อวสานของทีวี

อวสานของทีวี

  การคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีจำนวน 7 ช่องเมื่อสัปดาห์ที่แล้วดูเหมือนว่าจะเป็นจุดจบสำหรับธุรกิจทีวี

ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจที่ครั้งหนึ่งรุ่งเรืองมาก  ทีวีซึ่งมีเพียงไม่กี่ช่องและที่ทำเป็นธุรกิจจริง ๆ  ก็มีเพียง 2-3 ช่องในอดีตนั้นสามารถทำเงินได้มหาศาล  หุ้นของบริษัททำทีวีที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งเคยมีมูลค่าหรือ Market Cap. เป็นแสนล้านบาท

แต่หลังจากการ “เปิดเสรี” ช่องทีวีซึ่งทำให้เกิดทีวีใหม่หลายสิบช่องขึ้นทันทีก็ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ซึ่งทำให้ทีวีเกือบทุกช่องขาดทุนกันหมด  มูลค่าตลาดของหุ้นทีวีลดลงจากแสนล้านบาทหรือเพียงหลักหมื่นล้านบาท  ส่วนหุ้นทีวีที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงแรกและมีค่าหลายหมื่นล้านบาทก็เหลือเป็นหลักพันล้านบาท 

ดังนั้น การลดลงของทีวีดิจิตอล 7 ช่องจาก 20 กว่าช่องและเหลือทีวีดิจิตอลประมาณ 15 ช่องนั้นจึงเป็นความหวังว่าธุรกิจทีวีน่าจะดีขึ้นมากและหุ้นทีวีจะ Turnaround หรือฟื้นตัวได้  หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะ “ตาย” อีกแล้ว  แต่นี่คือความจริงหรือ?

ในความเห็นของผม  ทีวี 7 ช่องที่ปิดตัวลงนั้น  มีเรทติ้งหรือคนดูน้อยและดังนั้นจึงมีรายได้จากโฆษณาน้อยมาก  เมื่อปิดตัวลง  โฆษณาที่จะผ่องถ่ายไปช่องที่เหลือก็คงไม่มีนัยสำคัญ  เช่นเดียวกัน  จำนวนคนดูทีวีที่จะหันไปดูช่องที่เหลือก็คงไม่มากนัก  ผมเองคิดว่าพวกเขาส่วนใหญ่อาจจะหันไปดูสื่ออื่นหรือไปทำอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่าที่มีอยู่มากมายอานิสงค์จากการขยายตัวของสื่อดิจิตอลยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีค่าใช้จ่ายต่ำจนแทบจะ “ฟรี” ไม่ต่างจากการดูทีวีเหมือนกัน 

ดังนั้น  การวิเคราะห์ว่าหุ้นทีวีที่ยังทำทีวีอยู่จะดีขึ้นใน “ระยะยาว” จึงไม่สามารถที่จะมองแค่การแข่งขันของช่องทีวีที่ลดลง  แต่ต้องมองว่าทีวีจะสามารถแข่งกับสื่อดิจิตอลอย่างอื่นได้อย่างไร  และมูลค่าหุ้นที่ยังสูงในระดับเป็นหมื่นล้านหรือหลายพันล้านบาทนั้น  คุ้มค่าหรือไม่

มองจากมุมของเทคโนโลยีแล้ว  ทีวีมีประสิทธิภาพลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอินเตอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนจะถึง 5G แล้ว  ซึ่งทำให้ระบบอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถทำได้ทุกอย่างที่ทีวีทำและเหนือกว่า  ต้นทุนของผู้ใช้เองก็ลดลงจนทำให้แทบทุกคนในประเทศไทยต่างก็สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้โดยไม่จำกัดเวลา  อาการแบบนี้นั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าในที่สุดคนที่ดูทีวีน่าจะค่อย ๆ  ลดลงไปเรื่อย ๆ  และทำให้ทีวีกลายเป็นธุรกิจ “ตะวันตกดิน” 

แน่นอนว่าทีวีก็จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน  แต่มันอาจจะไม่ใช่ช่องทางหลักที่พวกเขาจะดู  สายตาของพวกเขาน่าจะจ้องอยู่ที่ “จอคอมพิวเตอร์” ซึ่งอาจจะเป็นมือถือหรือเครื่องมืออย่างอื่น  โดยสื่อที่นำภาพและเสียงมาก็คือระบบอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงสุดและไม่สะดุดเลย

