อัคคีภัยที่ป้องกันได้

อัคคีภัยที่ป้องกันได้

จากเหตุการณ์ไฟไหม้หอพักนักเรียนหญิงระดับประถมของโรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย ในคืนวันที่ 22 พ.ค.2559

ณะนักเรียนพักอาศัยอยู่ภายใน 38 คน อายุระหว่า 5- 12 ปี ซึ่งหลังควบเพลิงให้อยู่ในความสงบได้ พบว่านักเรียนเสียชีวิต 17 คน ได้รับบาดเจ็บ 5 คน

ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่บทเรียนราคาแพงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในจ.เชียงราย ทำให้เกิดการตื่นตัวในชุมชุมและโรงเรียนในจังหวัดแห่งนี้ เพื่อป้องกันอัคคีภัยให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านในชุมชนหลายกลุ่มได้เตรียมพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์ไฟไหม้ในหลากหลายรูปแบบวิธีการป้องกัน ทั้งฟื้นไฟที่ก่อไฟหุงต้มข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องดับไฟให้สนิท ดูทุกสิ่งทุกอย่างปิดไฟ ถอดปลั๊ก ก่อนออกจากบ้าน

แม้ว่าในวันนี้โรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา จะได้ติดตั้งเครื่องเตือนควันไฟและระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ให้แล้ว แต่ก็ยังมีโรงเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่พร้อมกับการป้องกันอัคคีภัย ดังนั้น จึงต้องขอรณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้นต่อไป

ผมในฐานะประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยอัคคีภัย สภาวิศวกร จึงขอแนะนำมาตรการ 3 ต เพื่อเน้นการป้องกันอัคคีภัยสำหรับบ้านและหอพัก

มาตรการ ต1 คือ “ตรวจตรา คือ ต้องดูแลด้านอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องของจุดต้นเพลิงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ถังแก๊สใช้งานแล้วไม่ได้ปิด ซึ่งสาเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ในกรณีบ้านเรือนจะมี อยู่ 3 เรื่องนี้ คือ ไฟฟ้า ธูปเทียน และอุปกรณ์ในครัว ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นประมาณ 90% ของอัคคีภัยที่เกิดขึ้นในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย”

มาตรการ ต2 คือ อุปกรณ์เตือนควันไฟ ซึ่งสภาวิศวกร วิศวกรอาสา และภาคีเครือข่าย พยายามรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักอุปกรณ์เตือนควันไฟให้มากขึ้น เนื่องจากว่าเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อใช้งาน ติดตั้งง่าย ดูแลง่าย ที่ไม่เป็นภาระ ช่วยเหลือเราในเบื้องต้นได้ แนะนำให้ติดตั้งอย่างน้อย 1 ตัวบริเวณโถงหน้าห้องนอน

มาตรการ ต3 คือ เตรียมตัว เพื่อวางแผนหนีไฟไว้ก่อน มองหาทางสำรอง เข่น หน้าต่างหรือระเบียง ภายในห้องนอน เพื่อใช้กรณีหนีออกจากห้องนอนทางประตูปกติไม่ได้

นอกจาก การเตรียมด้านอุปกรณ์แล้ว การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการอพยพหนึไฟอย่างถูกต้อง การจัดการเรียนการสอนบูรณาการให้เข้ากับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนในทุกกลุ่มสาระ โดยจัดทำหลักสูตร ก็มีความจำเป็นที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้ปลอดภัยมากขึ้น โดยปัญหาสำคัญที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถหนีออกได้ทัน คือ ควันไฟที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ที่สูดดมควันไฟแล้ว เกิดสลบ และไม่ทันหนีออกมาตามเส้นทางปกติหรือบันไดได้

สรุปสาเหตุเพลิงไหม้หอพักของโรงเรียนแห่งนี้ คาดว่า มาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เช่นเดียวกับเหตุเพลิงไหม้อีกจำนวนมากที่มักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ด้วยการเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรโดยมากมักจะเกิดขึ้นจากปลั๊กไฟ และวงจรไฟฟ้าภายในบ้านเสียหาย จนเป็นให้สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต ซึ่งในจำนวนเด็กทั้งหมดที่รอดชีวิต ได้ใช้หน้าต่างห้องนอนผูกเชือกและห้อยตัวหรืออุ้มลงมา จำนวน 21 คน

