จะแก้ปัญหาการเสพติดให้ได้ผลจริงได้อย่างไร

จะแก้ปัญหาการเสพติดให้ได้ผลจริงได้อย่างไร

หนังสือ Unbroken Brain (สมองที่ไม่แตกหัก-วิธีใหม่แนวปฏิวัติในการเข้าใจเรื่องการเสพติด) ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาการเสพติด

 ที่ก้าวหน้ากว่าแนวคิดกระแสหลักที่เน้นการปราบปรามและลงโทษ Maia Szalavitz ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ที่เคยติดยาสมัยวัยรุ่น (ทั้งที่เป็นนักเรียนเรียนดี เข้ามหาวิทยาลัยระดับนำได้) หลังจากที่เธอได้รับการบำบัดจนเลิกเสพติดได้ เธอได้ค้นคว้างานวิจัยเรื่องนี้ และใช้ประสบการณ์จริงเขียนหนังสือเล่มนี้ที่กลายเป็นหนังสือขายดีที่ได้รับการยกย่องสูง

แนวคิดสำคัญคือ การเสพติดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งเหล้า บุหรี่ การพนัน ฯลฯ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่บกพร่อง(Learning Disorder) ของคนบางคน ส่วนใหญ่เกิดในช่วงวัยรุ่นที่สมองยังพัฒนาได้ไม่มากพอที่จะควบคุมความอยากเสพบางอย่างเพื่อความสนุก ความตื่นเต้น ความพอใจ การคลายเครียด การตอบสนองต่อความต้องการทางสังคมบางอย่าง (เช่น การได้รับความรัก, การยอมรับจากเพื่อนในกลุ่ม) รวมทั้งปัญหาการขาดทักษะในการจัดการกับปัญหาทางความคิด จิตใจ อารมณ์ ภาพใหญ่คือเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ เพราะคนที่ทดลองเสพยาแล้วติด เรียนรู้ว่ามันสร้างความสุขความพอใจให้เขา แต่เป็นการเรียนรู้ที่บกพร่อง เพราะการเสพติดให้ความพอใจแค่ชั่วคราว แต่มีผลเสียมากกว่าในระยะยาว

เมื่อคนติดสิ่งเสพติด พวกเขาจะหาช่องทางเสพเพื่อสนองความต้องการของเขาอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้แต่คนที่รู้ถึงพิษภัยความเสี่ยงของมันก็ตาม ดังนั้น การที่รัฐมองว่าคนติดสารเสพติดเป็นอาชญากรและใช้วิธีปราบปรามจับกุม ลงโทษ จึงไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ ว่าอะไรคือปัจจัยทำให้คนติดสารเสพติด การที่สังคมมองว่าคนติดสารเสพติดเป็นโรคภัยอย่างหนึ่ง และการที่ศาล (สหรัฐ) สั่งให้ผู้โดนคดีครอบครองสารเสพติดต้องไปรับการบำบัดที่สถานบำบัดเอกชนยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงและคุณภาพของสถานบริการที่ยังไม่ดีนัก ทำได้เพียงบางส่วนและได้ผลจำกัด การบำบัดคนเสพติดของคลินิกเอกชนออกจะกลายเป็นธุรกิจหาเงินมากไปด้วย

ในสหรัฐใช้ความคิดและวิธีการแก้ปัญหาที่จารีตนิยมล้าหลัง ยิ่งปราบ ยาเสพติดก็ยิ่งระบาดมากขึ้น เพราะคนที่เสพติดแล้วหาช่องทางได้เสมอ คนอเมริกันติดคุกเป็นสัดส่วนต่อประชากรมากกว่าประเทศอื่นๆ และคนเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนด้วย เธอวิจารณ์ว่านโยบายการปราบปราม แก้ปัญหายาเสพติดในสหรัฐ ลึกๆ แล้วเป็นเรื่องการมุ่งจับผิดคนจนโดยเฉพาะคนผิวดำ มากกว่าเพื่อการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ

ปัญหาการเสพติดมาจากสาเหตุทั้งทางสังคม วัฒนธรรม ความยากจน ได้รับการศึกษาน้อย มาจากครอบครัวที่ยากลำบาก การเลี้ยงดูเด็กมีปัญหา ใช้ความรุนแรง ขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการทำให้เด็กมีปัญหาพัฒนาการทางสุขภาพจิตที่บกพร่องหรือผิดปกติในบางเรื่อง ทำให้วัยรุ่นบางคนที่มาจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะลองและติดยาเสพติดมากกว่าวัยรุ่นที่มาจากสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ครอบครัวคนรวย คนชั้นกลาง บางครอบครัวและหรือสภาพแวดล้อมในชุมชน สังคม บางแห่งก็อาจสร้างปัญหาแรงกดดัน สร้างปัญหาด้านความคิดจิตใจให้เด็กบางคนไปเสพติดได้ด้วยเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยบางอย่างเช่น การได้รับความรัก ความเอาใจใส่ การสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว เพื่อน คนรัก การได้เข้าโรงเรียนดี มีงานที่เหมาะสมทำ เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนเรียนรู้ใหม่ที่จะเลิกการเสพติดได้มากกว่าวิธีการจับคนเสพติดยาไปขังคุกและหรือการบำบัดด้วยวิธีการบังคับ วิธีการลงโทษ ซึ่งยิ่งทำให้คนรู้สึกต่อต้าน และเรียนรู้วิธีที่จะต่อต้านหลีกเลี่ยงกฎหมายได้เก่งขึ้น