ว่าที่จริงในภาวะปัจจุบันนั้น  ทีวีไม่ได้ขายบริการ “สื่อ” อีกต่อไปแล้ว  พวกเขาขาย  “คอนเท้นต์” เช่น  ละคร  เกมโชว์  ข่าว  และอื่น ๆ  ที่คนดูสนใจและชอบที่จะดู  และนี่ก็คือ “ทางออก” ของทีวีทุกช่อง  ทีวีเองนั้น  แน่นอน  เป็นช่องทางหลักที่คนยังดูกันมากที่สุด  แต่ช่องทางอื่นที่ผ่านอินเตอร์เน็ตก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

นอกจากนั้น  เขายังขายคอนเท้นต์ออกไปต่างประเทศด้วย  ทั้งหมดนั้น  เขาหวังว่าจะทำให้กำไรของบริษัทที่ทำทีวีเติบโตขึ้นและธุรกิจก้าวหน้าต่อไป  และในที่สุด  บริษัทที่ “ทำทีวี” เป็นหลักเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่มีเพราะมัน “อยู่ไม่ได้”  ทีวียุคใหม่จะต้องเป็นกิจการที่ทำคอนเท้นต์และมีช่องทางขายที่หลากหลาย  และบางทีก็อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ธุรกิจสื่อ” ที่ใหญ่โต  ถ้าในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิลหรือเฟซบุคเป็นต้น  แต่ในเมืองไทย  ดูเหมือนว่าเราจะยังห่างไกลจากจุดนั้น  ของเราที่ใกล้ที่สุดก็แค่ว่าทีวีบางช่องกลายเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจจะต้องการมีสื่อด้วยวัตถุประสงค์อย่างอื่นด้วยนอกเหนือจากกำไรจากการลงทุนในกิจการ

ถ้าจะพูดถึงการ “อยู่รอดทางธุรกิจ” ของกิจการทีวีในไทยนับจากนี้  ผมคิดว่าทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ก็ยังน่าจะลำบากอยู่  จริงอยู่  บริษัททีวีที่เคยมีหลายช่องอาจจะมีผลประกอบการดีขึ้นเนื่องจากสามารถลดผลขาดทุนโดยการคืนช่องทีวีบางช่องไป  บริษัทที่มีทีวีเพียงช่องเดียวและขาดทุนและคืนใบอนุญาตไปก็สามารถลดความเสียหายลงได้  แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจจะดีขึ้นเรื่อย ๆ  เหตุผลก็เพราะว่าธุรกิจทีวีนั้นน่าจะยังตกต่ำลงต่อไปเนื่องจากการแข่งขันจากคู่แข่งอื่นที่ไม่ได้ทำทีวีเป็นหลัก  มันคือกิจการทั้งหลายที่  “ชิงตา”  หรือแย่งคนดูจากจอทีวีซึ่งผมคิดว่ายังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   

ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น  ผมเคยเป็น  “คอทีวี” และภรรยาก็เป็นคอทีวี  แต่ในระยะหลัง ๆ  ผมเริ่มสนใจชมภาพยนตร์และสารคดีจาก Netflix มากขึ้นอย่างชัดเจน  ส่วนภรรยาเองนั้น  การดูละครจากทีวีช่องประจำน้อยลงไปมากแต่หันไปดูละครจากทีวีช่องอื่นมากขึ้นเช่นเดียวกับการดูย้อนหลังผ่านคอมพิวเตอร์เช่นไอแพด  แน่นอนว่าบริษัททีวีต้นเรื่องยังได้ค่าโฆษณาบ้าง  แต่มันก็น้อยกว่าการได้ค่าโฆษณาทางทีวีอยู่มาก  และนั่นก็ทำให้ผลประกอบการของบริษัททีวีแต่ละช่องน่าจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

บางคนอาจจะเถียงว่าบริษัททีวีทั้งหลายน่าจะสามารถแข่งขันในการทำคอนเท้นต์กับสื่ออื่น ๆ ได้และทำให้บริษัทมีกำไรและเติบโตไปเรื่อย ๆ  ได้  แต่ผมเองคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีบริษัททีวีที่สามารถประสบความสำเร็จอย่างสูงในทุกกลุ่มเช่น  ละคร  เกมส์โชว์  ข่าว  กีฬา ภาพยนตร์และสารคดี  ในที่สุดแล้ว  ทีวีแต่ละช่องก็จะมีจุดเด่นเพียงบางกลุ่มและจุดเด่นนั้นก็เพียงแต่ว่ามีคนชมมากกว่าช่องอื่น ๆ  พอสมควร  ผลก็คือ  จำนวนคนดูหรือเรทติ้งโดยรวมของช่องก็จะกระจายกันไปซึ่งจะทำให้รายได้รวมของบริษัทไม่สูงอย่างในอดีตที่ทีวีเพื่อการค้ามีเพียง 2-3 ช่องและสื่ออื่นเช่นทางคอมพิวเตอร์ก็ค่อนข้างจำกัดและมีต้นทุนสูง

