Marvel กับ Blue Ocean Strategy

Marvel กับ Blue Ocean Strategy

ในวงการภาพยนตร์ปัจจุบัน เรื่องที่ถือว่าร้อนแรงที่สุดคือ ภาพยนตร์ของค่าย Marvel เรื่อง Avengers: Endgame ที่ทำรายได้ถล่มทลายไปทั่วโลก

ตัวบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ดังกล่าว ซึ่งคือ Marvel นั้นก็เป็นกรณีศึกษาทางด้าน Blue Ocean Strategy ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ภายใต้ชื่อ The Marvel Way: Restroring a Blue Ocean

ภายใต้แนวคิดของ Blue Ocean นั้นสิ่งที่ Marvel สามารถทำได้ดีและโดดเด่นคือเรื่องของการทำลายข้อจำกัดในเรื่อง cost/value trade-off หรือการสร้างคุณค่าและความแตกต่างได้ โดยไม่ต้องมีต้นทุนที่สูง

ในอดีต Marvel เคยประสบปัญหาถึงขั้นเกือบล้มละลาย จนกระทั่งเจ้าของรายใหม่ (ชื่อ Isaac Perlmutter) ได้จ้าง Peter Cuneo มาเป็น CEO ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือการสร้างบรรยากาศในองค์กรที่สนับสนุนเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และความกล้าที่จะเสี่ยง ขณะเดียวกันก็หากระแสเงินสดมาเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินงานอยู่ได้ โดยเซ็นสัญญามอบลิขสิทธิ์ของ Spider-Man ให้กับ Sony และ X-Men ให้กับทาง Fox

อาจจะมีความเห็นว่าหนังซุปเปอร์ฮีโร่นั้นเหมือนๆ กันหมด แต่จะพบว่าทั้ง Spider-Man และ X-Men สามารถที่จะทำรายได้ ดีกว่าหนังซุปเปอร์ฮีโร่ของค่ายอื่นเกือบสองเท่า แต่หนังของค่าย Marvel เองกลับสามารถทำรายได้ดีกว่าทั้ง Spider-Man และ X-Men ถึงสองเท่าเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าหนังที่ผลิตโดยค่ายของ Marvel กลับออกมาดีกว่าหนังของค่ายอื่นที่ผลิตโดยใช้ตัวคาแรคเตอร์ของ Marvel

เมื่อหนังทำรายได้สูงแล้ว ก็อาจจะนึกต่อไปว่าจะต้องมีทุนสร้างสูงด้วย แต่ในกรณีของ Marvel นั้นกลับไม่ใช่ เพราะหนังที่ Marvel สร้างนั้นกลับมีทุนที่ต่ำกว่าค่ายอื่นๆ และต่ำกว่าเกือบ 30% แสดงให้เห็นว่าหนังของ Marvel นั้นก่อให้เกิดคุณค่าและความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง แต่ขณะเดียวกันกลับมีต้นทุนที่ต่ำกว่าค่ายอื่นเช่นเดียวกัน

เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดจะยิ่งน่าทึ่ง เพราะตัวคาแรคเตอร์ที่ Marvel ยังคงมีสิทธิ์อยู่นั้น ไม่ใช่ตัวละครที่คนนอกวงการหนังสือการ์ตูนจะรู้จักเท่าใด ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบ Iron Man หรือ Dr. Strange หรือ Ant-Man หรือ Black Panther เทียบกับ Superman หรือ Bat Man หรือแม้กระทั่งเมื่อเทียบกับ Spider-Man เอง เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ที่ Marvel ถือสิทธิ์ไว้นั้น การรู้จักหรือแพร่หลายในแวดวงกว้างนั้นถือว่าไม่มากเท่าใดเลย

ในด้านของความแตกต่างนั้น Marvel สามารถที่จะสร้าง Business model ในรูปของ Cinematic Universe หรือ จักรวาลภาพยนตร์ให้ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ เคล็ดสำคัญของ Marvel คือตัวละครแต่ละตัวนั้นสามารถที่จะยืนหยัดได้อย่างโดดเด่นในหนังของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ชมทราบว่าสุดท้ายแล้วตัวละครในหนังเรื่องต่างๆ ของตนจะเชื่อมโยงกัน แถมยังค่อยๆ สร้างให้ทั้งตัวละครและความเชื่อมโยงนั้น ใหญ่ขึ้น มีพัฒนาการมากขึ้น และซับซ้อนขึ้น จนชวนติดตามมากขึ้น นอกจากนี้การวางแผนการสร้างหนังและฉายหนัง ก็ทำอย่างเป็นระบบ มีหนังในจักรวาลเดียวกันออกมาอย่างต่อเนื่อง และสร้างกระแสให้ผู้ชมคอยคาดเดาความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องของหนังแต่ละเรื่อง

ในส่วนของการทำให้ต้นทุนต่ำนั้น เริ่มจากทั้งผู้กำกับและดาราที่มาแสดงนั้น จะไม่ใช่ระดับท้อปที่ค่าตัวแพงมหาศาล เพราะทาง Marvel มีกลยุทธ์ว่าสิ่งที่เขาขายนั้นคือตัวคาแรคเตอร์มากกว่าดาราที่มาแสดง นอกจากนี้ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าหนังของ Marvel จะไม่ได้ลงทุนมหาศาลเมื่อเทียบกับหนังของค่ายอื่นๆ เช่น แทนที่จะมีฉากรถขับไล่และชนกัน 20 คน หนังของ Marvel จะมีเพียงแค่รถเพียงสองคันที่ขับไล่กันเท่านั้น (เพราะงบประมาณที่จำกัด)

จะเห็นได้ว่าความเชื่อมโยงของ Marvel กับ Blue Ocean นั้นคือการที่ Marvel สามารถที่จะสร้างคุณค่าและความแตกต่าง ขณะที่ควบคุมต้นทุนให้ต่ำได้ และน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับองค์กรอื่นๆ ต่อไป