5 องค์ประกอบการสร้าง นวัตกรรมของจอห์น วอร์เนอร์

5 องค์ประกอบการสร้าง นวัตกรรมของจอห์น วอร์เนอร์

สำหรับท่านที่พอจะคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมเคมีสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการผลิต หรือการสร้างผลิตภัณฑ์เคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีของโลก ที่เรียกกันว่า “เคมีสีเขียวหรือ Green Chemistry อาจเคยได้ยินชื่อของ ดร.จอห์น วอร์เนอร์ (John Warner)ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมนำเสนอคำว่า Green Chemistryขึ้นมาเป็นครั้งแรก

และยังได้นำเสนอ หลัก 12 ประการของวิธีปฏิบัติสู่การเป็น “เคมีสีเขียว” เพื่อเป็นแนวทางให้อุตสากรรมเคมีของโลกได้นำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมเคมีสมัยใหม่มีความรับผิดชอบในการร่วมดูแลสังคมโลกด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์เคมีที่ปลอดภัยต่อการใช้งานและลดการก่อเกิดมลภาวะ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เว็ปไซต์ https://www.acs.org/content/acs/en/greenchemistry/principles/12-principles-of-green-chemistry.html)

ในโอกาสที่ ดร.จอห์น วอร์เนอร์ เป็นแขกรับเชิญของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ มาเยือนประเทศไทยเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันนระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา และท่านได้ให้เกียรติทำการบรรยายหลายครั้ง ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่โรงงานของ บริษัท ดาวเคมิคอล (ประเทศไทย) ที่จังหวัดระยอง

ช่วงหนึ่งของการบรรยายที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.วอร์เนอร์ ได้เล่าถึงประสบการณ์สู่ความสำเร็จในการสร้างสรรค์และค้นพบกระบวนการและโมเลกุลใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และประมวลได้เป็นหลักการที่ค้นพบได้ด้วยตัวเอง ว่า ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม นักวิจัยหรือนักประดิษฐ์จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย ประการมารวมกัน ไม่ใช่จะอาศัยเฉพาะความชำนาญเพียงด้านใดด้านหนึ่ง

องค์ประกอบแห่งความสำเร็จข้อแรกที่ ดร.วอร์เนอร์ กล่าวถึงได้แก่ นวัตกรรมมักจะเกิดขึ้นจากฉากต่างๆ ที่บรรยายไว้ในนิยายวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ยังไม่เป็นจริงในปัจจุบันนี้ นักวิจัยและนักประดิษฐ์มักจะได้ไอเดียการคิดค้นนวัตกรรมมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ ตัวของ ดร.วอร์เนอร์ เองก็เป็นนักอ่านหรือติดตามภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ตัวยง

ในลำดับที่ 2 ดร.วอร์เนอร์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ในศาสตร์เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งหรือศาสตร์ที่เป็นองค์ความรู้ในเชิงลึก แต่นักวิจัยหรือนักประดิษฐ์มักจะต้องใช้ศาสตร์หลายๆ แขนงร่วมกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่นำมาใช้ประกอบ มักจะเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน แต่ต้องมีการประสานองค์ความรู้เหล่านั้นเข้าด้วยกันได้ลงตัว

ดร.วอร์เนอร์ ได้กล่าวต่อไปว่า การใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในตำราเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการใช้ไหวพริบและสัญชาตญาณรอบด้านของนักวิจัยและนักประดิษฐ์เข้ามาประกอบ จะทำให้การสรรสร้างนวัตกรรมไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากตำราทั้งหลายมักจะเขียนขึ้นมาเพื่อการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องเดียวในเชิงลึก แต่การสร้างนวัตกรรมที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยทั่วไป มักจะต้องเกิดขึ้นการเข้าใจปัญหาและความต้องการที่จะเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีหรือเพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงค์ชีวิตของมนุษย์ทั่วๆ ไป

นอกจากนี้ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม จะแปรผันโดยตรงกับระดับภูมิปัญญาส่วนตัวของนักวิจัยหรือนักประดิษฐ์ และความสามารถที่จะรับความเสี่ยงต่อความล้มเหลวที่ความคิดของตนเองจะไม่เกิดเป็นจริงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก มักจะเป็นสิ่งที่ชี้ช่องให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป

องค์ประกอบสุดท้าย ดร.วอร์เนอร์ กล่าวว่า นวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จมักจะเป็นสิ่งที่ไม่ซับซ้อน แม้ว่าระหว่างเส้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมอาจจะต้องมีความซับซ้อนบ้างตามระดับความยากง่ายของโจทย์ปัญหา แต่เมื่อได้แก้ไขโจทย์ได้สำเร็จ ผลลัพธ์ที่ได้รับมักจะแสดงถึงความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เพื่อทำให้นวัตกรรมนั้นๆ เป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้ที่จะยอมรับนำนวัตกรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

องค์ประกอบทั้ง ประการจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่สะท้อนออกมาจากประสบการณ์ตรงเหล่านี้ อาจจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับ นักประดิษฐ์ นักวิจัย และบรรดาสตาร์ทอัพ ของไทยได้นำไปประยุกต์ใช้กับโจทย์งานนวัตกรรมของตนเองได้บ้าง

ไม่มากก็น้อย!!??!!