จะเริ่มเข้ามามีบทบาทที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

การศึกษาและเข้าใจถึงธรรมชาติของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับธุรกิจหรือบริการที่ต้องการริเริ่มสร้างขึ้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการและสตาร์อัพสามารถเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝันได้ดีขึ้น

เท่ากับว่าสามารถสร้างคุ้มกันให้กับธุรกิจเริ่มใหม่ได้อย่างเพียงพอ