คู่แข่งของทีวีที่น่ากลัวมากพอ ๆ  กับคู่แข่งในประเทศก็คือคู่แข่ง “ระดับโลก” ที่สามารถเข้ามาในตลาดไทยได้อย่างเสรีเนื่องจากผ่านมาทางระบบอินเตอร์เน็ตที่มีต้นทุนน้อยมากทั้งทางผู้ส่งและผู้รับ  ต้นทุนทางผู้ส่งเองนั้น  ต้นทุนใหญ่ ๆ  ก็น่าจะเป็นเพียงการแปลและให้เสียงภาษาไทย  บางแห่งก็อาจจะต้องซื้อรายการบางส่วนจากบริษัทหรือผู้ผลิตคอนเท้นต์ของไทยในราคาที่ไม่แพง 

ตัวอย่างเช่น  Netflix ซึ่งทำให้สามารถให้บริการแก่คนไทยได้ในราคาที่อาจจะพูดได้ว่า  “ถูกมาก”  เช่น  สามารถชมภาพยนต์และสารคดีระดับโลกได้ทั้งเดือนในราคาเท่ากับการดูหนังเพียง 1-2 เรื่อง  นี่ก็เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของคู่แข่งของทีวีที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง  ยังไม่นับธุรกิจดิจิตอลอื่น ๆ  และ Social Media ที่ดึงสายตาคนที่เคยดูทีวีเป็นหลักอีกมาก

ในทางตรงกันข้าม  คอนเท้นต์เช่นละครของไทยเองนั้น  ต้นทุนน่าจะสูงถ้าจะทำให้มีคุณภาพและแข่งขันแย่งสายตาคนดูได้  การลดต้นทุนนั้นไม่น่าจะสามารถทำได้มากหรือง่ายเพราะมันเป็นเรื่องของค่าแรงของคนที่ไม่สามารถลดลงได้  ประเด็นก็คือ  ถึงแม้ว่าละครบางเรื่องอาจจะประสบความสำเร็จมีคนดูมากและสามารถขายโฆษณาและทำกำไรได้  แต่มันก็คงไม่มากเหมือนในอดีตที่บางทีคนทั้งเมืองต้องรีบกลับบ้านไปดูตอนสำคัญหรือตอนจบของละคร  โอกาสเป็นไปได้มากกว่าก็คือ  ละครส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยทำเงิน  หาโฆษณาได้น้อย  ซึ่งทำให้กำไรรวมของบริษัททีวีไม่หวือหวาอีกต่อไป  และสำหรับทีวีหลายช่องก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้  และนั่นก็จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทต้องปรับตัวลงจนมีมูลค่าหรือ Market Cap. ที่เหมาะสมซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าน่าจะเป็นเท่าไร  รู้แต่ว่าค่า PE ของหุ้นจะต้องไม่สูงอย่างที่เคยเป็นและยังเป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม  หุ้นบริษัททีวีที่เหลืออยู่เองนั้น  ผมก็คิดว่าน่าจะยังอยู่ต่อไปได้อีกนานพอสมควร  เหตุผลก็เพราะทีวีนั้นเป็นธุรกิจที่สามารถ “ชี้นำ” สังคมได้  และการควบคุมทีวีนั้นก็คงคล้าย ๆ  กับหนังสือพิมพ์  เป็นสิ่งมีค่า  อาจจะเรียกว่ามี “Control Premium”  ซึ่งทำให้คนที่มีความมั่งคั่งสูงบางคนยอมจ่ายค่าหุ้นแพงเพื่อที่จะได้สิทธินั้น  และสิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  ซื้อหรือทำธุรกิจต่อไปแม้ว่าผลกำไรจะไม่คุ้มค่ามองทางด้านของธุรกิจ  แต่ในสายตาของ VI ที่เน้นการลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางการเงินแล้ว  นี่คือ  “อวสานของหุ้นทีวี”