จับกระแสการเลือกตั้งสภายุโรป นัยต่อโลกและไทย

จับกระแสการเลือกตั้งสภายุโรป นัยต่อโลกและไทย

ปี 2562 นอกจากจะเป็นปีสำคัญทางการเมืองไทยแล้ว ยังเป็นปีที่น่าจับตามองในฝั่งทวีปยุโรปด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่เพียงหลายประเทศในภูมิภาค

จะมีการเลือกตั้ง เช่น ฟินแลนด์ สเปน ลิทัวเนีย เบลเยียม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ กรีซ โปรตุเกส และโปแลนด์ แต่จะมีการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดของยุโรป นั่นก็คือการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 พ.ค. 2562 ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสำคัญในสหภาพยุโรป (อียู) หลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น ประธานสภายุโรป ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และประธานคณะมนตรียุโรป ที่ล้วนแต่จะส่งผลโดยตรงต่อทิศทางนโยบายของอียูในระยะต่อไป ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศ 

ทำความเข้าใจกระบวนการเลือกตั้งอียู 

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปชุดใหม่จำนวน 751 ที่นั่ง (ยกเว้นในกรณีที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียูก่อนวันที่ 23 พ.ค. 2562 ซึ่งจะทำให้ที่นั่งเหลือเพียง 705 ที่นั่ง) เพื่อทดแทนชุดปัจจุบันที่เพิ่งครบวาระ 5 ปีไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยมีการแบ่งกลุ่มการเมืองซึ่งมาจากการรวมตัวของพรรคการเมืองของแต่ละประเทศที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์เหมือนกัน ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์นิยม European People's Party (EPP) และกลุ่มสังคมนิยม Party of European Socialists (Social Democracy หรือ S&D) ที่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งครั้งก่อนเป็นอันดับ 1 และ 2 นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเสรีนิยมและกลุ่มที่มีแนวคิดประชานิยมและชาตินิยมที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในระยะหลัง อาทิ กลุ่ม Movement for a Europe of Liberties and Democracy (ENF) และกลุ่ม Europe of Freedom and Direct Democracy (EFDD)

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ Brexit

โดยที่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูวาระพิเศษเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ได้ลงมติเห็นชอบให้ขยายกำหนดเส้นตายที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกอียู (Brexit) ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2562 เพื่อให้สหราชอาณาจักรมีเวลามากขึ้นในการหาทางออกปัญหาทางการเมืองภายในประเทศที่ทำให้รัฐสภาของสหราชอาณาจักรไม่สามารถให้ความเห็นชอบข้อตกลงถอนตัวที่ทีมเจรจาของทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำได้ ซึ่งหมายความว่าในช่วงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หากสหราชอาณาจักรยังไม่สามารถให้ความเห็นชอบข้อตกลงถอนตัวดังกล่าวได้ สหราชอาณาจักรจะยังคงมีสถานะเป็นสมาชิกอียูและมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเข้าร่วมการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ซึ่ง ณ วันนี้ คงมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่สหราชอาณาจักรจะสามารถหาข้อสรุปและให้ความเห็นชอบข้อตกลงถอนตัวดังกล่าวได้ทันก่อนวันที่ 23 พ.ค. 2562 ด้วยข้อจำกัดทั้งทางด้านเวลาและความเห็นของหลายฝ่ายที่ยังคงต่างกันเกี่ยวกับแนวทาง Brexit

ความท้าทายจากกระแสประชานิยมฝ่ายขวา

ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายยังคงคาดการณ์ว่ากลุ่ม EPP จะยังคงเป็นกลุ่มที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ตามด้วยกลุ่ม S&D แต่โพลหลายสำนักต่างชี้ว่าทั้งสองกลุ่มจะได้ที่นั่งลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยกลุ่ม ENF และ EFDD ที่มีแนวคิดประชานิยมและชาตินิยม (แนวคิดขวาจัด ต่อต้านผู้อพยพ และไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจหรือการรวมตัวของอียู หรือที่รู้จักในชื่อกระแส Euroscepticism) น่าจะได้รับที่นั่งมากขึ้น โดยอาจจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของที่นั่งทั้งหมด ซึ่งจะทำให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในสภายุโรปและจะมีส่วนสนับสนุนเสียงของผู้นำบางประเทศที่มีแนวคิดชาตินิยม เช่น อิตาลี โปแลนด์ และฮังการี โดยแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นคือจะมีการแบ่งขั้วกันชัดเจนมากยิ่งขึ้นระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายสำคัญของอียู เช่น นโยบายต่างประเทศ แผนปฏิรูปยูโรโซน การส่งเสริมระบบการค้าเสรี ตลอดจนการให้ความเห็นชอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ เนื่องจากสภายุโรปชุดใหม่จะไม่มีเสียงข้างมากที่ชัดเจนและขาดเอกภาพ

