ไปกันใหญ่โต เสื้อกั๊กเหลืองที่ฝรั่งเศส

ไปกันใหญ่โต  เสื้อกั๊กเหลืองที่ฝรั่งเศส

อาจเห็นในเร็ววัน ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมของฝรั่งเศส

ที่ซึ่งขนบการเมืองการปกครองต้องเคารพสิทธิพลเมืองแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและการเดินชุมนุมบนท้องถนนอันเป็นพลวัติสำคัญที่ประชาชนใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมครั้งสำคัญๆ มา 2 - 3 สามศตวรรษ

อาศัยโซเชียลมีเดียกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่จัดชุมนุมทุกเสาร์มาเกือบครึ่งปี อย่างไร้ผู้นำไร้ธงอุดมการณ์การเมืองใดตั้งแต่ 17 พ.ย.2561 ก็ได้ฤกษ์ต้อนรับหน้าใหม่จากกลุ่มพลังอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงาน ฝ่ายซ้ายสุดโต่ง และกลุ่มปฏิเสธอำนาจรัฐ(anarchistes) เมื่อเสาร์ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่หลายเสาร์ก่อนหน้าถูกจำกัดตีวงชุมนุมไม่สะดวก เพราะถูกมาตราการท้องถิ่นห้ามและจำกัดถนนและพื้นที่ชุมนุม เช่น กรุงปารีส ห้ามเด็ดขาดย่านถนนชองป์เซลีเซ่ ย่านที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล ในเมืองใหญ่อื่นๆ พื้นที่และถนนเคยไปเดินชุมนุมก็ถูกห้ามไว้หมด มีกำลังตำรวจเสริมทหารรับมือ ทั้งจับทั้งปรับ ทั้งใช้ปืนฉีดน้ำและแก๊สน้ำตา ผู้ชุมนุมลดลงและถึงเพิ่มขึ้นบ้างบางเสาร์แต่ก็เทียบกับแต่แรกๆ ไม่ได้ที่มาชุมนุมเป็นแสนๆ ทั่วประเทศแล้วมาเหลือเพียงจำนวนหมื่น กรุงปารีสเหลือจำนวนพัน การก่อความรุนแรงเผาทำลายขโมยข้าวของก็มีส่วนทำให้คนออกมาน้อยลง

ได้เลือดใหม่ กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองกระชุ่มกระชวยขึ้นทันที

ในแถวหน้าของขบวนชุมนุมที่กรุงปารีส เสื้อกั๊กเหลืองผู้เสียดวงตาข้างหนึ่งไปจากแก๊สน้ำตาของฝีมือตำรวจเดินคล้องแขนกับตัวแทนกลุ่มพลังอื่นๆ เป็นประจักษ์พยานฝันร้ายและเขย่าขวัญคณะผู้ปกครองบริหารประเทศได้ดีแท้ ส่งสัญญานว่า นี่แค่ “อุ่นเครื่อง” รอวันแรงงานสากล 1 พ.ค.ที่ สหภาพแรงงานมีประเพณีจัดการชุมนุมต่อสู้เรื่องแรงงานและสิทธิเสมอภาคทางสังคมมานาน เพียงแต่มาอ่อนกำลังเมื่อขึ้นศตวรรษเพราะพลวัติโลกานุวัติ

การเข้ามาร่วมเดินชุมนุมของกลุ่มพลังอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพแรงงานครั้งนี้ ช่วยตอกย้ำความโกรธ ความไม่พอใจ ตลอดจนข้อเรียกร้องข้อวิพากษ์เรื่องความเหลื่อมล้ำสิทธิทางสังคมที่กลุ่มเสื้อเหลืองก่อหวอดและยืนหยัดมาในฐานะประชาชนอิสระ ซึ่งได้ใจและมีปัญญาชนสื่อมวลชนสำคัญเปิดเผยตัวออกมาช่วย ปกป้องมากขึ้น อีกทั้งประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นางมิแชล บราเชอเลท์ ได้สั่งให้ตรวจสอบเต็มรูปแบบการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมแล้ว เธอกล่าวว่ากลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองเห็นว่า ตนถูกทิ้งไว้ข้างหลังไม่ได้มีสิทธิ์เสียงอะไรกับการตัดสินใจบริหารบ้านเมือง พวกเขามีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิพื้นฐาน

1 พ.ค.  กรุงปารีสและเมื่องอื่น ๆได้เห็นขบวนชุมนุมรวมมิตรทุกกลุ่มพลังอย่างสงบโดยเฉพาะขบวนสหภาพ ฯยิ่งใหญ่สมราคาอุ่นเครื่อง 3 วันก่อนหน้า เห็นสีเสื้อกั๊กเหลืองพราวพรายในขบวนผู้ชุมนุม ซึ่งประเมินได้ถึง 3 แสน บ้างประดับตัวด้วยสัญลักษณ์สหภาพและห้อยเสื้อกั๊กเหลืองมาด้วย สตรีวุฒิสภา จากพรรคกรีนคนหนึ่งบอกว่า เคยมาร่วมชุมนุมแล้วแต่คราวนี้ที่เพิ่งแสดงตัวในฐานะพรรค ส่วนที่เมืองสตราสบูรก์ที่ตั้งของสภายุโรป การชุมนุมคึกคักมาก ตำรวจใช้แก๊สน้ำตามีบาดเจ็บ มีจับมีปรับ

