ผู้นำต้องนำ เมื่อประเทศถึงทางตัน

ผู้นำต้องนำ เมื่อประเทศถึงทางตัน

เดือนเมษาฯ นี้ ผมเขียนเรื่องการเมืองหลายครั้ง ก็เพราะความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ บทความวันนี้ก็เป็นเรื่องการเมือง

 แต่เป็นการเมืองของประเทศอังกฤษที่ดูเหมือนจะมาถึงทางตันเหมือนกัน เพราะยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่อง Brexitหรือ กระบวนการที่อังกฤษจะออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปได้ คือแม้เวลาจะผ่านมาแล้วเกือบสามปีแต่นักการเมืองอังกฤษก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่า จะเลือกการออกจากสหภาพยุโรปอย่างไร เป็นความไม่แน่นอนที่กระทบประชาชนและภาคธุรกิจทั้งในอังกฤษและยุโรป เมื่อเป็นเช่นนี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในฐานะผู้นำประเทศก็ต้องผลักดันให้ประเทศมีคำตอบ ไม่ว่าคำตอบจะออกมาอย่างไร เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำ นี่คือ ประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ประชาชนอังกฤษได้ลงประชามติ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ปี 2016 ให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หลังอังกฤษเป็นสมาชิกมากว่า 40 ปี แต่จนถึงปัจจบัน รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางเทเรซ่า เมย์ ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษว่า จะนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างไร จนเลยเวลาที่กำหนดไว้เดิมที่ต้องเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้องขอเวลาเพิ่มเป็นวันที่ 31 ตุลาคมปีนี้ ซึ่งหมายความว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษยังไม่เห็นชอบร่างข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรปที่รัฐบาล โดยนางเทเรซ่า เมย์ เสนอภายในวันที่ 31 ตุลาคมปีนี้ อังกฤษก็ต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง คือ ไม่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิของประชาชนชาวอังกฤษและยุโรป หลังวันที่ 31 ตุลาคม จะเป็นอย่างไร จะมีการให้สิทธิพิเศษระหว่างกันหรือไม่ และความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปจากรูปแบบปัจจุบันมากหรือน้อยอย่างไร นี่คือความไม่ชัดเจนที่สร้างปัญหาต่อทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรปมาก

ในเรื่องนี้ นักลงทุนมองว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจรับรองข้อตกลงการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของอังกฤษยืดเยื้อและไม่สามารถหาข้อยุติได้จนถึงขณะนี้ก็เพราะ ทั้งนักการเมืองที่ต้องตัดสินใจและประชาชนอังกฤษที่ได้ลงคะแนนในประชามติต่างไม่ได้ตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาของสิ่งที่ได้ตัดสินใจไป กล่าวคือ

หนึ่ง ในช่วงการลงมติ ประชาชนอังกฤษส่วนใหญ่มีความเข้าใจแตกต่างกันว่า การออกจากสหภาพยุโรป หมายถึงอะไร บางคนเข้าใจว่า หมายถึงการออกจากรูปแบบความร่วมมือปัจจุบันกลับไปสู่ความร่วมมือแบบเขตการค้าเสรีที่ไม่เก็บภาษีระหว่างประเทศในกลุ่ม แต่เก็บภาษีกับประเทศนอกกลุ่ม(Custom Union) บางคนเข้าใจว่า กำลังลงมติให้ออกเพื่อหยุดนโยบายการเคลื่อนไหวเสรีของแรงงานข้ามพรมแดน บางคนเข้าใจว่า การออกคือการปลดล็อคอิทธิพลของรัฐบาลสหภาพยุโรปที่มีต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของอังกฤษ เพื่อให้อังกฤษสามารถกำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น ดังนั้น เมื่อร่างข้อเสนอการออกที่รัฐบาลเสนอมีรายละเอียดมากมายและมีสาระไม่ตรงกับสิ่งที่เข้าใจ การตอบรับข้อตกลงทั้งฉบับจึงเกิดปัญหาทันที

