การกำหนดค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (3)

การกำหนดค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (3)

ครั้งนี้เราจะมาพิจารณากันต่อว่า กฎหมายต่างประเทศที่คู่สัญญาตกลงนำมาใช้กับสัญญาจะใช้บังคับได้มากน้อยเพียงใด

 ประเด็นที่ทิ้งไว้คราวที่แล้วคือ กฎหมายต่างประเทศนั้นจะใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ปัญหาต่อมาจึงอยู่ที่ว่าอะไรคือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เรื่องนี้ทั้ง พ.ร.บ. กฎหมายขัดกันฯ และกฎหมายอื่นใดของไทยไม่ได้บัญญัติบทนิยามหรืออธิบายเพิ่มเติมว่า ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหมายความว่าอย่างไรนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าสิ่งที่จะเป็นความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้นอาจจะต้องพิจารณาจากบริบททางสังคมเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้น จึงอาจควรเป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลเป็นรายกรณีไป

ในส่วนของการกำหนดค่าเสียหายนั้น ประเด็นที่ศาลเคยพิจารณาวินิจฉัยว่า ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งอาจนำมาใช้เทียบเคียงได้ว่าจะใช้กฎหมายไทยบังคับกับประเด็นดังกล่าว เช่น การกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าในสัญญาตามกฎหมายไทย นั้นหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจปรับลดได้ตามมาตรา 383 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งคู่สัญญาไม่สามารถตกลงยกเว้นกฎหมายดังกล่าวได้ แต่ตามกฎหมายญี่ปุ่นศาลไม่มีอำนาจในการปรับลดค่าเสียหายได้ (มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น) หรือตามกฎหมายอังกฤษ ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (Liquidated Damages) สามารถใช้บังคับได้หากคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายพิสูจน์ได้ว่าค่าเสียหายนั้นเป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์โดยชอบธรรมตามกฎหมาย (Cavendish Squire v El Makdessi) ดังนั้น หากสัญญาที่พิพาทอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอังกฤษ หรือญี่ปุ่น แล้วมีข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าไว้ ศาลไทยอาจใช้ดุลพินิจในการปรับลดค่าเสียตามมาตรา 383 โดยอาจจะไม่พิจารณาถึงกฎหมายต่างประเทศเลยก็ได้

ประเด็นเรื่องกฎหมายที่ใช้บังคับในการกำหนดค่าเสียหายนี้จะยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในกรณีที่คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากอาจมีกฎหมายที่ต้องใช้ในการพิจารณากำหนดค่าเสียหายมากกว่าหนึ่งประเภท โดยนอกจากกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาที่พิพาท(Governing Law) ยังอาจต้องพิจารณากฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาอนุญาโตตุลาการ (Law of Arbitration Agreement) กฎหมายแห่งท้องที่ที่มีการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ(Lex Arbitri) ข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ(Arbitration Rules) ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาว่าอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการกำหนดค่าเสียหายได้มากน้อยเพียงใด ประเด็นพิพาทเรื่องค่าเสียหายนั้นอยู่ในขอบเขตการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ 

นอกจากนี้อนุญาโตตุลาการยังอาจต้องพิจารณาไปถึงกฎหมายแห่งท้องที่ที่จะมีการบังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ (The Law of the Jurisdiction of Enforcement) เนื่องจากว่าในบางกรณีกฎหมายแห่งท้องที่ที่จะมีการบังคับคำชี้ขาดอาจไม่บังคับคำชี้ขาดที่กำหนดค่าเสียหายบางประเภทก็ได้ ตัวอย่างของค่าเสียหายที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damage) ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ส่วนใหญ่ (รวมถึงประเทศไทย) อาจจะไม่บังคับให้เพราะกฎหมายภายในไม่ยอมรับค่าเสียหายประเภทนี้ ในขณะที่ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ยอมรับค่าเสียหายประเภทนี้ในบางกรณี

แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]