มีประชาธิปไตยแล้วคนไทยจะเป็นสุข?

มีประชาธิปไตยแล้วคนไทยจะเป็นสุข?

นับตั้งแต่วันที่คนไทยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่บรรยากาศที่สัมผัสได้ไม่ว่าจะเป็นโลกจริงหรือโลกออนไลน์

ก็ดูไม่ต่างจากช่วงก่อนเลือกตั้งสักเท่าไหร่ อารมณ์ความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายมีให้เห็นเป็นประจำ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยใช้เป็นที่ระบายด้านมืดของตนเองออกมาเพื่อทำลายคนที่เห็นต่างทางการเมือง ความคาดหวังว่าเลือกตั้งแล้วคนไทยจะเป็นสุข ทำไปทำมาชักไม่เหมือนกับที่คุยกันไว้เสียแล้ว

หรือว่าประชาธิปไตยกับความสุขจะไม่ได้ไปด้วยกัน?

หากเราเชื่อในพลังของประวัติศาสตร์ เชื่อในความคล้ายกันเกี่ยวกับพื้นฐานของสังคมมนุษย์ บางทีเราอาจจะต้องถอยหลังไปสักหลายก้าว แล้วลองดูภาพใหญ่กันว่า ในโลกใบนี้ประชาธิปไตยกับความสุขสามารถก้าวไปด้วยกันได้จริงหรือไม่

เรื่องนี้ถ้าจะเถียงกันร้อยวันก็ไม่จบ ลองมาดูข้อมูลกันดีกว่าว่าสถิติเกี่ยวกับประชาธิปไตยและความสุขของประเทศต่างๆ ในโลกนี้มีความสัมพันธ์กันยังไง

ข้อมูลระดับความสุขได้มาจากรายงานความสุขโลกปี 2561 ที่จัดทำโดยเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ส่วนดัชนีประชาธิปไตยก็เป็นข้อมูลปีเดียวกัน ได้มาจาก ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ดัชนีทั้งสองตัวนี้มีคะแนนระหว่าง 1 ถึง 10 เหมือนกัน คะแนนยิ่งสูง ยิ่งมีความสุข มีความเป็นประชาธิปไตยสูง

มีประชาธิปไตยแล้วคนไทยจะเป็นสุข?

พอเอาข้อมูลทั้งสองชุดนี้มาลงจุดและสร้างเส้นแนวโน้มตามที่แสดงไว้ในรูป จะเห็นว่ามีเรื่องสำคัญ 3 เรื่องที่รูปนี้พยายามบอกเรา

เรื่องแรก ความสุขกับประชาธิปไตยวิ่งไปทางเดียวกัน ประเทศที่มีคะแนนดัชนีประชาธิปไตยสูงส่วนใหญ่มักมีคะแนนดัชนีความสุขสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ก็พอสรุปได้ว่าประชาธิปไตยกับความสุขมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันจริง แต่บอกไม่ได้ว่าประชาธิปไตยทำให้คนเป็นสุข หรือคนมีความสุขถึงได้มีประชาธิปไตย

เรื่องที่สอง เส้นแนวโน้มที่แสดงไว้ไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่เป็นเส้นโค้งที่มีการขึ้นลง สะท้อนให้เห็นว่า การจะให้ประชาธิปไตยนำความสุขกลับมาให้กับคนในประทศไม่ใช่เรื่องที่ทำได้รวดเดียวจบ คนในประเทศจะต้องผ่านบททดสอบไปพร้อมกัน การสอบตกหรือสอบผ่านในเรื่องนี้จึงไม่ประเมินจากคนเพียงคนเดียว หรือกลุ่มคนที่เชียร์พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นบททดสอบร่วมกันของคนทั้งประเทศ ถ้าตกเราก็ตกด้วยกัน ถ้าจะผ่านเราก็ต้องผ่านมันไปด้วยกัน และแน่นอนว่า ถ้ายังตีกันแบบนี้ เรื่องสอบผ่านอย่าได้หวังเลย

เรื่องสุดท้าย แม้แต่ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดอย่างฟินแลนด์ซึ่งมีคะแนนดัชนีประชาธิปไตย 9.14 คะแนน คะแนนดัชนีความสุขที่ได้ก็แค่ 7.63 คะแนน คะแนนระดับนี้แม้ว่าจะสูงแต่ก็ไม่ถือว่าสูงมากนัก ดังนั้นการตั้งความหวังไว้ว่าประชาธิปไตยกลับมาแล้วชาวประชาจะยิ้มออกนั้น ออกจะเป็นการฝันไกลเกินไป

ข้อมูลที่นำมาเสนอในบทความนี้ ต้องการบอกเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่รู้อยู่แก่ใจดีอยู่แล้ว กลับปล่อยให้อารมณ์เข้ามาบดบังความสามารถในการใช้เหตุผลอย่างเป็นกลางคือภูเขาลูกใหญ่ที่คนไทยต้องจับมือข้ามไปด้วยกัน แม้ว่าแผ่นดินไทยยังไม่ได้ถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ แต่สังคมกลับโดนฉุดทึ้งจนฉีกขาดเสียหายอย่างรุนแรงไปเรียบร้อยแล้ว

เราลืมไปหรือว่า การด่าทอไม่ใช่ประชาธิปไตย การเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่างเข้ามาอยู่ในใจมันไม่ใช่ประชาธิปไตย

การที่คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแล้วคนที่คิดต่างไม่เป็นประชาธิปไตย มันไม่ใช่ความคิดของคนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยเลยสักนิด ฐานคิดแบบนี้มันเป็นฐานคิดของเผด็จการโดยแท้ ตราบใดที่ฐานคิดยังไม่เปลี่ยน จะเลือกตั้งอีกกี่ครั้งเราก็ยังติดหล่มกันอยู่แบบนี้ เพราะการพกเผด็จการทางความคิดไปลงคะแนน แล้วหวังว่าจะได้ประชาธิปไตยเต็มใบมันไม่มีวันเกิดขึ้นจริง เหมือนกับที่ มหาตมะ คานธี เคยกล่าวไว้ว่า

 “หากมีการอาฆาตมาดร้าย จนคนต้องล้มตาย เด็กต้องกลายเป็นกำพร้า ชาวประชาไร้ที่พักพิง ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นในนามของประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ไม่ได้มีอะไรต่างกัน