คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return (2)

คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return (2)

การท่องเที่ยวเป็นอนาคตของประเทศ รายได้ในอนาคตของประเทศจำนวนมหาศาลจะมาจากการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวให้ผลตอบแทนที่สูง

แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงสูงเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากทางด้านเทคโนโลยีในโลกยุคดีสรัปชั่น (Disruption World) เทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)เศรษฐกิจการแบ่งปัน (Sharing Economy) การตลาดออนไลน์ อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ

ปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่หลายวงการกำลังเผชิญหน้าด้วยความหวั่นเกรง ก็คือ Sharing Economyซึ่งทุกวันนี้กำลังมีบทบาทสำคัญและพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจสาขาการท่องเที่ยวด้วย เราเริ่มเห็นสัญญาณ Sharing Economy กำลังดีสรัปธุรกิจการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมนักท่องเที่ยวต่างหันมาใช้แพลตฟอร์ม Sharing Economyมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Airbnb UBER หรือ Grab เพราะคนรุ่นใหม่นิยมเดินทางด้วยตนเองมากขึ้น ความรู้สึกอยากเข้าไปพักบ้านคนในชุมชนแทนการพักที่โรงแรมนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ วัฒนธรรมพื้นถิ่นและผู้คน นอกจากนั้นยังเป็นเพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ชอบความสะดวกสบาย คุ้นเคยกับการจองผ่านระบบดิจิทัลซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวดเร็วแน่นอนและสามารถใช้จ่ายแบบไร้เงินสดได้

ข้อดีของ Sharing Economy ต่อการท่องเที่ยวก็คือ ประเทศไทยจะมีดีมานด์หรือความต้องการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โอกาสมีอย่างมากมายมหาศาลรอให้ไขว่คว้า นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้เพิ่มขึ้นเพราะไม่ถูกจำกัดจากจำนวนห้องพักของโรงแรมในช่วงเทศกาล ถ้าหากว่าผู้คนในชุมชนนั้นๆสามารถเปิดบ้านให้เช่าต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งไม่ถูกจำกัดจากจำนวนเที่ยวรถโดยสารสาธารณะ หรือการเข้าถึงของรถโดยสารสาธารณะ เมื่อประชาชนในท้องที่สามารถนำรถส่วนตัวมาให้บริการสาธารณะได้

แม้ว่า Sharing Economy จะมีข้อดีดังที่กล่าวมา แต่ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ต้องพึงระวังด้วย โดยมีความเสี่ยงที่สำคัญ3 ประการคือ

1) ความเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสหากไม่สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม Sharing Economyแม้ว่านักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามามากหากผู้ประกอบการรายย่อยของไทยไม่สามารถปรับโมเดลธุรกิจหรือไม่สามารถปรับตัวเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์ม Sharing Economy ได้ ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

2) ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มได้แล้วก็ตาม แต่คำถามสำคัญก็คือเม็ดเงินรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกอยู่กับใคร หากรายได้ส่วนใหญ่ไปตกที่เจ้าของแพลตฟอร์ม ผลประโยชน์ก็จะไหลไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งแพลตฟอร์มด้านที่พักอาศัย แพลตฟอร์มด้านการขนส่ง แพลตฟอร์มด้านการชำระเงิน ในขณะที่ประเทศไทยจะเป็นเพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวที่ต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มี แถมเรายังต้องมารับภาระด้านต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการท่องเที่ยวนั้นเสียอีกด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ มลพิษ ฝุ่นละออง เสียงรบกวน

3) ความเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนในการกำกับดูแลจากภาครัฐซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากในปัจจุบันSharing Economy ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการรองรับทางกฎหมายในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับอีกหลายประเทศความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการวางโมเดลธุรกิจและปรับตัวลำบาก

ในโลกยุคอนาคต Sharing Economy เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากเรื่องนี้ไม่ได้ สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ บริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ซึ่งมีแนวทางที่ทำได้หลากหลายวิธี เช่นหนึ่งในแนวทางที่ใช้ได้ผลมาแล้วในต่างประเทศ คือการพิจารณาทำให้ Sharing Economy ถูกต้องตามกฎหมายโดยมีการกำกับดูแล การจำกัดระดับปริมาณการบริการที่เหมาะสม เช่น จำนวนชั่วโมงของการให้บริการขับรถ จำนวนวันที่อนุญาตให้เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวมาพักบ้านได้ ดังตัวอย่างบริษัท Airbnb เติบโตอย่างรวดเร็วจากธุรกิจนำที่พักส่วนบุคคลออกให้นักท่องเที่ยวเช่าพักได้ กรณีนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้บริหารจัดการโดยผ่านกฎหมายธุรกิจให้เช่าห้องพักโดยให้สิทธิ์รัฐบาลท้องถิ่นควบคุมการนำที่พักส่วนบุคคลให้นักท่องเที่ยวเช่าพัก อาทิ ให้เช่าได้เฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ จำกัดจำนวนวันให้เช่าห้องไม่เกิน 180 วันต่อปี กฎหมายของญี่ปุ่นยังกำหนดให้เจ้าของห้องที่ต้องการนำที่พักออกให้เช่ามาขึ้นทะเบียนกับทางการท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจากไฟไหม้รวมถึงตรวจประวัติของเจ้าของห้อง รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่นยังสามารถกำหนดข้อบังคับต่างๆ เฉพาะได้ เช่น เขตชิบุยะในกรุงโตเกียวอนุญาตให้เช่าห้องเฉพาะช่วงปิดเทอมเพื่อไม่ให้เด็กนักเรียนต้องพบกับคนแปลกหน้าในเส้นทางที่ไปโรงเรียน

นอกจากนี้ประเทศไทยอาจพิจารณากำหนดเกณฑ์มาตรฐานการบริการ มาตรฐานด้านความปลอดภัย มาตรฐานด้านสุขอนามัยตัวอย่างเช่นเรื่องแพลตฟอร์มการขนส่งต่างๆ นอกจากจะต้องเร่งพิจารณาแนวทางตามกฎหมายแล้ว ควรนำคนขับและรถมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้คนขับผู้ให้บริการมาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อบันทึกประวัติ รวมถึงกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ที่จะนำมาให้บริการ รวมถึงกำหนดเกณฑ์เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การทำความสะอาดรถเป็นประจำเพื่อให้ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย พร้อมๆไปกับการเสริมสร้างศักยภาพ (empowerment) การพัฒนาคุณภาพและทัศนคติด้านการบริการ

เมื่อมีมาตรฐาน กฎเกณฑ์ที่แน่นอนแล้ว ประเทศไทยควรพิจารณาการพัฒนาแพลตฟอร์ม Sharing Economy เป็นของตัวเองด้วยการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้านต่างๆ เพื่อให้แพลตฟอร์มนี้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โอกาสมาถึงมือเราแล้ว เราพร้อมจะร่วมกันคว้ามันไว้หรือยัง?

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation