หุ้นกลุ่มไหนของจีนยังคงเป็น The Winner

หุ้นกลุ่มไหนของจีนยังคงเป็น The Winner

ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเด็นข้อพิพาททางการค้ากลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง และมีท่าทีที่จะรุนแรงและยืดเยื้อออกไปนานขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยการที่ทั้ง 2 ประเทศ ต่างประกาศมาตรการกีดกันออกมาสู้กันแบบวันต่อวัน โดยล่าสุด เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าบนสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์จาก 10% เป็น 25% จีนก็ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ  5,000 รายการ ที่มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยแบ่งออกเป็นอัตราภาษี ตั้งแต่ 5% - 25% ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าพวกธัญพืช น้ำมันพืช ปุ๋ย วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สินค้าอิเล็คทรอนิคส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า สารเคมี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องแต่งกาย โดยมาตรการของจีนจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้

ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัท Huawei Technologies ของจีน ไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ก่อนที่ล่าสุดจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเป็นการชั่วคราว (90 วัน) กล่าวคือคำสั่งนี้ จะกลับมามีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 สิงหาคม นี้ หากประเด็นทางการค้ายังคงตึงเครียด

ประเด็นตอบโต้ที่ก่อนหน้านี้มองว่าเป็นเพียงเกมส์การเมืองของ ปธน. ทรัมป์ ที่มักจะใช้ถ้อยคำหรือการกระทำรุนแรงเพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามเร่งประนีประนอมด้วยข้อเสนอที่เป็นประโยชน์มากขึ้นต่อสหรัฐฯ ครั้งนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้ผลและส่อแววบานปลาย กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างหนัก โดยหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้นแรงตั้งแต่ต้นปีจากข่าวดีของความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้ากลับต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหนักอีกครั้ง

ขณะที่เงินหยวนก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินหยวนอ่อนค่าไปแล้ว 1.2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นักลงทุนต่างชาติกังวลและหันเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้มูลค่าสะสมของการเข้าซื้อหุ้นจีนของนักลงทุนต่างชาติผ่านการเชื่อมโยงของตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ (Stock connect) ทั้งตลาดหุ้น Shanghai และ Shenzhen ลดลงจากจุดสูงสุดของปีในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ 1.3 แสนล้านหยวนมาอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านหยวนในปัจจุบัน

สะท้อนกลับมาที่ตลาดทุนจีน หุ้นกลุ่มธุรกิจสื่อสาร และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีจีนที่ถูก ปธน. ทรัมป์ โจมตีปรับตัวลงหนักสุดอย่างไม่น่าแปลกใจ โดยตั้งแต่ต้นเดือนปรับตัวลงไปแล้วกว่า 11% และ 10% ตามลำดับ ทำให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีลดลงเหลือ 18% และ 20% ตามลำดับ แต่กลุ่มธุรกิจที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงน้อยที่สุด คือ กลุ่มสินค้าคงทน ที่โดยรวมตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมปรับตัวลงมาเพียง 3% และในช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีทิศทางรีบาวน์ขึ้นของหุ้นกลุ่มนี้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เพราะกลุ่มสินค้าคงทนถือว่าเป็นหุ้นในกลุ่ม Defensive ที่จะ outperform ในช่วงตลาดปรับตัวลง กล่าวคือผู้บริโภคจีนยังไงก็ต้องซื้อสินค้าเหล่านี้เพื่อดำรงชีวิตประจำวันต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม แตกต่างกับกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่จะมีผลการดำเนินงานขึ้นๆ ลงๆ สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าคงทน outperform หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับมุมมองของการลงทุนในหุ้นจีน ยังคงแนะนำกลยุทธ์คัดสรรหุ้น (Stock selection) จากแนวโน้มการเคลื่อนไหวของหุ้นในกลุ่มต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน โดยเน้นไปยังกลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์ของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนตามดัชนีที่มีการจัดสัดส่วนน้ำหนักตามมูลค่าตลาดโดยรวมของหุ้น หรือการลงทุนแบบ Passive เพราะจะพบว่านักลงทุนมีสัดส่วนมากในหุ้นกลุ่มการเงินการธนาคารที่ประมาณ 39% ขณะที่มีหุ้นกลุ่มสินค้าคงทนเพียง 11% ของเงินลงทุนทั้งหมด นอกจากนี้ แนวโน้มของการบริโภคภายในจีนถือว่ายังคงแข็งแกร่ง หากพิจารณาจากยอดค้าปลีกเดือนเมษายนขยายตัวที่ 7.2% YoY สูงกว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่โตเพียง 5.4% YoY ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 124 สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ระดับ 112 รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ต้องการผลักดันให้การปล่อยสินเชื่อขยายตัวในอัตราความเร็วที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไปจะนำไปสู่การลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้น ช่วยหนุนกลุ่มสินค้าคงทนอีกทางหนึ่ง