การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้า บริการ และเป็นทุนมนุษย์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นได้

 อุปสงค์สำหรับแรงงานแตกต่างไปจากอุปสงค์สำหรับสินค้าโดยทั่วไป กล่าวคือ ถ้าเป็นอุปสงค์สำหรับสินค้าจะเกิดขึ้นเนื่องมาจากความต้องการบริโภคสินค้า หรือบริการชนิดนั้นโดยตรง แต่ในกรณีของอุปสงค์สำหรับแรงงานไม่ได้เกิดจากการที่ผู้ผลิตต้องการบริโภคแรงงานโดยตรง

การที่ผู้ผลิตมีอุปสงค์สำหรับแรงงาน สืบเนื่องมาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์สำหรับสินค้า บริการที่ผู้ผลิตผลิตขึ้นมาได้ เช่น หากสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ผู้ผลิตก็จะขยายปริมาณการผลิตโดยที่จะต้องจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น

ในทางกลับกันหากสินค้าหรือบริการขายไม่ออกหรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ผลิตก็จะลดปริมาณการผลิตลงและจะต้องลดปริมาณการจ้างแรงงานลง นั่นคือ อุปสงค์สำหรับแรงงานมีลักษณะเป็นอุปสงค์สืบเนื่อง ในขณะเดียวกันอุปสงค์สำหรับแรงงานก็ยังมีลักษณะเป็นอุปสงค์ร่วม เพราะในการผลิตผู้ผลิตจะต้องใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกันหลายชนิด เช่น เครื่องจักร ที่ดิน และอื่น ๆ

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เมื่อแรงงานเป็นต้นทุนพื้นฐานการในการผลิตสินค้าและบริการ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการที่สูงขึ้นตาม นายจ้างอาจผลักภาระนี้ให้กับผู้บริโภค โดยการกำหนดราคาสินค้าและบริการตามท้องตลาดให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าครองชีพและอาจทำให้เกิดการเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง เกิดเป็นกระแสเงินเฟ้อ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงถือเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

หากกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่สูงเกินกว่าราคาดุลยภาพแล้วจะทำให้อุปทานของแรงงานมากว่าอุปสงค์ นายจ้างจะเลือกจ้างเฉพาะแรงงานที่มีความสามารถสูงเท่านั้น ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานในกลุ่ม เนื่องจากขาดประการณ์ ทั้งที่กลุ่มนี้เต็มใจที่จะทำงานแม้จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายก็ตาม

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นมาตรการแทรกแซงของรัฐ เพื่อมิให้แรงงานได้รับค่าจ้างต่ำเกินไป เป็นการคุ้มครองแรงงานที่อ่อนแอไม่สามารถต่อรองได้ ในการบริหารกำกับหรือการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจึงควรมีการผสมผสานระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำที่ควรจะเป็นค่าจ้างสำหรับแรงงานไร้ฝีมือแรกเข้าทำงานกับค่าจ้างที่เรียกว่าค่าจ้างพื้นฐาน โดยปกติค่าจ้างพื้นฐานจะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำระดับหนึ่ง มากน้อยขึ้นกับประสบการณ์ ทักษะที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากการทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว

แม้ว่าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำข้างต้นเป็นกระบวนการแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐ แต่ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะการปล่อยให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกตลาดอาจเกิดการล่าช้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยนั้นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2542

กฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมาตรา 78 กำหนดให้มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และข้าราชการกระทรวงแรงงาน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขานุการ

ในส่วนของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ออก “ระเบียบกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มา ซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541” โดยใช้วิธีการเลือกตั้ง ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้แต่งตั้งโดยมีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างรวมอยู่ด้วย คณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับสมัครเลือกตั้ง

มาตรา 79 (3) และ (4) ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ได้กำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้าง มีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างดังกล่าว

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรที่จะให้ความสำคัญกับการเก็บรวบรวมข้อมูลลงรายละเอียดมากกว่ารายจังหวัด โดยอาจแยกย่อยเป็นรายอำเภอ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาร่วมด้วยในคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประสิทธิภาพในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในปัจจุบันมักถูกนำไปผูกพันกับเรื่องทางการเมืองมากเกินไป จนละเลยปัญหาในเรื่องการนำเอาค่าแรงขั้นต่ำไปปฏิบัติได้จริงโดยเป็นไปตามกลไกทางตลาดและความเหมาะสมในการจ้างแรงงาน นอกจากนี้สิ่งที่ต้องขบคิดต่อไปในอนาคต คือในยุคที่การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบเศรษฐกิจดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และเกี่ยวโยงกับการปรับกระบวนการผลิต ขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนความสัมพันธ์ในการทำงาน และการเคลื่อนย้ายทุน

ในอนาคตจำนวนคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานเพิ่มมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงพรมแดนหรือสัญชาติอีกต่อไป และที่ท้าทายมากกว่านั้น กระบวนการผลิตและการบริการปัจจุบันและในอนาคตนั้น จำเป็นต้องปรับกระบวนการการทำงานไม่มากก็น้อย สถานที่ทำงานอาจจะเป็นที่ใดก็ได้ เวลาการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น การทำงานวันละ 8 ชั่วโมงอาจไม่ใช่ปัจจัยวัดผลลัพธ์หรือความสำเร็จของงาน การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคต จะเป็นในรูปแบบใดนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่ง.

โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคั