‘เกม’ ความชอบเยาวชน สู่การพัฒนาประเทศ

‘เกม’ ความชอบเยาวชน สู่การพัฒนาประเทศ

คงปฎิเสธไม่ได้ว่า เกมถือเป็นทางเลือกในลำดับต้น ๆ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ไม่เฉพาะแต่เยาวชน แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่หลาย ๆ คน

พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปล้วนเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตของตลาดเกม ลองมองรอบตัวของท่านดูสิครับ ไม่ว่าจะในหรือนอกบ้าน เด็ก วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ถ้ามีเวลาว่างเมื่อไหร่ เป็นเปิดมือถือเล่นเกมทันที

เราคงจะห้ามพฤติกรรมที่ติดมือถือติดเกม ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ยาก ดังนั้น คำถามที่น่าคิดคือ “แล้วเราจะใช้ประโยชน์อย่างไรกับความชอบเหล่านี้ของเยาวชน”

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Newzoo บอกว่า อุตสาหกรรมเกมถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 4.5 ล้านล้านบาทของตลาดโลกในปี 2561 หากจะโฟกัสลงมาที่ขนาดตลาดของประเทศไทยนั้น ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 12% ต่อปี

นับประชากรคนเล่นเกมทั่วโลกได้กว่า 2,300 ล้านคน หรือพูดง่าย ๆ ว่า เวลามีคนเดินผ่านหน้าคุณ 3 คน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า หนึ่งในสามคนนั้นเล่นเกมแน่นอน

ประมาณกันว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรคนเล่นเกมทั่วโลก นั้นอาศัยอยู่ในเอเชียแปซิฟิกของเรา! หากแต่ถ้ามีคนถามเพราะความแปลกใจว่าเพราะเป็นเช่นไร ก็คงต้องตอบว่า เพราะหากคิดแค่ประชากรคนเล่นเกมที่อยู่ในเมืองจีนก็ปาเข้าไปกว่าครึ่งแล้ว และค่อนของประชากรนั้น คือ เยาวชน

พ่อแม่รุ่นใหม่มีทางเลือกที่จะสนับสนุนให้ลูกพัฒนาความชอบเพื่อต่อยอดสู่ทักษะความรู้ใหม่ผ่านเกม ใช้เกมเป็นสื่อกลางในการพัฒนาทักษะความรู้อื่น อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และภาษา นอกจากส่งเสริมให้ลูกมีอิสระต่อความชอบแล้ว ควรชี้ทางให้ลูกเห็นได้ว่าจะต่อยอดจากความชอบต่อไปอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์กับตัวเองและประเทศชาติ

มีตัวอย่างมากมายในปัจจุบัน ที่เยาวชนผันตัวเองจากผู้เล่น มาเป็นผู้สร้างเกมได้ด้วยแอพพลิเคชั่นง่าย ๆ เช่น Araya เกมแนวสยองขวัญผจญภัยสัญชาติไทยที่โด่งดังไกลไปทั่วโลก ด้วยเรื่องราวและกราฟฟิกที่ตื่นเต้นสวยงาม ยังมีเครื่องมือมากมายในอินเทอร์เน็ตที่ล้วนเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ และฝึกฝน มีหลักสูตรมากมายที่สามารถดับกระหายความใคร่รู้ของเยาวชนในการสร้างเกมจากระดับพื้นฐานจนถึงขั้นสูง

การสร้างเกมนอกจากจะเป็นงานอดิเรกแล้ว ยังเป็นการแสดงความเป็นตัวตน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และอาจจะเป็นการเริ่มต้นจุดประการสู่ความสามารถเฉพาะทางอันเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน

การพัฒนาจากผู้เล่นสู่ผู้ออกแบบสร้างสรรค์เกมของเยาวชนใกล้ตัวและง่ายกว่าที่เราคิด มีครั้งหนึ่งที่ผมพาน้อง ๆ อายุน้อย ๆ ไปทัศนศึกษาท่ีญี่ปุ่น มีน้องคนหนึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผมอย่างมาก เพราะสามารถเข้าใจศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่ตัวหนึ่งซึ่งมันเป็นศัพท์ที่ยาก ระดับที่เด็กปริญญาตรีบางคนยังตอบไม่ได้ ถูกครับ ผมกำลังจะบอกว่า น้องเค้าเรียนรู้จากเกม จากการโค้ด (Coding) เพื่อออกแบบเกมที่เค้าชอบเพื่อมาอวดเพื่อน ๆ ในทริป

การออกแบบพัฒนาเกมเป็นการบูรณาการศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน เพราะจะต้องเข้าใจตรรกะศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันภาษาและการออกแบบในเชิงศิลปะก็สำคัญ เพราะจะทำให้เกมที่ออกแบบมานั้นลื่นไหล น่าเล่นน่าดึงดูด

อย่างเกม Assassin's Creed ซึ่งเป็นเกมสไตล์ยิงปืนไล่ล่า ที่มีฉากหลังเป็นมหาวิหารนอเทรอดามอันเก่าแก่ ได้ชื่อว่าเป็นเกมที่มีกราฟฟิกความสวยงามสมจริงมาก แม้กระทั่งรัฐบาลฝรั่งเศสยังยอมรับความช่วยเหลือในการบูรณะมหาวิหารใหม่หลังจากเหตุเพลิงไหม้ จากโครงร่างสามมิติ (3D) ของเกมซึ่งทีมงานได้ใช้เวลากว่า 14 เดือนในการทำกราฟฟิก

หากผู้ใหญ่เปิดใจให้โอกาสกับเยาวชนเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ ออกแบบและพัฒนาเกมของตัวเองได้ การออกแบบพัฒนาเส้นทางเดินสู่เป้าหมายความสำเร็จในอนาคตของเยาวชนก็คงออกแบบได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน