10 สงครามอภิมหาอำนาจ (2)

10 สงครามอภิมหาอำนาจ (2)

บทความที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงสัญญาณของสงครามอภิมหาอำนาจ (hegemonic war) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ปรากฏใน 5 แนวรบ

ได้แก่ สงครามการค้า สงครามอัตราแลกเปลี่ยน สงครามเทคโนโลยี สงครามข้อมูลข่าวสาร และสงครามสื่อ

ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึงอีก 5 แนวรบ ดังต่อไปนี้

6.สงครามทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation War) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศแนวนโยบาย “America First” ทำให้สหรัฐ ลดบทบาทการเป็นผู้นำของโลกเสรี จากการถอนตัวออกจากข้อตกลงเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ยูเนสโกและข้อตกลงปารีส

จีนจึงฉวยโอกาสแสดงบทบาทผู้นำโลกแทนสหรัฐ โดยการประกาศการลงทุนในพลังงานทดแทน การยืนยันเปิดประตูทางเศรษฐกิจ และการสานต่อข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ

จีนยังพยายามขยายเขตอิทธิพล โดยการสร้างความสัมพันธ์หรืออำนาจละมุน (soft power) ผ่านความร่วมมือต่างๆ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการขยายบทบาทของจีนในเวทีโลก คือ ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งสามารถดึงความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ได้ถึง 134 ประเทศ

7.สงครามแนวกั้น/สงครามปิดล้อม (Containment War) ด้วยเหตุที่ภูมิศาสตร์ของจีนมีทางออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเพียงด้านเดียว แต่ทางออกสู่มหาสมุทรของจีนกลับถูกปิดล้อมด้วยเขตน่านน้ำของประเทศอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรของสหรัฐ จีนจึงต้องพยายามฝ่าวงล้อมและผลักดันเขตอิทธิพลของสหรัฐ ให้ออกห่างจากดินแดนของตน

จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกในสงครามปิดล้อม ด้วยการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล การอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ การตั้งฐานทัพเรือนอกอาณาเขต การเปิดตลาดอาวุธสงคราม และสร้างสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐ เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย

แต่ความพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย ได้ทำให้เกิดข้อพิพาทกับญี่ปุ่น และ 4 ประเทศในอาเซียน และสร้างความกังวลให้แก่อินเดีย สหรัฐ จึงใช้โอกาสนี้สร้างแนวร่วมในการปิดล้อมจีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้ง Quadrilateral Security Dialogue (Quad) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนในเขตอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งสร้างสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจีน แม้แต่กับประเทศที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนอย่างเวียดนาม

8.สงครามป้องกันภัยคุกคาม (Defense Threat War) ปัจจุบัน แม้ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของจีนยังต่ำกว่าสหรัฐ หลายเท่าตัว แต่จีนมีอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทางการทหารมากที่สุดในบรรดาประเทศมหาอำนาจ โดยมีการเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 118 ในช่วงปี 2007-2016 ในขณะที่สหรัฐ มีงบดังกล่าวลดลง 4.8% ในช่วงเดียวกัน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีนโยบายเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพการทหาร โดยมีเป้าหมายพัฒนากองทัพให้ทันสมัยอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2035 และเป็นกองทัพระดับโลกในปี 2050 ซึ่งจะทำให้จีนสามารถต่อกรกับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้อย่างทัดเทียม

จีนยังลงทุนจำนวนมหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีการทหาร ทำให้จีนสามารถพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ได้ อาทิ เรือบรรทุกเครื่องบินที่ประกอบจากเทคโนโลยีของจีนทั้งหมด เครื่องบินขับไล่ล่องหน ฯลฯ ทำให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกอาวุธที่มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ จีนยังสร้างพันธมิตรทางการทหารอย่างใกล้ชิดกับรัสเซีย ซึ่งถูกกีดกันจากสหรัฐ และพันธมิตรในยุโรป

 การก้าวขึ้นมาของจีน ทำให้สหรัฐ ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระกรวงกลาโหมของสหรัฐ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเพิ่มงบประมาณทางทหาร โดยให้น้ำหนักกับภัยคุกคามจากจีนและรัสเซียมากกว่าการก่อการร้าย

นอกจากนี้ การที่สหรัฐ จะถอนตัวจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่ทำกับรัสเซีย (NIF) และกดดันให้ประเทศสมาชิกนาโต้เพิ่มเงินสมทบด้านกลาโหม สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐ มองจีนเป็นภัยคุกคามเช่นเดียวกับรัสเซีย สหรัฐ จึงไม่ต้องการให้สนธิสัญญาดังกล่าวมาเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันทางการทหารกับจีน รวมทั้งต้องการกดดันให้พันธมิตรร่วมรับผิดชอบในการป้องกันภัยคุกคามจากจีนและรัสเซียมากขึ้นด้วย

9.สงครามตัวแทน (Proxy War) แม้การปะทะกันของสหรัฐ และจีนในแนวรบต่างๆ ข้างต้น มีโอกาสนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารเข้าสู้รบกัน แต่การที่ทั้งสองประเทศครอบครองอาวุธร้ายแรง จึงพยายามหลีกเลี่ยงการเปิดแนวรบในอาณาเขตประเทศของตัวเอง จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดสงครามตัวแทนในดินแดนของประเทศที่สาม

สงครามกลางเมืองของซีเรียอาจนับได้ว่า เป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐและจีนในระดับหนึ่ง เพราะจีนในฐานะพันธมิตรของรัสเซียได้เข้าไปสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดด้วยเช่นกัน โดยมีแรงจูงใจคือผลประโยชน์ในการขายอาวุธและการเข้าไปฟื้นฟูประเทศซีเรียหลังสงคราม รวมทั้งการจัดการกับชาวอุยกูร์ที่มาเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย

ในอนาคต สงครามตัวแทนระหว่างสองอภิมหาอำนาจมีโอกาสเกิดมากขึ้น โดยดินแดนที่มีความเสี่ยงจะเกิดสงครามตัวแทน คือ ภูมิภาคที่ทั้งสองฝ่ายต้องการแย่งชิงเข้ามาเป็นพวกของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ตามแนวเส้นทางสายไหมของจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รวมถึงแอฟริกาตะวันออก

นอกจากนี้ ประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดสงครามตัวแทน คือ ประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกหรือประเทศที่มีทรัพยากรที่สำคัญ และมีปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในเวลานี้

10.สงครามทางการทหาร (Military War) สงครามทางการทหารเต็มรูปแบบระหว่างสองอภิมหาอำนาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างรุนแรงทั้งสองฝ่าย และทั้งสองประเทศยังมีความสัมพันธ์กันทั้งทางการค้า การลงทุน และการพึ่งพากันและกันค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม การปะทะกันทางทหารในระดับย่อยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากกองทัพสหรัฐ มีทหารเข้าประจำการมากกว่า 200 จุดทั่วเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่จีนมีแนวโน้มขยายปฏิบัติการทางทหารในเอเชีย แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติในการทำสงคราม และการพัฒนากองกำลังอวกาศ อาจทำให้สงครามเกิดได้ง่ายขึ้น แต่จะเป็นสงครามที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตน้อยลง

จากสำนวนไทยที่กล่าวว่า“ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาและทำความเข้าใจแนวคิด แรงจูงใจ ยุทธศาสตร์ แนวรบ และผลกระทบของสงครามระหว่างสหรัฐกับจีน เพื่อเราจะสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามได้อย่างเหมาะสม และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศไว้ได้