ใครฉีกรัฐธรรมนูญ ?

ใครฉีกรัฐธรรมนูญ ?

วันที่ ๒๖ เมษายนที่ผ่านมา ท่านประธานศาลฏีกา ท่านชีพ จุลมนต์ ได้ในงานสัมมนาคณะผู้เข้ารับการอบรมผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงรุ่นที่ ๒๓

มีใจความสำคัญว่า “ปัญหาทุกวันนี้ คนไทยเราไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดการปกครองประเทศ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่องค์กรต่างๆ ไว้ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ศาล องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเขียนไว้ในกฎหมายหมด แต่คนไทย สังคมไทยเราไม่ยอมรับ องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เมื่อวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ถ้าไม่พอใจ คนไทยส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ ถามว่า สังคมเราจะอยู่ได้อย่างไร หากเราไม่ยอมรับ องค์กรที่มีหน้าที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็ต้องใช้กฎหมายเถื่อน ใช้ความป่าเถื่อน จะกลายเป็นใช้ความพึงพอใจส่วนตัว สังคมไม่สงบสุข ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวที่เป็น ทั่วโลกแม้ประเทศซึ่งอ้างว่าศิวิไลซ์ ประเทศเจริญแล้ว หากไม่พอใจรัฐ ก็ออกมาก่อความวุ่นวายมากมาย

สาระสำคัญข้างต้นก็คือ ปัญหาบ้านเราเกิดจากการที่ผู้คนไม่ยอมรับสิ่งที่กฎหมายได้กำหนดไว้ การจะให้ปัญหาไม่บานปลายจนเกินไปนั้น ในความเห็นของท่านประธานศาลฎีกาก็คือ คนไทยควรยอมรับปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด 

เมื่อกล่าวเช่นนี้ แน่นอน หลายคนคงเดาได้ว่า จะมีกระแสโต้ความเห็นของท่านชีพอย่างไร ?  

มีการโพสต์ข้อความและมีรูปท่านชีพว่า แล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไร หากตุลาการยังยอมรับคนที่ ฉีกรัฐธรรมนูญว่า..ทำได้..ไม่ผิด !!” 

เมื่อพูดถึง “การฉีกรัฐธรรมนูญ” ผู้คนไม่น้อยย่อมนึกถึงการทำรัฐประหารเป็นสิ่งแรก แต่แน่ใจหรือว่า ผู้ทำรัฐประหารคือ “ผู้ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก” ? เมื่อย้อนไปดูการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดคือรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นคือวิกฤตการเมืองในปี 2556 - 2557 ที่มีความพยายามจะเข็นร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง และความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นหลังนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีวินิจฉัยออกมาว่า ความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวนี้ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายที่ไม่พอใจก็ไม่ยอมรับ ขณะเดียวกัน การชุมนุมประท้วงต่อความพยายามเข็นร่าง พ.ร.บ. เหมาเข่งนั้น ก็บานปลายและมีการชุมนุมประท้วงเลยเถิดไปจนถึง “การปิดกรุงเทพฯ” และสถานที่ราชการต่างๆ มีการปฏิเสธไม่ยอมรับการบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดาทั่วไปหรือแม้แต่กฎหมายสูงสุดก็ตาม 

ดังนั้น เรื่องใครฉีกรัฐธรรมนูญก่อน ? จึงต้องพิจารณาให้เห็นตามจริง ซึ่งการจะเข้าใจเรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญหรือการไม่เคารพกฎหมายโดยทั่วไปนั้น สามารถเข้าใจได้ผ่านแนวคิดเรื่อง failed state หรือ state decay ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายขั้นตอนของรัฐที่ค่อยๆเริ่มมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย และถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ระบบราชการก็จะไม่สามารถบริการประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนประชาชนต้องพึ่งตัวเอง ขณะเดียวกัน อาจถึงขั้นไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้ และพื้นที่ในประเทศจะแบ่งตัวกันดูแลตัวเองเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ต่างประเทศจะมีปัญหาไม่รู้ว่าจะติดต่อกับรัฐบาลได้ที่ไหนอย่างไร ในที่สุด รัฐก็จะล้มเหลว และกลายสภาพเป็นพื้นที่ที่ตัวใครตัวมัน อาจมีการอพยพออก มีสงครามกองโจร สงครามกลางเมือง (หากมีมหาอำนาจเข้ามีสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) 