ทั้งนี้ ควันจากกองเพลิง เกิดขึ้นจากการลุกไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เปลวไฟจะมีสีส้ม และจะมีควันพิษออกมาด้วย คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ ซึ่งจะปรากฎในช่วงเริ่มต้นของไฟที่ลุกไหม้เสมอ ก๊าซชนิดนี้จะไม่มีกลิ่น เมื่อหายใจเข้าไปจะทำให้หลับลึก มีโอกาสมากที่จะไม่ตื่นขึ้นมา

สำหรับวิธีการดับเพลิงอย่างปลอดภัย หากเรามีถังดับเพลิงก็จะง่าย แต่ตามบ้านเรือนโดยทั่วไปมักไม่มีถังดับเพลิงติดไว้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น วิธีการดับไฟ Class C หรือไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลอยู่ในระบบแล้วทำให้เกิดความร้อน ลุกติดเป็นเปลวไฟขึ้นมา สิ่งที่จะเป็นอันตรายจากไฟ Class C คือ กระแสไฟฟ้าที่ยังไหลอยู่ ถ้าดับผิดวิธี เช่น การนำน้ำไปสาดไฟ ถ้าสาดผิดวิธี กระแสไฟฟ้าอาจจะวิ่งตามสายน้ำมาถูกดูดตัวเราได้ จะเป็นอันตรายได้ ดังนั้นการดับไฟ อันดับแรก คือ ตัดสวิชต์ไฟที่เป็นเมนหลักภายในบ้านเสียก่อน

แต่ถ้าพบเหตุการณ์ช้า แล้วเกิดลุกติดเปลวไฟภายในบ้าน และตัดสวิชต์ที่เป็นเมนหลักแล้ว ไฟที่ไหม้ก็ยังไม่ดับ นั่นแปลว่าเราเจอเหตุการณ์นี้ช้าไปแล้ว ไฟได้ไหม้ติดเชื้อเพลิงชนิดอื่นแล้ว เช่น ไม้ หรือพลาสติก ต้องใช้ถังเพลิงเข้าช่วยดับ หรือในกรณีที่เรามั่นใจว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลในจุดเกิดเหตุแล้ว สามารถนำผ้าเปียกชื้นนำไปคลุมที่เปลวไฟ เปลวไฟจะลดลง ถ้ายังไม่หมดเปลวไฟ สามารถใช้ผ้าเปียกชื้นอีกผืนมาคลุมทับไปอีกได้ หรือฟ๊อกกี้สเปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิและดับไฟได้ ลักษณะนี้ใช้ได้กรณีที่พื้นที่ที่ไหม้ไฟนั้นไม่ใหญ่มากนักและสามารถเข้าถึงได้ แต่หากเป็นไฟขนาดใหญ่แล้วให้รีบหนีไฟออกจากบ้านและโทรศัพท์เรียกรถดับเพลิง หมายเลข 199 ทันที

ปัจจุบันเกิดเหตุไฟไหม้อาคารนับได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 พันครั้ง แต่ละครั้งสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราสามารถป้องกันเหตุร้ายเช่นนี้ได้ ด้วยหลักการ 3 ต.ดังนี้ 1.ตรวจตราเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตรวจตราเตาแก๊สให้เรียบร้อย ไม่จุดธูปเทียนทิ้งไว้ 2. เตือนภัย คือ การติดตั้งอุปกรณ์เตือนควันไฟหรือ smoke alarm ไว้ภายในบ้าน เพื่อให้เตือนภัยได้ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ 3.เตรียมตัว เรียนรู้เส้นทางหนีสำรอง หากออกทางหนีปกติไม่ได้ เช่น หนีออกทางหน้าต่าง หรือทางหนีไฟ ซึ่งสามารถใช้ได้ในวินาทีวิกฤตนั้นได้

หากเราสามารถเตรียมการ ”ป้องกัน” ทั้งหมดนี้ได้ จะสามารถปลอดภัยจากอัคคีภัยได้มากขึ้น กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาการเกิดไฟไหม้หอพักนักเรียนอย่างไม่คาดคิด โดยที่เราสามารถเริ่มต้นด้วยกัน ”ป้องกัน” ในคำขวัญที่ว่า อัคคีภัยป้องกันได้ แค่ใส่ใจไม่ประมาท

โดย... 

ดร.พิชญะ จันทรานุวัฒน์ 

ประธานคณะทำงานส่งเสริมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย สภาวิศวกร