แย่งเมือง

แย่งเมือง

“แย่งเมือง” กีฬาพื้นเมืองที่นิยมเล่นกันมากในจังหวัดสงขลา และเห็นการละเล่นกันโดยทั่วไปตามจังหวัดต่างๆ ของภาคอื่นๆ

จากหลักฐานพบว่าน่าจะเล่นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อน พ.ศ.2480 สันนิษฐานว่า เลียนแบบการรบโบราณ จะมีหัวหน้าออกรบเมื่อหัวหน้าแพ้ ถือว่าแพ้ทั้งกองทัพ ครั้นยามบ้านเมืองสงบ ห่างการศึก จึงมีผู้คิดกีฬา แย่งเมือง ขึ้น เพื่อฝึกจิตใจ และปลุกใจให้คนรุ่นหลังมีนิสัยเป็นนักต่อสู้ เห็นความสำคัญของการเป็นหัวหน้า

ปัจจุบัน การละเล่นแบบนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากบ้านเมืองของเรา ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อนเล่นของเด็กๆ อยู่ในมือถือ

จำได้ว่าเมื่อ 40-50 ปีก่อน ผมกับเพื่อนๆ เล่นกันได้ทุกโอกาสที่ว่าง นิยมเล่นกันเป็นการรื่นเริงของพวกเรา

เล่นได้ทั้งชายและหญิง ไม่ต้องใช้อุปกรณ์การเล่น แค่มีสนามหญ้าโรงเรียน หรือลานวัด แบ่งทีมคละกันทั้งชายหญิง ขีดเส้นยาวๆ 1 เส้น “แบ่งแดน ทั้ง 2 ฝ่ายยืนอยู่คนละด้าน แต่ละฝ่ายเลือก หัวเมือง” ของตัวเอง ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆ ยืนต่อท้ายหัวเมืองเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง มือจับเอวต่อกันให้มั่น

เมื่อกรรมการให้สัญญาณ “หัวเมือง ทั้ง 2 ฝ่าย ใช้ไหวพริบและโอกาสจับมือซึ่งกันและกัน ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆ นอกจากดึงหัวเมืองของตนเองไว้ ก็ต้องออกแรงเพื่อดึงหัวเมือง ของอีกฝ่ายให้เข้ามาในแดนของตน ฝ่ายใดดึงหัวเมืองของอีกฝ่ายเข้ามาในเขตของตัวเองได้ ถือว่าชนะ

มีกติกา คือ การดึงหัวเมืองของฝ่ายตรงข้าม ต้องดึงให้เข้ามาทั้งตัว เมื่อล้ำเข้ามาเขตในของอีกฝ่ายที่ดึงได้ จึงจะถือว่าข้ามเขตแดนแล้ว

เมื่อเสียเมือง อนุญาตให้มีการเปลี่ยน “หัวเมือง” ได้เมื่อจบการแข่งขันแต่ละครั้ง

นึกๆ ดูแล้ว ผ่านมา 50 ปี แย่งเมือง ผมเพิ่งเข้าใจว่าเกมนี้ไม่ได้สูญหายไปจากเมืองไทย เพราะผมเห็นนักการเมืองกำลังแบ่งฝ่ายขีดเส้นกลางสนาม เล่นเกม “แย่งเมือง” กันให้คึกอยู่ในเวลานี้