การบังคับ การขู่ ความกลัว ไม่ช่วยการเรียนรู้ ตามหลักจิตวิทยาคนเราจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่อได้รับการปฏิบัติต่อด้วยความรัก ความเห็นใจ ความนับถือ มีบรรยากาศที่ส่งเสริมและท้าทายให้เขามีสิทธิเลือกและอยากเรียนรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขา

คนที่ติดสารเสพติดแต่ละคนมีปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะ บางคนมีความบกพร่องด้านพัฒนาการอื่นๆ ด้วย ที่ควรได้รับการศึกษาและบำบัดเป็นรายๆ ไปอย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละคน ไม่ใช่ใช้วิธีการเดียวกันแบบทั่วไป ควรปฏิรูปการบำบัดแบบใจกว้างเพิ่มขึ้น มองว่าผู้เข้ารับการบำบัดเป็นนักเรียนที่ควรเรียนรู้ใหม่ด้วยแรงจูงใจ การเลือกความเข้าใจของเขาเอง มากกว่ามองว่าเขาเป็นนักโทษ อาชญากร คนไข้ หรือผู้ทำผิดศีลธรรม วิธีการแบบค่อยๆ ลดอันตรายจากการเสพ (Harm Reduction) เป็นแนวคิดใหม่ที่ได้ผลดีกว่าการใช้วิธีการแบบหักดิบที่พยายามให้คนเสพติดต้องเลิกโดยทันที

โครงการป้องกันเด็กไม่ให้ติดยาเสพติดโดยการเน้นการอธิบายพิษภัยยาเสพติดชนิดต่างๆ นั้นไม่ได้ผลเท่ากับการจัดอบรมด้านจิตวิทยาที่มุ่งช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะพัฒนาความคิดจิตใจของตนเองในการควบคุม จัดการกับปัญหาทางอารมณ์ และด้านจิตใจต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญในวัยต่างๆ ในสภาพแวดล้อมต่างๆ การช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ว่าการมีภาพพจน์ต่อตัวเองในทางลบนั้นเป็นผลเสียมากกว่าการพยายามมองตัวเองในแง่บวก ได้เรียนรู้ว่าคุณสมบัติที่ดีของคนเรา เช่น เรื่องความฉลาด ขยัน เป็นคนมีเมตตา ไม่ใช่เรื่องที่มีมาแต่กำเนิดหรือตายตัวอยู่กับที่ หากแต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพัฒนาขึ้นได้

เด็กที่มีโอกาสได้เรียนรู้พัฒนาการตัวเขาในทางบวกจะมีวินัยในตนเอง ควบคุมการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่นของตัวเองได้ดีขึ้น ฉลาดพอที่จะหลีกเลี่ยงยาเสพติดได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องไปเน้นวิธีการแบบสั่งสอนโฆษณาความเลวร้ายของยาเสพติด (การโฆษณาซ้ำซากมากไปเด็กอาจไม่เชื่อ หรือยิ่งไปกระตุ้นให้พวกเขาอยากทดลองด้วยตัวเอง) โครงการบำบัดเยียวยาแนวใหม่ที่ใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ของคนในแนวเสริมแนวบวกหรือแนวปกป้องนี้ได้ผลดีกว่าการบำบัดแบบเก่าที่เน้นการบังคับ สั่งสอน เน้นการทำให้คนรู้สึกผิด บาป ฯลฯ (วิทยากร เชียงกูล พลังการคิดในทางบวก ควอลิตี้บุ๊คส์ 2562)

แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสพติดโดยสรุปคือ 1.แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบและนโยบายเรื่องการป้องกันปราบปรามปัญหาการเสพติดให้มีความยืดหยุ่น ใจกว้าง สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง (วิธีคิด พัฒนาการ พฤติกรรมมนุษย์) เพิ่มขึ้น เช่น ถือว่าคนติดยาเป็นคนป่วย ไม่ใช่อาชญากร ในยุโรปบางประเทศเมื่อตำรวจตรวจพบคนที่มียาไว้บริโภคส่วนตัวไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะไม่ถูกจับว่าเป็นคนขาย เพียงแต่บันทึกไว้ว่าเป็นคนป่วย และแนะนำให้ไปเข้ารับการบำบัด 2.การปฏิรูปวิธีการบำบัดเยียวยาผู้เสพติด โดยเน้นความใจกว้าง ความรัก ความเมตตา การให้เกียรติ ไว้วางใจ สนับสนุนให้ผู้เรียนรู้ค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตนเอง 3.วิจัยและใช้แนวทางแก้ไขปัญหาการเสพติดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผลจริงเพิ่มขึ้น