คอนโดร่วมทุน “ไทย-ต่างชาติ” ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

คอนโดร่วมทุน “ไทย-ต่างชาติ” ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้นต่อเนื่อง

โดยในปี 2556 เป็นปีที่เริ่มมีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยแบบจริงจัง และหลังจากปีนี้เป็นต้นมาก็มีจำนวนเพิ่มเรื่อยๆ โดยมีผู้ประกอบการบางรายที่ร่วมทุนระยะยาวคือตั้งแต่ปี 2556 – 2557 จนถึงปัจจุบันมีโครงการคอนโดมิเนียม เปิดขายร่วมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท เช่น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กับมิตซุย ฟูโดซัง และบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กับมิตซูบิชิ เอสเตท ซึ่งทั้งอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และเอพี เป็นผู้บุกเบิกการร่วมทุนในลักษณะการร่วมทุนระยะยาวในปัจจุบัน

จากนั้นก็มีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นทยอยเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยต่อเนื่อง เรียกได้ว่าแทบทุกปีนับจากปี 2556 เป็นต้นมาจะประกาศความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นรวมแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น และมีจากจีนด้วยแต่ไม่มากนัก 

นอกจากนี้โครงการร่วมทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโด เพราะเป็นรูปแบบโครงการที่ชาวต่างชาติซื้อได้ หรือว่าสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ แต่มีผู้ประกอบการบางรายที่เลือกพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรกับผู้ประกอบการต่างชาติที่ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุน เพราะต้องการนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีบางอย่างจากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการประหยัดพลังงาน

โดยประเมินว่า โครงการที่มีการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติมีมากขึ้นทุกปีๆ มูลค่ารวมกันมากกว่า 500,0000 ล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ในปี2562 เท่าที่รวบรวมมาจากผู้ประกอบการไทยที่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมานั้น พบว่าจะมีโครงการคอนโดเปิดขายใหม่ของบริษัทร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติอีกประมาณ 25 โครงการมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 117,000 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมาไม่มากประมาณ 7% โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าหรือในพื้นที่เมืองชั้นใน แต่มีผู้ประกอบการบางรายที่เปิดขายโครงการบ้านจัดสรรร่วมกับผู้ประกอบการต่างชาติแต่ก็ไม่มากนักมีเพียง 3 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 17,200 ล้านบาท 

การร่วมทุนกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาตินั้นอาจจะไม่ได้คาดหวังว่าจะนำกำลังซื้อจากต่างประเทศเข้ามาซื้อคอนโดในประเทศไทย โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการที่มาจากญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการไทยมองเรื่องของเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศเพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาโครงการของตนเอง

แต่ในส่วนของผู้ประกอบการจากจีนที่เข้ามาลงทุนโครงการคอนโดร่วมกับผู้ประกอบการไทยนั้นมักจะได้ผู้ประกอบการไทยรายกลางหรือรายย่อยที่เป็นเจ้าของที่ดินเข้ามาร่วมทุน เพราะผู้ประกอบการจากจีนหรือฮ่องกงจะเป็นผู้กำกับดูแลกิจการของบริษัทร่วมทุนต่างจากผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยกำกับดูแลเป็นส่วนใหญ่

การร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาตินั้นก็มีส่วนที่น่ากังวลใจเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการต่างชาตินั้นคาดหวังผลตอบแทนรวมไปถึงรายได้จากโครงการร่วมทุนค่อนข้างมาก อีกทั้งยังต้องการผลตอบแทนในเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็วซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดคอนโดในไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการบางรายที่ร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติจำเป็นต้องเร่งเปิดขายโครงการคอนโดมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาเพื่อสร้างรายได้และผลตอบแทนให้เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามร่วมทุนด้วยพอใจ ทั้งที่ยังมีโครงการคอนโดเหลือขายอยู่ในสต็อกอีกไม่น้อย