ทุกกลุ่มพลังเห็นตรงกันว่าประธานาธิบดี มาครง ตอบสนองล่าช้ามาก ทุกมาตรการจนถึงล่าสุดที่ทยอยเสนอหลังจากหมด 3 เดือน กระบวนการเสวนาแห่งชาติ ไม่ว่าเรื่องตรึงราคาน้ำมัน ลดหย่อนภาษี เพิ่มเบี้ยวัยชรา ล้วนแล้วแต่ "บลา บลา " (blah blah ภาษาฝรั่งเศสเป็นการล้อเลียนหมิ่นคำพูดว่าว่างเปล่าไร้ความหมาย) สิ่งที่พวกเขาต้องการคือมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองและอำนาจตัดสินใจโดยตรงเรื่องสำคัญๆ ที่ถือว่าเป็นประธานาธิบดีเลือกตั้งแล้วทำอะไรผ่านระบบตัวแทนก็ชอบธรรมไปหมดไม่ได้

ตอนนี้ คนตกที่นั่งลำบากคือ ประธานาธิบดี มาครง วัย 41 ปี อยู่ในตำแหน่งมา 2 ปี อีก 3 ปีหมดสมัย ต้องเผชิญการชุมนุมใหญ่หลวงที่ฝรั่งเศสไม่เคยเห็นมานานเป็นศตวรรษ ทั้งในนอกประเทศวิจารณ์ว่านับจากกำลังตำรวจทหารใช้มาตรการเข้มกับผู้ชุมนุม นั่นเป็น“จุดพิพากษา” ความเป็นประธานาธิบดีของท่านแล้ว และจะไม่มีทางเป็น “ผู้ชนะ”ได้เลย รัฐมนตรีคู่ใจ 3 คนลาออกตอนนั้น

ประกอบกับตั้งแต่ก่อนเกิดกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง มีสื่อมวลชน นักการเมืองและคนทั่วไปวิพากษ์ท่านประธานาธิบดีว่า เป็นอดีตนายธนาคาร นักการเงินขั้นอภิมหาเสรีนิยม (ultra-liberale) แต่เป็นนักบริหาร หัวเก่าอำนาจนิยม(autoritaire) ยะโส ปลื้มอำนาจ ไม่กี่เดือนที่รับตำแหน่งก็ได้ฉายาว่า “จูปีเตอร์” หลังเปิดพระราชวังแวร์ซายย์ใช้ประชุมและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง (เทพจูปีเตอร์ เป็นเจ้าแห่งเทพโรมัน เทียบเท่าเทพซูสในเทพปรกรณัมกรีก) ในด้านสิทธิทางสังคมนั้น ชนชั้นผู้นำ(l'elite)อย่างท่านไม่รู้หัวอกคนจน ความคิดไม่ก้าวหน้า(non-progressiste)ถึงขั้น “ดูถูก”(mepris)คนธรรมดาสามัญตัวเล็ก ๆ คะแนนนิยมท่านประธานาธิบดีจึงตกพรวดๆมาตลอด

แม้เสาร์ที่ 4 พฤษภา “ องก์”ที่ 25 มีกลุ่มศิลปินดาราพันกว่าคน ลงชื่อสนับสนุนกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองซึ่งมาชุมนุมน้อยลงมาก ไม่ถึง 2 หมื่นและสงบเสงี่ยมขึ้น แต่ความเสื่อมศรัทธาประธานาธิบดีไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ นอกจากบุคลิกหยิ่งยโส ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่นงบแต่งหน้า(ซึ่งจำนวนเท่ากับประธานาธิบดีคนก่อน) เรื่องนายบาเนลลา อดีตองครักษ์คนสนิทกำลังขึ้นศาล ฐานรังแกผู้ชุมนุมแถมใช้พาสปอร์ตทางการ ทั้งที่ถูกปลดออกไปแล้ว ไฟไหม้มหาวิหารโนตเตรอะดาม เมื่อต้นเมษาฯ ก็มีคนหาหลักฐานว่าใครหนอวางเพลิงเพื่อเบนความสนใจสาธารณชน ฯลฯ

เลือกตั้งผู้แทนสหภาพยุโรปเดือนพฤษภาฯนี้ นางมารี เลอเปน อดีตคู่แข่งชิงประธานาธิบดี ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพนิยมกระแส “เฟรกซิท” (Frexit) ก็หาเสียงว่าเพื่อแสดงการไม่ยอมรับท่านประธานาธิบดี ต้องไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคของท่าน

สะเทือนถึงสหภาพยุโรปแน่นอนการเมืองปั่นป่วนของฝรั่งเศส แค่รัฐบาลนายมาครงปรับงบประมาณสูงขึ้นแก้ปัญหาในประเทศก็ถูกอิตาลีค่อนขอดสหภาพยุโรปว่า 2 มาตรฐาน ทีฝรั่งเศสไม่เห็นว่าอะไร

ก้าวต่อไปของประธานาธิบดีมาครง และท่าทีสหภาพยุโรปต้องติดตามกันตาไม่กระพริบ.