ปรับบทบาทรัฐ เปลี่ยนภูมิทัศน์การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ปรับบทบาทรัฐ เปลี่ยนภูมิทัศน์การเรียนรู้ตลอดชีวิต

เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น เพราะตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี

ล่าสุดในปี 2560 มีคนไทยที่อายุยืนกว่า 100 ปีแล้วถึง 9,041 คน

แต่อายุยืนยาวจะมาพร้อมความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ทำให้คนไทยต้องทำงานนานขึ้น เพื่อให้มีเงินสะสมเพียงพอ แต่องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาภาคบังคับหรืออุดมศึกษาอาจไม่เพียงพอใช้ไปตลอดช่วงชีวิต เพราะการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยีจะทำให้ทักษะและความรู้ที่มีหมดอายุเร็วขึ้น

เพื่อให้มีทักษะและความรู้ที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานตลอดเวลา คนไทยจำเป็นอย่างมากที่ต้องหมั่นเรียนรู้ พัฒนาทักษะใหม่ๆ ต่อเนื่องตลอดชีวิต

แต่โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไร ให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะวัยแรงงานได้พัฒนาทักษะใหม่ (reskill) ให้ทันต่อความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น อีกทั้ง ยังมีความแตกต่างระหว่างแรงงาน 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่มีทักษะสูง-รายได้สูง และกลุ่มที่มีทักษะต่ำ-รายได้ต่ำ ปัจจัยด้านการเงินและพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกันจะทำให้แรงงานทั้ง 2 กลุ่ม มีความต้องการและความพร้อมในการเรียนรู้ต่อเนื่องแตกต่างกัน

รัฐจึงควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ต่อเนื่องที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของแต่ละบุคคล และตรงกับความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน

สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศไทยและตระหนักถึงผลกระทบด้านกำลังคนจากสภาวะสังคมสูงวัย รัฐบาลสิงคโปร์ จึงได้ริเริ่มโครงการ SkillsFuture เพื่อสร้างระบบสนับสนุนการเรียนรู้ต่อเนื่องแบบครบวงจรขึ้นในช่วงปี 2014-2015 หนึ่งในโครงการย่อยภายใต้ร่ม SkillsFuture คือ SkillsFuture Credit ที่จัดสรรเงินจำนวน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์แก่ชาวสิงคโปร์ทุกคนที่อายุ 25 ปีขึ้นไป เพื่อใช้ลงเรียนหลักสูตรอบรมต่างๆ เงินอุดหนุนดังกล่าวมาจากงบประมาณรัฐและเงินสมทบจากนายจ้างและมีเงื่อนไขการใช้ คือสามารถใช้กับผู้ให้บริการหลักสูตรอบรมที่ผ่านการรับรองจากรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังสามารถใช้บริการเว็บไซต์ MySkillsFuture เพื่อค้นหาหลักสูตรอบรมต่างๆ ที่สามารถใช้สิทธิอุดหนุนได้ ทำแบบทดสอบประเมินบุคลิกลักษณะของตนเอง และวางแผนเส้นทางอาชีพและแผนการเรียนรู้จากข้อมูลสาขาอาชีพและสมรรถนะที่จำเป็นตามความสนใจของตัวเอง

การขับเคลื่อนโครงการนี้อาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านองค์ประกอบคณะกรรมการระดับสูงที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมของโครงการ อันประกอบด้วยรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงกำลังคน ตัวแทนสถาบันการศึกษาและตัวแทนผู้บริหารองค์กรเอกชน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

เมื่อย้อนมองสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า การอบรมพัฒนาทักษะแรงงานกลุ่มทักษะไม่สูง ยังเข้าถึงแรงงานจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานไทยจำนวน 38.74 ล้านคน โดยมีผู้ได้รับการอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในปี 2561 และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในปี 2560 เป็นจำนวน 589,898 คน และ 4,321,577 คน ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า จำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบการพัฒนาทักษะอื่นๆ จากสถาบันอบรมเอกชนและมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับแรงงานอีกหลายสิบล้านคนที่ไม่ได้รับบริการจากหน่วยฝึกอบรมของภาครัฐ

เมื่อพิจารณารูปแบบและเนื้อหาการฝึกอบรมทักษะของทั้ง 2 หน่วยงานรัฐข้างต้น พบว่า การอบรมของกศน. มุ่งเน้นไปที่การศึกษาเพื่อมีวุฒิการศึกษาพื้นฐานมากกว่าเพิ่มพูนทักษะระดับสูง ส่วนหลักสูตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะมุ่งสร้างทักษะทางอาชีพในบางกลุ่มสาขาเท่านั้น เช่น วิชาชีพช่าง หรือ เกษตรกรรม การอบรมทั้งสองรูปแบบนี้มีประโยชน์มากต่อแรงงานที่มีระดับการศึกษาน้อยและรายได้น้อย แต่อาจไม่ช่วยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในเศรษฐกิจฐานความรู้

นอกจากหลักสูตรการอบรมที่หลากหลายแล้ว แรงงานไทยจำเป็นต้องมี ตัวช่วยในการคัดกรองคุณภาพของหลักสูตรเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเลือกหลักสูตรที่เรียนแล้วใช้ได้จริงและเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ

ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงยังควรให้บริการอบรมดังที่ทำอยู่สำหรับแรงงานที่มีทักษะและรายได้น้อย โดยยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น และเพิ่มบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้สำหรับแรงงานกลุ่มอื่นๆ จัดทำระบบแนะแนวและสร้างฐานข้อมูลเรื่องอาชีพเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจการเลือกหลักสูตรและวางแผนอาชีพ เพิ่มช่องทางการอุดหนุนเงินส่งตรงถึงผู้เรียน ซึ่งอาจมาจากกองทุนสมทบระหว่างรัฐและนายจ้างเช่นเดียวกับสิงคโปร์ และพัฒนาแนวทางขึ้นทะเบียนคอร์สอบรมที่ได้รับเงินสนับสนุนโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ของการเรียนรู้

เป้าหมายสำคัญของการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของรัฐควรเป็นการส่งเสริมให้คนไทยทุกคนสามารถพัฒนาทักษะตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ช่วงอายุใด ทำงานสาขาอาชีพไหน และมีระดับการศึกษาหรือไม่ เพราะในโลกที่ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยืนยาว โอกาสในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานควรเป็นสิทธิที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้ 

โดย... ณัฐนันท์ อมรานันทศักดิ์