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอียู

ภารกิจสำคัญอันดับแรกของสภายุโรปชุดใหม่คือคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) ที่แม้ในหลักการประเทศสมาชิกจะเป็นผู้เสนอชื่อแต่ในทางปฏิบัติสภายุโรปซึ่งเป็นผู้ลงคะแนนคัดเลือกและรับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปต้องการให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อสะท้อนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ดังนั้น เราจึงได้เห็นกลุ่มการเมืองต่างๆ ทยอยเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเอง หรือที่เรียกว่า Spitzenkandidaten (Top Candidate) เช่น กลุ่ม EPP เสนอชื่อนาย Manfred Weber ตัวแทนจากเยอรมนีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในขณะที่กลุ่ม S&D เสนอชื่อนาย Frans Timmermann ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนที่ 1 และเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ ขั้นตอนการคัดเลือกประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและการรับรองผลอย่างเป็นทางการน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอียูอยู่ระหว่างการหารือว่าในครั้งนี้จะใช้กระบวนการเสนอรายชื่อโดยกลุ่มการเมืองตามแนวทางข้างต้นหรือไม่ เนื่องจากผู้นำหลายประเทศเช่นฝรั่งเศสต้องการเป็นผู้เสนอรายชื่อเอง ประกอบกับผลโพลที่ชี้ว่ากลุ่ม EPP และกลุ่ม S&D จะได้รับที่นั่งจำนวนใกล้เคียงกันมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ทำให้ยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าผู้ใดจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนต่อไป

สาเหตุที่ทุกฝ่ายต่างเฝ้าจับตาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและกรรมาธิการยุโรปอีก 27 คนซึ่งเป็นเหมือนผู้กำหนดนโยบายของคณะกรรมาธิการยุโรปเนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของอียู เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรมของประเทศ โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและกรรมาธิการยุโรปเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่เสนอกฎหมายเพื่อใช้บังคับกับประเทศสมาชิกทั้งหมด ตลอดจนบริหารจัดการงบประมาณและโครงการต่างๆ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังเป็นตัวแทนของอียูในเวทีโลก มีหน้าที่เจรจาความตกลงระหว่างประเทศซึ่งรวมถึงความตกลง FTA กับประเทศและภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งไทยและอาเซียน โดยกระบวนการรับรองคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 2562 และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 พ.ย. 2562

นอกจากนั้น ในปีนี้ยังจะมีการคัดเลือกประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางและนโยบายของอียูทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเป็นประธานในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูซึ่งเป็นเวทีการประชุมเพื่อตัดสินใจประเด็นสำคัญต่างๆ ของอียู รวมถึงการคัดเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้แทนระดับสูงของอียูด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (EU High Representative for Foreign Affairs and Security Policy) ซึ่งเปรียบได้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอียู และการคัดเลือกประธานธนาคารกลางยุโรป (President of the European Central Bank) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินการคลังของกลุ่มยูโรโซน โดยภายหลังการเลือกตั้งสภายุโรปผู้นำประเทศสมาชิกอียูจะเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูลงมติคัดเลือก โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปีครึ่ง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบุคคลใดน่าจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นทำให้การติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุโรปขณะนี้เป็นเรื่องที่ไทยไม่ควรมองข้ามเพราะทิศทางนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจภายใต้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติชุดใหม่ของอียูย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รวมถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อียูเองเผชิญกับความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาคท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกทวีความรุนแรงและเข้มข้นขึ้น บรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีทิศทางรุนแรงขึ้น อีกทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจของอียูที่ยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปเมื่อปี 2551 ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น อียูยังต้องรับมือกับปัญหา Brexit ที่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเอกภาพของอียู ปัญหาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศสมาชิก ปัญหาการว่างงานของประชาชน ปัญหาผู้อพยพ ปัญหาการก่อการร้าย และปัญหาความมั่นคงอื่นๆ

ปัจจุบัน ทุกฝ่ายต่างจับตามองการกำหนดนโยบายที่สำคัญของอียูที่อาจเปลี่ยนแปลงไปหรือมีเงื่อนไขที่เข้มข้นมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสภายุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) การเจรจาความตกลง FTA และการดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้า (2) การนำประเด็นที่เป็นค่านิยมหลักของอียู อาทิ สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและประชาธิปไตย ตลอดจนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยอาศัยกรอบความร่วมมือและความตกลงต่างๆ ที่อียูมีกับนานาประเทศ (3) การเข้มงวดกับคนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้าอียูเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคง หรือ (4) การส่งเสริมบทบาทของอียูในฐานะผู้กำหนดมาตรฐานและกติการะหว่างประเทศ โดยสิ่งที่ไทยต้องจับตามองเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นเรื่องแนวโน้มที่อียูจะสานต่อนโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงกับเอเชียที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน โดยเฉพาะการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างไทยกับอียู และอียูกับอาเซียน รวมถึงความคืบหน้าการเจรจาและการบังคับใช้ความตกลง FTA กับประเทศอื่นๆ ที่อาจเป็นคู่แข่งของไทย