โซเชียลมีเดียกับช่องว่างระหว่างวัย

โซเชียลมีเดียกับช่องว่างระหว่างวัย

ถ้าท่านผู้ปกครองพ่อแม่รู้สึกรำคาญวัยรุ่นที่หมกมุ่นกับโซเชียลมีเดียในโทรศัพท์มือถือ วัยรุ่นเขาก็รำคาญท่านตลอดจนปู่ย่าตายายเหมือนกัน

ที่ไม่ประสีประสาในเรื่องเช่นนี้เลย ความตึงเครียดระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องจริงในปัจจุบันที่ทำให้เกิดช่องว่างมากยิ่งขึ้นจนอาจนำไปสู่ปัญหาที่ไม่พึงปรารถนาได้ในอนาคตอันใกล้

นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 2 คนได้เขียนหนังสือชื่อ “It’s complicated” (Danah Boyd, 2014) และ “Why We Post” (Daniel Miller และคณะ, 2017) เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างสองวัยนี้ในเรื่องโซเชียลมีเดีย โดยสัมภาษณ์วัยรุ่นจำนวนมากในหลายประเทศและให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์

โซเชียลมีเดีย (Social Media) คือเครื่องมือที่มีคอมพิวเตอร์เป็นฐานในการสร้างและช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดข่าวสาร ฯลฯ ระหว่างผู้คนผ่านการสร้างเน็ตเวิร์คเเละชุมชนเสมือน

การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของมนุษย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อมีการสื่อสารผ่านโทรเลขในทศวรรษ 1840 และผ่านโทรศัพท์ในปี 1876 ต่อมาอีกร้อยปีเศษเมื่อมีการใช้คอมพิวเตอร์กันกว้างขวางขึ้นก็เกิดเครือข่ายต่างๆ ขึ้นเช่น Plato systemในปี 1960 ARPANET ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารออนไลน์ในปี 1967 และพัฒนาเพิ่มมากขึ้นทุกทีในศตวรรษ 1980 และ 1990 จนในที่สุดเกิดเครือข่ายที่ใช้งานได้สะดวกขึ้นมากมาย เช่น Myspace (2003), Facebook (2004) หรือ Yahoo (2005) ฯลฯ

ถือได้ว่าโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในสังคมโลกประมาณ 19 ปีมาแล้ว และแพร่กระจายไปทั่วโลกเมื่อเกิดโทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถสูงขึ้น (สมาร์ทโฟนของ iPhone เปิดตัวในปี 2007) มีประมาณการว่าในปัจจุบันมีจำนวนบัญชีของผู้ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ประมาณ 2,770 ล้าน (ร้อยละ 40 ของประชากรโลกซึ่งมีอยู่ 7,000 ล้านคน) โดยเพิ่มจาก 2,460 ล้านในปี 2017

ณ เดือน ก.ค.2018 Facebook เป็นที่นิยมที่สุดในโลกมากเป็นอันดับ 1 มีผู้ใช้ประมาณ 2,270 ล้านคน อันดับ 2 คือ YouTube (1,900 ล้านคน) อันดับ 3 คือ WhatsApp (1,500 ล้านคน) ส่วน Line (ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ) ที่บ้านเรานิยมกันมากนั้นอยู่ลำดับ 18 มีผู้ใช้ 203 ล้านคน

ในเรื่องความขัดแย้งของคนต่างวัยนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองเฝ้าดูความคลั่งไคล้โซเชียลมีเดียด้วยความเป็นห่วงเพราะมีภัยอยู่มากมาย ทั้งภัยต่อร่างกายจากการถูกล่อลวงและภัยทางใจที่เกิดจากการอ่านและดูสิ่งซึ่งไม่เหมาะสมแก่วัยจนอาจชักนำไปสู่เส้นทางที่ผิด อีกทั้งหวาดหวั่นการเสื่อมเสียชื่อเสียงจากรูปถ่าย การใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมต่อสาธารณะ การสูญเสียเวลาสำหรับการเรียนหนังสือซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความห่วงใยที่มีเหตุผลและมีหลักฐานสนับสนุนในขณะที่วัยรุ่นเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