สอง ผลประชามติที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในประเด็นนี้ในทุกมิติของสังคมอังกฤษ มากกว่าและลึกกว่าที่นักการเมืองได้ตระหนัก จากที่ผลคะแนนใกล้เคียงกันมาก คือ ให้ออกหรือ Brexit ร้อยละ 51.9 ให้อยู่ในยูโรปหรืออียูต่อ ร้อยละ 48.1 ความแตกต่างนี้แบ่งอย่างชัดเจนตามพื้นที่ เช่น ลอนดอน สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ต้องการอยู่ต่อ แต่เขตในภูมิภาคและชนบทอังกฤษต้องการออกจากอียู นอกจากนี้ คนหนุ่มสาวกับคนสูงวัยก็มีความเห็นต่างกัน คนรุ่นหนุ่มสาวไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะความเป็นสากล คือ การใช้ชีวิตของพวกเขาเทียบกับคนสูงวัยที่อนุรักษ์นิยมและกลัวผลของโลกาภิวัฒน์ความเห็นที่แตกต่างนี้ ทำให้นักการเมืองอังกฤษส่วนหนึ่งไม่สามารถวางตัวหรือมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ที่อาจไม่เหมือนสิ่งที่ตนเองคิดหรือที่เป็นมติพรรค

สาม สหภาพยุโรปไม่ต้องการให้อังกฤษออกจากสมาชิกภาพ เพราะจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นทำตาม ซึ่งจะบั่นทอนความเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรปในที่สุด จึงได้ทำให้กระบวนการออกยุ่งยากและมีต้นทุนสูงอย่างตั้งใจ นำไปสู่การเจรจาที่ใช้เวลานาน ขณะเดียวกันก็พร้อมผ่อนปรนให้เวลาอังกฤษมากขึ้นในการตัดสินใจ โดยเฉพาะถ้าการตัดสินใจเป็นประโยชน์ต่อข้อตกลงที่รัฐบาลอังกฤษและสหภาพยุโรปจะมีร่วมกันหลังอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

สำหรับตัวนายกรัฐมนตรี นางเทเรซ่า เมย์ ที่เข้ามารับตำแหน่งหลังนายเดวิด คาเมร่อน นายกรัฐมนตรีคนก่อนต้องลาออกหลังผลประชามติออกมา จริงๆ แล้ว นายกรัฐมนตรี เมย์ ลงคะแนนในประชามติสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป แต่พอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้การออกจากสหภาพยุโรปเกิดขึ้นจริงตามมติของประชาชน จึงเริ่มกระบวนการผลักดันการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อให้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปว่า เมื่ออังกฤษออกจากสมาชิกภาพ แล้วความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อภาคธุรกิจและประชาชน

นายกรัฐมนตรี เมย์ ให้ความสำคัญและใช้เวลามากกับเรื่องนี้ และพยายามให้ได้ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ ตรงตามเจตนารมย์ของประชามติ และสามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้โดยไม่สร้างผลกระทบจนเกินไป และในฐานะผู้นำประเทศ ก็ย้ำเสมอว่า การออกจากสหภาพยุโรปก็คือการออกจากสหภาพยุโรป แสดงจุดยืนชัดเจนที่จะทำตามมติของประชาชนตามความรับผิดชอบที่มี

หลักสำคัญของข้อตกลงที่รัฐบาลอังกฤษทำกับสหภาพยุโรปก็คือ รักษาไว้ซึ่งหลักการสำคัญว่า การออกจากสหภาพยุโรปก็คือการออกจากสหภาพยุโรป โดยหลังออกแล้วจะไม่มีเขตการค้าเสรี ไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดนอย่างเสรี ไม่มีนโยบายด้านการเกษตรและประมงที่อิงนโยบายของสหภาพยุโรป เป็นต้น แต่มีการสงวนพื้นที่เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งอังกฤษและยุโรปสามารถปรับตัวได้ต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ เรื่องสิทธิการอาศัยอยู่ในอังกฤษของคนยุโรป ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษขณะนี้ รวมถึงสิทธิของคนอังกฤษที่อาศัยอยู่ในยุโรป ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

