มหาวิทยาลัย ผลิตบุคลากรที่ตรงตามที่นายจ้างต้องการหรือไม่?

มหาวิทยาลัย ผลิตบุคลากรที่ตรงตามที่นายจ้างต้องการหรือไม่?

ในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนในแวดวงการศึกษาก็คือ

สิ่งที่สอนกันในระดับมหาวิทยาลัยนั้นได้ช่วยเตรียมพร้อมบัณฑิตให้สามารถออกไปทำงานตามความต้องการของนายจ้างได้หรือไม่? คำตอบหนึ่งที่มักจะได้รับจากฟากการศึกษาคือ สิ่งที่มหาวิทยาลัยเตรียมพร้อมให้กับบัณฑิตนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่บัณฑิตสามารถที่จะนำไปต่อยอดได้ ขณะเดียวกันเสียงจากฝั่งผู้ใช้บัณฑิตจำนวนหนึ่งก็มองว่าอยากจะได้บัณฑิตที่จบไปและพร้อมทำงานได้เลยมากกว่าที่จะต้องมาพัฒนาและอบรมต่อยอด

มีบทความหนึ่งในนิตยสาร Harvard Business Review เมื่อตอนต้นปีที่ระบุเลยว่า คุณค่าเพิ่มที่คนทำงานคนหนึ่งจะได้รับจากการจบมหาวิทยาลัยจะลดน้อยลงเมื่อจำนวนผู้ที่จบมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ในทวีปอัฟริกานั้นการจบมหาวิทยาลัยจะทำให้มีรายได้มากกว่าผู้ที่ไม่จบถึง 20% แต่ในสแกนดินีเวียกลับมีเพียงแค่ 9% เท่านั้น ขณะเดียวกันจากค่านิยมที่คนส่วนใหญ่จะจบปริญญาตรี ทำให้กลายเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่บรรดาองค์กร หรือ นายจ้างต่างๆ จะใช้ในการรับสมัครคนเข้าทำงาน และกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสทั้งสำหรับตัวองค์กรและคนรุ่นใหม่ไปด้วย เนื่องจากในยุคของ Disruption ที่ลักษณะของงานเปลี่ยนไปตลอดเวลา และช่องทางในการได้มาซึ่งความรู้นั้นมีอยู่มากมาย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าความรู้ที่ได้มาจากการเรียนมหาวิทยาลัยนั้นเพียงพอและเหมาะสมสำหรับงานในอนาคตหรือไม่?

ในบทความดังกล่าวได้ยกตัวอย่างงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงข้อสงสัยต่อความรู้ที่ได้รับในการเรียนมหาวิทยาลัย มีงานชิ้นหนึ่งที่พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาและผลการทำงานนั้นน้อยมาก แถมพบว่าระดับความฉลาด (Intelligence Score) เป็นตัวพยากรณ์ถึงศักยภาพและความสามารถในการทำงานได้ดีกว่าระดับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับงานที่ต้องอาศัยการคิดและการเรียนรู้ตลอดเวลา

มีข้อเสนอแนะว่าเพื่อให้คุณค่าของการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยยังคงอยู่และมีคุณค่าต่อตัวผู้เรียนเองเมื่อจบไปทำงาน มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Soft Skills และทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาไปกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และในยุคที่เครื่องจักรและ AI สามารถเข้ามาทำงานแทนคนได้มากขึ้น บุคคลที่มีทักษะหรือความสามารถในสิ่งที่เครื่องจักรและ AI ไม่สามารถทดแทนได้ยิ่งจะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อที่ทำงานมากขึ้น ซึ่งนั้นก็คือทักษะที่เป็นตัว Soft skills และทักษะที่เกี่ยวกับคน

มุมมองที่น่าสนใจคือ ขณะที่นายจ้างกำลังมองหาพนักงานที่มีระดับของ EQ สูง มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานต่างๆ ได้ดี (Resilience) มีความเข้าใจในบุคคลอื่น (Empathy) และมีความซื่อสัตย์ (Integrity) แต่คุณลักษณะเหล่านั้นกลับไม่ใช่สิ่งที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ เกรด หรือ ผลการเรียน ด้วยระบบการศึกษาในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงหาทางออกในการพัฒนาตัว Soft skills ในด้านต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาของตนผ่านทางการทำกิจกรรมต่างๆ แต่การทำกิจกรรมเหล่านั้นก็ยังไม่ใช่ภาคบังคับเหมือนกับการเข้าห้องเรียนและการสอบอยู่ดี

เมื่อมองจากฝั่งนายจ้าง มีงานวิจัยที่สอบถามนายจ้าง 2,000 รายและ 50% บอกว่าทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับพนักงานคือ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น การบริการ และ การสื่อสาร ขณะเดียวกันงานวิจัยอีกชิ้นระบุว่า นายจ้างจะจ้างคนโดยดูจากความสามารถในการปรับตัว ความเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร และศักยภาพในการเติบโต และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทั้ง Google, Amazon, Microsoft ก็ให้ความสำคัญกับความสามารถในการเรียนรู้ นั้นคือ จะต้องมีความสนใจอยากรู้ในเรื่องต่างๆ และมีจิตใจที่หิวโหย (ภาษาอังกฤษใช้ Hungry mind)

ถ้ามหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตออกไปเพื่อให้เข้าไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม ก็อาจจะต้องถึงเวลาทบทวนระบบการศึกษาในปัจจุบันว่าทำอย่างไรเราถึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตได้อย่างแท้จริง