เศรษฐกิจในปีเปลี่ยนผ่านการเมือง

เศรษฐกิจในปีเปลี่ยนผ่านการเมือง

ผมเองเขียนเรื่องเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยบ่อย เหตุก็เพราะเศรษฐกิจเราไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ค่อยมีอะไรใหม่ วิเคราะห์ง่าย

ทำให้เรื่องที่เคยเขียนเมื่อ 2- 3 เดือนก่อนก็ยังใช้ได้ แต่ช่วงเดือนนี้ มีหลายคนอยากให้เขียนเรื่องเศรษฐกิจ หลายฟอรั่มขอให้ไปพูดเรื่องเศรษฐกิจ จากที่เราได้ผ่านปีนี้มาแล้วสี่เดือน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะปีนี้ความไม่แน่นอนมีมาก เป็นปีเปลี่ยนผ่านการเมืองและถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล รัฐบาลจะมีเสถียรภาพหรือไม่ และรัฐบาลจะมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร เป็นความไม่แน่นอนที่นักธุรกิจทุกคนเป็นห่วง จึงอยากฟังความเห็นต่างๆ

ผมเข้าใจความรู้สึกนี้ดี วันนี้เลยขอแชร์ความเห็นของผมเรื่องเศรษฐกิจปีนี้ ในบทความอาทิตย์นี้ โดยจะย้ำประเด็นเดิมที่ได้วิเคราะห์ไว้และเพิ่มเติมด้วยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด

ปีนี้เศรษฐกิจโลกเป็นขาลงต่อเนื่องจากครึ่งหลังปีที่แล้ว ประเทศหลักๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและจีนจึงขยายตัวลดลงในไตรมาสแรกปีนี้ จากผลของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเขาและผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ทำให้การค้าโลกชะลอต่อเนื่อง กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว ล่าสุดองค์กรระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงจากขยายตัว 3.6% ปีที่แล้วเป็นขยายตัว 3.3% ปีนี้ เป็นการปรับลดที่ค่อนข้างมาก

สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวลดลง จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของไทยชะลอตัว การส่งออกติดลบ 3.6% ไตรมาสแรก ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัว 0.7% เดือนมีนาคม การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนก็ชะลอเช่นกัน คือ ทุกเครื่องชี้แสดงการขยายตัวที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกชะลอลงตาม การนำเข้าติดลบในไตรมาสแรกปีนี้ สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนตัวลง ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ก็ชะลอตัวสอดคล้องกัน

ประเด็นที่ต้องตระหนักก็คือ การที่เศรษฐกิจโลกชะลอทำให้เศรษฐกิจเราขยายตัวในอัตราที่ลดลงตามก็เพราะความต้องการภายในประเทศหรือกำลังซื้อภายในประเทศของเราอ่อนแอ จากรายได้ของประชาชนที่ไม่ขยายตัวมาก ขณะที่การดำเนินมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของทางการไม่สามารถต้านผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ เศรษฐกิจจึงชะลอลง

ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง เพราะประเทศไม่มีการขยายการลงทุน หรือการใช้จ่ายสร้างแรงกดดันให้เงินบาทยืนค่าในระดับสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนเงินทุนระหว่างประเทศสุทธิในไตรมาสแรกเป็นการไหลออก เพราะนักลงทุนต่างประเทศรอดูสถานการณ์ นี่คือ เศรษฐกิจช่วงสามเดือนแรกปีนี้

ในเดือนเมษายน หลังผลการเลือกตั้งเบื้องต้นออกมา ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเมษายนปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 79.2 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากความห่วงใยของผู้บริโภคต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ และมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะโตช้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจก็ปรับลดลงเช่นกัน สะท้อนผลของความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ

ดังนั้น จากข้อมูล 3 เดือนแรกชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยในปีเลือกตั้งอ่อนตัวลงในไตรมาศแรกและในเดือนเมษายนความเชื่อมั่นของทั้งผุ้บริโภคและภาคธุรกิจถูกกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น มองไปข้างหน้า ความไม่ชัดเจนทางการเมืองจะเป็นปัจจัยกระทบเศรษฐกิจต่อไป อย่างน้อยในช่วงไตรมาสสอง ถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงของความพยายามจัดตั้งรัฐบาลว่า ใครจะมาบริหารประเทศและจะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างไร แต่ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ คือ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนมิถุนายน ต้องยืดเยื้อไปถึงไตรมาสสาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะยิ่งมีมาก เพราะเศรษฐกิจจะเหมือนถูกล็อคให้อยู่ในสูญญากาศ ไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้มาก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ คงจะหยุดนิ่ง

