ทำไมเราจึงต้องมองไปในอนาคต

ทำไมเราจึงต้องมองไปในอนาคต

ทำไมเราจึงต้องกังวลเกี่ยวกับอนาคต? เพราะการละเลยอนาคตจะทำให้เราไม่เห็นโอกาสและภัยคุกคาม การไม่มองอนาคต คือการตั้งอยู่ในความประมาท

เพราะอาจเกิดวิบัติการณ์ในอนาคตที่อาจทำให้เกิดต้นทุนที่สูงเกินกว่าที่เราจะรับได้

เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการมองอนาคตโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศระดับโลก คือศาสตราจารย์ซาริตาส จากมหาวิทยาลัยNational Research University Higher, School of Economics (HSE) ประเทศรัสเซีย และ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้กำกับและเป็นพี่เลี้ยงประชุมปฏิบัติการ

ศาสตราจารย์ซาริตาสเล่าว่า อนาคตศาสตร์เกิดขึ้นสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ และเป็นได้นำมาประยุกต์ใช้กันในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ในระยะเวลาเริ่มแรกก็จะมีแต่สหรัฐและรัสเซียที่ดวลกันในสงครามเย็นเป็นกลุ่มแรกแรกที่สนใจ ต่อมาในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงทำให้อนาคตศาสตร์นำมาประยุกต์ใช้ในด้านการคาดการณ์เศรษฐกิจต่อมาในคริสต์ทศวรรษที่80และ90 เป็นยุคที่นวัตกรรมเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น อนาคตศาสตร์นำมาใช้ประยุกต์ในการมองอนาคตเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่โลกเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 อนาคตศาสตร์เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และได้นำมาใช้เกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เช่นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์มองเห็นความขาดแคลนทรัพยากรที่จะเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและทำให้ประมาณ 50% ของพื้นที่เกษตรของโลกได้รับผลกระทบและจะต้องมีความต้องการน้ำและอาหารเพิ่มขึ้นอีก 55-60% และภายใน ค.ศ.2050 ตามลำดับ การวางแผนที่เกี่ยวโยงกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศการใช้น้ำการใช้พลังงานและดีมานด์ซัพพลายของอาหารจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจกันมากในระดับโลก

ที่จริงมนุษย์สนใจอนาคตมาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว ในอดีตทั้งพม่าและไทยก็ได้มีโหรในการทำสงคราม ในนิทานและตำนานก็มักจะมีเรื่องราวถึงพระราชาที่กำจัดรัชทายาทของพระองค์เองเมื่อโหรทำนายว่าจะเป็นภัยต่อบัลลังก์ของตน หรือแม้แต่ในการคาดการณ์ชีวิตของคนธรรมดาเราก็มักจะไปถามหมอดูว่าเมื่อไหร่จะรวยสักที หรือเมื่อไหร่จะมีคู่สักที

แต่การศึกษาอนาคตที่เป็นศาสตร์เป็นการประยุกต์ใช้การคิดอย่างมีระบบซึ่งจะต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลเกี่ยวเนื่องกันที่ซับซ้อนแต่มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์นี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสามารถที่จะคาดการณ์อนาคตในความน่าจะเป็นระดับต่างๆจนกระทั่งไปถึงการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน อย่างไรก็ดีอนาคตศาสตร์ไม่ได้มองอนาคตว่ามีอยู่หนึ่งเดียว แต่เป็นการมองแบบพหุอนาคตเช่น อนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นได้ (Probable future)เป็นอนาคตที่คาดการณ์จากแนวโน้มปัจจุบันอนาคตที่เชื่อว่าเป็นไปได้ (Plausible future)คือ อนาคตที่คาดหมายในปัจจุบัน รวมทั้งอนาคตที่อยากให้เกิดขึ้น (Preferable future) ตามคุณค่าและค่านิยมที่ต้องการ หรือเมื่อวางแผนเราเรียกอนาคตนี้ว่าVision(ดูรูปที่ 1) นอกจากนี้ อนาคตศึกษายังให้ความสำคัญต่อธรรมชาติของระบบ ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยที่แตกต่างกันที่เรารู้จักกันใน ตัวย่อว่า STEEPVซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยทางสังคมเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและคุณค่าหรือวัฒนธรรมจึงเป็นการมองภาพที่รอบด้าน

ทำไมเราจึงต้องมองไปในอนาคต

การคาดการณ์ในอนาคตจึงอาจจะสามารถช่วยให้เราหัดคิดนอกกรอบ เห็นสัญญาณของแนวโน้มใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ และจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อนำไปสู่การกำกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล สร้างวิสัยทัศน์ สร้างเครือข่าย เตรียมตัวสำหรับวิกฤตที่ยังมาไม่ถึง ตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ และการสร้างนโยบายสาธารณะที่ดีที่ผ่านมา การสร้างวิสัยทัศน์ของเราคือ การมองภาพเพื่อแก้ปัญหาปัจจุบัน แต่ไม่ได้ดูว่าในระหว่างการเดินทางสู่ความสำเร็จนั้นจะต้องประสบกับความไม่แน่นอนอย่างไรบ้างทั้งๆ ที่ในระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองไทยนั้นมีความไม่แน่นอนสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ

ในการประชุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมได้ทดลองสร้างอนาคตที่อาจจะเป็นไปได้ แล้วนำภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น สะท้อนมาเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ เช่น 

ทำไมเราจึงต้องมองไปในอนาคต

ข่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตใหม่และการเตรียมตัวเข้าสู่อนาคตของคนไทย 4.0

มาติดตามเรื่องการมองอนาคตกันต่อในคราวหน้านะคะ (เอกสารประกอบการบรรยายของศาสตราจารย์ซาริตาสดาวน์โหลดฟรีได้ที่http://www.khonthai4-0.net/)