จากแนวคิดเรื่อง state decay จนถึง failed state จะพบว่า รัฐธรรมนูญจะค่อยๆถูกกัดเซาะผุพังไปทีละเล็กละน้อยและเลื่อนไหลไปจนกระทั่งไปสู่สภาวะอนาธิปไตยหรือกึ่งอนาธิปไตย วิธีการหนึ่งที่จะหยุดไม่ให้รัฐเลื่อนไหลไปสู่สภาพนี้คือ ต้องมีอำนาจที่มาหยุดสถานการณ์ดังกล่าว และฟื้นฟูระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายกลับมา อาจจะกินเวลามากน้อย ก็แล้วแต่ความรุนแรงของปัญหา แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมา หรือแยกแยะไม่ออกได้ง่าย คือ การพยายามจะรักษาฟื้นฟูให้พ้นวิกฤตอย่างน่ามั่นใจ กับ การสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ขณะเดียวกัน ก็ต้องพึงระวังแนวคิดเรื่อง failed state ด้วย เพราะแนวคิดถูกสร้างขึ้นโดยนักวิชาการอเมริกันเพื่อใช้กับรัฐอื่นๆ เมื่อสหรัฐฯประกาศว่ารัฐใดเป็น failed state หรือเข้าสู่ภาวะนี้ ก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้น โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในที่นั้น 

และเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยอีก ท่านชีพจึงแนะว่า จึงอยากฝาก ถ้าเราไม่ยอมรับกติกา ไม่ว่ากติกาใดๆทั้งสิ้น ก็วุ่นวาย หากเราไม่เห็นด้วยกับกติกาก็ต้องแก้กติกาก่อน แต่เมื่อวินิจฉัยหรือตัดสินออกมาแล้ว ไม่มีทางพึงพอใจได้ทุกฝ่าย ยืนยันที่ไหนในโลกก็เป็นแบบนี้” ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ดูคล้ายว่า กำลังจะเกิดสภาวะซ้ำรอยอีก จากการที่จะไม่ยอมรับเคารพกฎหมาย ซึ่งท่านชีพก็กล่าวไปชัดเจนแล้วว่า หากไม่เห็นด้วยกับกติกา ก็ควรจะหาทางแก้กติกาก่อน แต่เมื่อยังไม่ได้แก้ ก็ควรที่จะยอมรับ มิฉะนั้นบ้านเมืองก็จะวนเข้าสู่วังวนเดิม และท่านก็แนะอีกด้วยว่า “ความเป็นผู้ใหญ่วัดกันที่ความอดทนเป็นสำคัญ จึงอยากให้แต่ละฝ่ายเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกันและกัน” ความเป็นผู้ใหญ่ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคนแก่หรือคนอายุมาก ท่านน่าจะหมายถึงการมีวุฒิภาวะมีสติมีความอดทนอดกลั้น 

 ที่จริงสิ่งที่ท่านชีพกล่าว นั่นคือ หากไม่ชอบกฎหมายก็ควรปฏิบัติตามไปก่อน และก็หาทางที่จะแก้กฎหมายนั้นตามกระบวนการที่กำหนดไว้ ก็มีหลักการทางปรัชญารองรับ นั่นคือ แนวคิดเรื่องการเข้าสู่ภาวะแห่งปัญญา (Enlightenment) ของนักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อ เอมมานูเอล คานต์ ที่เน้นว่า ภาวะของการมีปัญญาคือการหลุดพ้นจากความอ่อนด้อยทางวุฒิภาวะ และก็ไม่น่าแปลกใจที่คานต์บอกว่า ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย เพราะเราเริ่มตาสว่างมีสติปัญญาคิดได้เองและเห็นแล้วว่าอะไรที่ดำรงอยู่ในสังคมมันผิดหรือถูก สิ่งที่เราควรทำ ไม่ใช่การปฏิเสธและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นทันที แต่เราควรที่จะพยายามขายความคิดข้อเสนอของเราต่อสังคม เพื่อชวนให้สังคมใช้เหตุผล สังคมอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มันก็จะเกิดบทสนทนาทางปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น ถ้าสังคมยังไม่เห็นด้วย เราก็ต้องอดทนรอ หากจะไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า สิ่งที่เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ 

1) ไม่ใช่เราคนเดียวที่จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า คนอื่นๆเขาก็จะทำ และอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ บ้านเมืองก็จะเกิดความไร้ระเบียบและความขัดแย้งชุลมุน 2) ถ้าเราใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติสังคมตามสิ่งที่สติปัญญาของเราได้บรรลุเห็น แต่ถ้าผู้คนในสังคมไม่เห็นไม่เข้าใจ การปฏิวัติของเราก็เป็นเพียงการปลดแอกเก่าไป และก็เอาแอกใหม่ของเรายัดเหยียดให้ประชาชน และถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดีๆที่เราออกด้วยความหวังดี พวกเขาก็ยากที่จะปฏิบัติตามอย่างสมัครใจ เมื่อพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม เราก็จะพยายามบังคับใช้กฎหมายโดยเข้มงวดบทลงโทษมากขึ้น แล้วก็จะลงเอยด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นคือ ไม่เรากลายเป็นผู้หวังดีที่เผด็จการ หรือไม่ประชาชนเขาก็ลุกฮือขับไล่เราออกไป