รัฐบาลกับตลาดหุ้น

รัฐบาลกับตลาดหุ้น

อีกประมาณหนึ่งเดือนก็จะได้ทราบกันว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

 รัฐบาลจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองกี่พรรค พรรคไหนบ้าง มีเสียงสนับสนุนเท่าไร คณะรัฐมนตรีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ใครจะได้ดูแลกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนมีความสำคัญ เพราะจะเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป และทิศทางตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปี

โจทย์ด้านเศรษฐกิจสำหรับรัฐบาลใหม่ถือว่าท้าทายมาก เพราะต้องเข้ามาบริหารประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ล่าสุด IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3.3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.9% สำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจภายในที่ใหญ่และเข้มแข็งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สำหรับไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ที่เป็นทั้งผู้นำเข้าสินค้าอันดับหนึ่งและนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของเรา จะส่งผลกระทบค่อนข้างสูง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกถึงเกือบ 70% ของ GDP และรายได้จากการท่องเที่ยวอีกกว่า 10% ของ GDP

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ยังต้องเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพ เพราะน่าจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่มีเสียงปริ่มน้ำ และอาจมีปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพราะกระทรวงเศรษฐกิจน่าจะถูกแบ่งโควต้าให้หลายพรรคการเมือง ปัญหาที่อาจตามมาคือขาดการบูรณาการด้านนโยบาย และการทำงานแบบ “ไซโล” หรือ ต่างคนต่างทำ กระทรวงใครกระทรวงมัน ซึ่งอาจทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

ความเชื่อมั่นที่เริ่มถดถอยของผู้บริโภค นักลงทุน และนักธุรกิจ ซึ่งวัดจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนการเลือกตั้ง และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่เริ่มหดตัว ยิ่งทำให้ภารกิจของรัฐบาลใหม่ยากขึ้นไปอีก ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ

ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องทำเป็นอันดับแรก คือเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ โดยการคัดสรรบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับของสังคมมาทำหน้าที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ประกาศเดินหน้าสานต่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลที่แล้ว เช่น โครงการ EEC รวมทั้งบูรณาการนโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นเอกภาพ สอดรับกัน และมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนั้น รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายของแต่ละกระทรวงเศรษฐกิจจะสอดประสานกัน ทุกพรรคจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายรวมมากกว่าเป้าหมายของพรรค ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ ก็น่าจะสามารถพลิกฟื้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มชะลอให้กลับมาขยายตัว

การออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคยังจำเป็นต้องทำในช่วงแรก เพื่อประคองให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยทางการเมืองให้น้อยที่สุด แต่รัฐบาลควรใช้งบประมาณอย่างประหยัด และเน้นไปที่มาตรการที่ให้ผลต่อเนื่องในระยะกลางถึงยาว มากกว่าการแจกเงิน

ที่สำคัญ รัฐบาลควรรับฟังและสื่อสารกับตลาดทุนให้มากขึ้น เพราะตลาดทุนคือช่องทางสร้างความเชื่อมั่นที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลเร็วที่สุด ดัชนีตลาดหุ้นนอกจากสื่อถึงราคาหุ้น ยังเป็นดัชนีที่สะท้อนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและต่อทิศทางเศรษฐกิจ เวลาหุ้นขึ้น บรรยากาศโดยรวมมักจะดีขึ้นตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มักจะกระเตื้องขึ้นด้วย รัฐบาลในหลายประเทศให้ความสำคัญกับตลาดทุนมาก เพราะมองว่าดัชนีตลาดหุ้นคือเสียงสะท้อนและตัวชี้วัดผลงานของรัฐบาล

ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังมี Upside อีกมาก สาเหตุที่หุ้นตกในช่วงนี้ นอกจากความกังวลเรื่องสงครามการค้า ซึ่งผมมองว่าเป็นปัจจัยลบชั่วคราว เพราะจีนและสหรัฐฯ น่าจะตกลงกันได้ในที่สุด ยังแสดงถึงความคาดหวังที่ต่ำที่นักลงทุนมีต่อรัฐบาลชุดใหม่ ภาวะแบบนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน เพราะราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบไปเกือบหมดแล้ว ตลาดหุ้นอาจไม่ปรับขึ้นมากในระยะสั้น แต่ถ้ารัฐบาลทำผลงานได้ดีกว่าคาด และจีนกับสหรัฐฯ ตกลงกันได้ โอกาสที่ SET Index จะกลับไปสู่ระดับ 1,750 – 1,800 จุดมีมากทีเดียว