อย่างไรก็ดี ผู้ใหญ่ซึ่งล้วนเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อนต้องไม่ลืมว่าวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นอยากลองและการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียก็เป็นการกระทำในเนื้อแท้ที่ไม่ต่างไปจากคนรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้า เพียงแต่คนละรูปแบบเท่านั้นเอง สมัยก่อนใช้นกพิราบสื่อสารส่งจดหมายผ่านคนกลางส่งผ่านไปรษณีย์ ส่งเสียงผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ฯลฯ

ปัจจุบันวัยรุ่นใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือของการสื่อสารเชื่อมต่อถึงกันด้วยความเร็วสูงตอบกลับไปมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ถึงอย่างไรก็ดำเนินไปภายใต้แรงจูงใจที่เหมือนกัน

มนุษย์มีหน้าตาท่าทางและลักษณะการเดินเหินเหมือนมนุษย์ปัจจุบันมาประมาณ 1.5 แสน-2 แสนปี และเพิ่งมีบทบาทสำคัญในโลกเมื่อประมาณ 7 หมื่นปีมานี้เอง ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ชายถูกผลักดันด้วยแรงธรรมชาติดังนี้ 1.การขยายเผ่าพันธุ์ (procreation) 2.ต้องการเป็นใหญ่ในครอบครัว 3.ต้องการมีเวลาและ “พื้นที่” เป็นของตนเอง 4.ต้องการความตื่นเต้น

ส่วนผู้หญิงนั้นต้องการ 1.ความมั่นคงในชีวิต 2.ความจงรักภักดี 3.ความซื่อสัตย์ 4.ความรักและเห็นอกเห็นใจ

ผู้ชายถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการทางเพศจนบางคนตำแหน่งของสมองอยู่ผิดที่ ต้องการมีเวลาและ “พื้นที่” เป็นของตนเอง (มีเวลาไปเที่ยวเล่นคนเดียว มีโอกาสไปสังสรรค์เฮฮากับเพื่อน มี “ของเล่น”) ต้องการเป็นหนึ่งและต้องการความตื่นเต้น ส่วนหญิงซึ่งเป็นเพศที่ต้องดูแลลูก ต้องการความมั่นคง ความรักและจงรักภักดีเพราะเป็นหนทางแห่งการอยู่รอด

แต่ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม สิ่งที่ต้องการของมนุษย์ทุกคนคือ 1.การยอมรับจากผู้อื่น2.การยอมรับความมีตัวตนในสังคม 3.เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทั้งหมดนี้ผ่านการสานสัมพันธ์กับผู้อื่น

Aristotle กล่าวไว้เมื่อ 2,500 ปีก่อนว่า “Man is by nature a social animal” หรือ มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม” ซึ่งหมายถึงว่ามนุษย์ปรารถนาที่จะสานสัมพันธ์กับผู้อื่นและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผ่านการยอมรับเสมอ

หนังสือทั้ง 2 เล่มดังกล่าวได้ศึกษาและพบว่าการส่งข้อความผ่านโซเชียลมีเดียของวัยรุ่นก็คือการกระทำตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการมีตัวตนได้รับการยอมรับจากเพื่อน ต้องการมี “พื้นที่” ต้องการสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ เพียงแต่ใช้เครื่องมือที่ต่างออกไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ผู้ใหญ่และวัยรุ่นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่วัยรุ่นในเวลาต่อไปได้นั้น ผู้ใหญ่ต้องพยายามเข้าใจวัยรุ่นว่าการใช้โซเชียลมีเดียนั้นมิใช่ความชั่วร้าย หากเป็นไปตามธรรมชาติของวัยและของความเป็นมนุษย์

ผู้ใหญ่ต้องพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขาและมีความเห็นอกเห็นใจอย่างมีความเมตตา คนในวัยนี้ที่ไม่เป็นทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็ทำตัวยากอยู่แล้ว หากผู้สูงวัยกว่าไม่ช่วยชี้นำอย่างเคารพในความเป็นส่วนตัวของเขาให้ผ่านวัยนี้ไปได้ด้วยดีแล้ว โซเชียลมีเดียก็จะเป็นดาบที่ทิ่มแทงทำร้ายเขา

ผู้ใหญ่และวัยรุ่นต้องช่วยกันขจัดความตึงเครียดและช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดจากโซเชียลมีเดีย โดยทำให้อีกคมหนึ่งของดาบนั้นเป็นสิ่งฟาดฟันอุปสรรคของการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในช่วงวัยรุ่นให้จงได้