ทางออกความเหลื่อมล้ำสังคมไทย

ทางออกความเหลื่อมล้ำสังคมไทย

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ร้อนแรง รุกเร้า ทั้งแจ่มชัดและมืดมิด จึงมิอาจรู้ได้เลยว่าเป็นผู้ใดที่จะนำพาสังคมเศรษฐกิจไทยไปสู่แสงสว่าง

 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสังคมไทย ทั้งยืดเยื้อ เรื้อรัง รุนแรงและหมองหม่น จึงไม่แปลกที่นักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคนต่างแสวงหาทางออกกับเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคืออาจารย์ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้เสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาประเทศ ผ่านหนังสือ “Thailand Reset” 12 ด้าน แต่ประเด็นที่ผมจะให้ความสำคัญคือเรื่องเกษตรกรรมและการปฏิรูปกฎหมายภาษี ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ด้านเกษตรกรรม อาจารย์ธีระชัยมองว่า การที่รายได้ประชากรของจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มเสาะแสวงหาสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยไม่ใช่ราคาถูกเช่นเมื่อก่อน ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จึงเป็นคำตอบสำหรับผู้บริโภคในต่างประเทศ นอกจากนั้นเกษตรอินทรีย์ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร อันจะเป็นการยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรในชนบทได้อีกทางหนึ่ง จึงเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปในตัวด้วย

ซึ่งรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ใช้งบกว่า 9.6 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าเจาะลูกค้าในสหภาพยุโรป (EU) จึงทำให้ผมกังวลมากว่า โครงการนี้นำพาประเทศไทยไปสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้หรือไม่ ?

คุณพิชัยยุทธ แพนพา หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการโรงงานไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ ให้ความเห็นไว้ว่า โครงการนี้ของรัฐบาล น่าเป็นห่วงเพราะการผลิตข้าวอินทรีย์ตามโครงการของรัฐบาลนั้นยึดตามมาตรฐาน ที่มีกรมการข้าวเป็นผู้ตรวจรับรอง ในขณะที่สินค้านั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ซึ่งแน่นอนว่ามาตรฐานของไทย ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะกรมการข้าวไม่ใช่ตัวแทนการรับรอง

แต่หากจะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลาดสหรัฐหรือแคนาดา ต่างก็ยึดตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศตนเอง ในขณะที่ตลาดอื่นๆ อย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือ ออสเตรเลีย ยึดตามมาตรฐานของ IFOAM แม้แต่ตลาดจีนก็ต้องให้หน่วยตรวจรับรองของจีนเป็นผู้ตรวจ ซึ่งไม่ใช่กรมการข้าว แล้วข้าวอินทรีย์กว่า 1 ล้านไร่นี้จะไปขายให้ใคร? เราใช้งบประมาณก้อนนี้ไปเพื่อตอบสนองเป้าหมายของประชาชนหรือเป้าหมายของหน่วยงานกันแน่ ?

อีกปัญหาหนึ่ง คือเกษตรกรไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ย เป็นที่ทราบดีว่า ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และผู้ผลิตปุ๋ยในไทยที่ได้มาตรฐานก็มีอยู่ไม่กี่ราย จึงทำให้ปุ๋ยมีราคาแพง โดยคุณพิชัยยุทธมองว่า หากแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยได้ เกษตรกรก็จะสามารถยืนหยัดได้

ด้านภาษี หนึ่งในข้อเสนอของอาจารย์ธีระชัย คือการเก็บภาษีกำไรส่วนต่าง (Capital gain tax) หรือพูดง่ายๆ ก็คือเก็บภาษีจากตลาดหุ้นนั่นเอง ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการเก็บภาษีจากนักลงทุนที่ทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเลย ในขณะที่ภาษีประเภทนี้สามารถเพิ่มฐานภาษีให้กับรัฐบาลและยังลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย ความจริงแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ จากงานเขียนของ Gregor Boehl และ Thomas Fischer ระบุว่าภาษีกำไรส่วนต่างสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง ซึ่งข้อสรุปนี้เกิดจากการเก็บตัวอย่างข้อมูลของสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งพบว่าเมื่อมีการขึ้นอัตราภาษีกำไรส่วนต่าง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศลดลง ในขณะที่ข้อมูลจากสวีเดน ระบุในทำนองเดียวกัน จากกำไรส่วนต่างในปี 1980 กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มขึ้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศก็เก็บภาษีกำไรส่วนต่าง แต่ก็มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศนำรายได้จากกำไรส่วนต่างไปรวมกับรายได้พึงประเมิน ก่อนคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา ขณะที่บางประเทศแยกต่างหากจากรายได้พึงประเมิน ยกตัวอย่าง ประเทศสโลเวเนีย เก็บในอัตรา 25% ของรายได้จากกำไรส่วนต่าง หากถือครองสินทรัพย์นั้นเกิน 20 ปีขึ้นไป จะได้รับการยกเว้น ส่วนประเทศลัตเวีย เก็บในอัตราเดียวคือ 15%

หรือกรณี ออสเตรเลีย ซึ่งมีความใกล้เคียงกับไทย คือ การนำมารวมกับรายได้พึงประเมินก่อนนำมาคิดภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งหากถือครองสินทรัพย์นั้นไม่ถึง 1 ปีจะไม่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อน แต่หากถือครองเกิน 1 ปีจะสามารถลดหย่อนได้ถึง 50%

สำหรับประเทศสหรัฐนั้น มีการเก็บภาษีกำไรส่วนต่างที่ซับซ้อนกว่านิดหน่อย กล่าวคือ กำไรส่วนต่างนั้นครอบคลุมสินทรัพย์หลายประเภททั้งหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรายได้ในส่วนนี้หากเกิดจากการครอบครองสินทรัพย์น้อยกว่า 1 ปี จะต้องนำรายได้นั้นมารวมกับรายได้พึงประเมิน เพื่อคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา ขณะที่หากถือครองสินทรัพย์นั้นมากกว่า 1 ปีจะคิดภาษีในอัตรา 0%, 15%, และ 20% แล้วแต่ว่ารายได้นั้นจะตกในช่วงใด ในขณะที่ผลขาดทุนจากส่วนต่างยังสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้ หากประเทศไทยมีการเก็บภาษีกำไรส่วนต่างได้จริงก็จะเป็นการดี ทั้งต่อเสถียรภาพในตลาดหุ้นและความเหลื่อมล้ำในสังคม

การยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แก้ปัญหาเรื่องปุ๋ย และจัดเก็บภาษีจากตลาดหุ้น จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

โดย...  วิญญู วีระนันทาเวทย์