แต่การตอบรับข้อเสนอที่เสนอโดยรัฐบาลอังกฤษต่อสภาผู้แทนราษฎรของตนเองออกมาผิดหวังมาก คือข้อเสนอของรัฐบาลเทเรซ่า เมย์ ว่าด้วยข้อตกลงการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปไม่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษถึงสองครั้งในปีนี้ และเป็นการแพ้แบบขาดลอยซึ่งชี้ว่าแม้ ส.ส.ในพรรครัฐบาลเองบางส่วนก็ไม่สนับสนุน ทำให้อังกฤษไม่มีข้อยุติหรือข้อเสนอที่จะไปยื่นต่อรัฐบาลสหภาพยุโรปได้เพื่อดำเนินการออกจากสหภาพยุโรป และหลังจากพ่ายแพ้ในสภาผู้แทนราษฎร ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงสองครั้ง คือ ในพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอเองหนึ่งครั้ง และในสภาผู้แทนราษฎร อีกหนึ่งครั้ง แต่เธอก็ผ่านมติเหล่านี้ได้หมด ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่ต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อนวันที่ 31 ตุลาคมปีนี้

สาเหตุหลักที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ที่จะเห็นชอบร่างข้อตกลงที่นายกรัฐมนตรีเสนอก็เพราะนักการเมืองบางส่วนไม่อยากตัดสินใจและไม่ต้องการรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่มีข้อสรุปของตนเองว่าอยากเห็นอะไร หลังอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป พรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันแตกเป็นสามก๊กในเรื่อง Brexit ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็ไม่มีนโยบายชัดเจนว่า ต้องการเห็นอะไรหลังอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป ดังนั้น เมื่อนักการเมืองไม่มีจุดยืนชัดเจน ไม่กล้าตัดสินใจ ประเทศก็มาถึงมาตัน

ในฐานะผู้นำประเทศต้องบอกว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษคนนี้ค่อนข้างเด็ดเดี่ยว แม้ดูเหมือนว่าจะทำงานไม่สำเร็จและถูกโจมตีมากทั้งจากนักการเมืองและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องการให้อังกฤษออกหรือกลุ่มที่ต้องการให้อยู่ต่อ แต่แม้ข้อเสนอของเธอจะถูกต่อต้านและถูกปฏิเสธโดยคนรอบข้าง เธอก็ไม่เสียความมานะ ไม่เสียกำลังใจ ยังสู้ต่อไปเพื่อทำงานที่ต้องทำให้สำเร็จ เป็นนักการเมืองที่ควรได้รับการชมเชยจากความตั้งใจที่จะทำงานให้เสร็จ ไม่ใช่นักการเมืองแบบเก่งแต่พูดหรือเป็นนักเล่านิทานเหมือนนักการเมืองทั่วไป

หนทางจากนี้ไปถึง 31 ตุลาคม คือ ต้องหาข้อยุติให้ได้ ซึ่งมีทางเลือกอยู่สามทาง หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างโดยยอมรับข้อเสนอของนายกฯ และดำเนินการออกจากอียู เร็วที่สุด สอง ร่างข้อเสนอไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรตกลงกันไม่ได้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ทำให้อังกฤษต้องออกจากอียู โดยไม่มีข้อตกลง และ สาม นักการเมืองแก้ปัญหาแบบนักการเมืองคือ ผลักดันให้มีเลือกตั้งใหม่เพื่อซื้อเวลา ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าใครจะกล้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าไม่ใช่นายกฯคนปัจจุบัน ผู้ที่ยืนกรานและปฏิเสธมาตลอดว่าจะไม่ทำประชามติครั้งที่สอง เรื่อง Brexit เพราะจะทำให้ประเทศแตกแยกมากไปอีก ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร

นี่คือผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อประเทศและหน้าที่ ขอเอาใจช่วยเต็มทึ่ครับ