หนึ่ง ภาคธุรกิจคงหยุด ไม่ตัดสินใจทำอะไร รอความชัดเจนทางการเมือง รอความชัดเจนด้านนโยบายว่า นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ทำไปจะมีการสานต่อหรือไม่ นโยบายหรือสัมปทานต่างๆ ที่รัฐบาลปัจจุบันได้อนุมัติไว้จะถูกยกเลิกหรือถูกแก้ไขหรือไม่ และรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะมีนโยบายอย่างไรในเรื่องเศรษฐกิจ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ ทำให้นักธุรกิจจะชะลอ ไม่ตัดสินใจเรื่องการลงทุนใหม่จนกว่านโยบายต่างๆ จะชัดเจน ทำให้กิจกรรมการลงทุนของภาคเอกชนคงชะลอต่อไป ในช่วงสูญญากาศเหมือนที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรก

สอง ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลเองก็คงจะชะลอการทำนโยบายเหมือนกัน เพราะผู้ขับเคลื่อนนโยบายจะไม่มีสมาธิที่จะทำอะไร อยู่ในช่วงการต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ทั้งรัฐบาลและรัฐมนตรีต่างไม่มั่นใจว่าตนเองจะได้อยู่ทำงานต่อหรือไม่ ทำให้จะทำอะไรลำบาก เพราะมีประเด็นความชอบธรรมของการใช้อำนาจที่ต้องระมัดระวัง ไม่สามารถลงสัญญาอะไรได้อย่างมั่นใจและเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าหาประโยชน์ ผลคือโมเมนตัมการทำนโยบายจะถูกกระทบ ที่สำคัญตอนนี้หลายกระทรวงไม่มีรัฐมนตรีเพราะรัฐมนตรีลาออกไปหลายคน การตัดสินใจทำอะไรโดยคณะรัฐมนตรีที่เหลือก็อาจถูกตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่เร่งด่วนหรือไม่ ครบองค์ประชุมหรือไม่ เหล่านี้ทำให้แรงจูงใจหรือความพร้อมที่จะต้องทำมาตรการต่างๆ มีน้อยลงเพราะถ้าอำนาจเปลี่ยนคงถูกตรวจสอบแน่นอน ทำให้ช่วงนี้ดีที่สุดควรเป็นช่วงของการจัดบ้าน ทำทุกอย่างที่ได้ทำไปให้ถูกต้อง เผื่อถูกตรวจสอบจะได้สามารถตอบได้

สาม ข้าราชการประจำก็เช่นกัน เพราะทราบกันดีว่า ที่ผ่านมาช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองเป็นเหมือนช่วงที่ข้าราชการประจำได้พักผ่อน การเร่งงานตามงานจากนักการเมืองมีน้อยลง เหมือนโรงเรียนปิด ไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากถ้าไม่จำเป็น เพราะไม่ชัดเจนว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล รัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นคนกลุ่มเดิมหรือไม่ จะมีนโยบายในเรื่องต่างๆ อย่างไร จะเหมือนเดิมหรือแตกต่าง ทำให้ความปลอดภัยคือการยังไม่ทำอะไรช่วงนี้ รับผิดชอบแต่การใช้จ่ายตามงบประมาณและแผนงานที่ได้รับการอนุมัติไว้แล้ว หรือตามพันธกิจต่างประเทศที่ประเทศมี เช่นการประชุมอาเซียน โดยไม่เริ่มอะไรใหม่ เหล่านี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงสูญญากาศการเมือง ทำให้โมเมนตัมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนโยบายหรือมาตรการต่างๆ จะหายไป เศรษฐกิจจึงเหมือนเรือที่ลอยไปตามคลื่นลมก่อนมีกัปตันหรือมีทิศทางชัดเจน

นี่คือสูญญากาศที่จะกระทบโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองและไตรมาสสามปีนี้ และถึงแม้เราจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ภายในเดือนมิถุนายน แต่ไตรมาสสามก็จะเป็นช่วงที่พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลต้องเร่งร่างนโยบายบริหารประเทศเพื่อขอความเห็นชอบจากสภา และเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลใหม่ก็จะไม่สามารถทำอะไรใหม่ๆ ได้ทันที ต้องรีบผ่านงบประมาณประจำปีสำหรับปีงบประมาณหน้าก่อนเดือนตุลาคม ทำให้รัฐบาลใหม่คงต้องใช้งบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับปีงบประมาณหน้าบริหารประเทศไปก่อน จะไม่สามารถนำเรื่องใหม่ๆ ที่อยากทำหรือที่หาเสียงไว้มาขับเคลื่อนได้ทันที ทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะไม่มีอะไรใหม่ ที่จะเป็นความหวังว่าประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลง

ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ ล่าสุดที่ประกาศออกมาโดยหน่วยงานต่างๆ จะเป็นการปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลง ล่าสุด ประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยให้การขยายตัวปีนี้อยู่ที่ 3.8% และอาจปรับลงอีก คือต่ำกว่า 3.5% ได้ ถ้าความอ่อนแอของเศรษฐกิจยิ่งมีมากขึ้น ทั้งจากผลสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้น จากที่สหรัฐได้ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 10-25% และจีนคงจะตอบโต้เช่นกันหรือจากการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจล่าช้าไปถึงไตรมาสสาม ทำให้ปีนี้จะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำ เป็นเศรษฐกิจที่รอการเริ่มต้นใหม่ แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น