การกำหนดค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (2)

การกำหนดค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (2)

ต่อจากบทความในครั้งที่แล้ว ข้อตกลงที่อาจมีผลต่อการกำหนดค่าเสียหายประการต่อมาคือ กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญา (Governing Law)

นกรณีที่กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญานั้น คู่สัญญาก็ต้องไปพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดค่าเสียหายตามสัญญาตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายมาตรา แต่มีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาฝ่ายที่ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญามีสิทธิจะเรียกร้องได้นั้นจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามจริงจากการที่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา เพราะค่าเสียหายมีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาให้คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับความเสียหายกลับไปอยู่ในสถานะเสมือนกับว่ามีการปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ดี หากใช้หลักการดังกล่าวเพียงอย่างเดียว อาจส่งผลให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาต้องรับผิดชอบค่าเสียหายอย่างไม่มีข้อจำกัดเลยก็เป็นได้ ป.พ.พ. จึงวางกรอบในการเรียกค่าเสียหายไว้ดังนี้

ประการแรก ค่าเสียหายที่จะเรียกได้จะต้องเป็นค่าเสียหาย ตามธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระนี้ แต่ไม่รวมค่าเสียหายที่เกิดจาก “พฤติการณ์พิเศษ” เว้นแต่ว่าคู่สัญญาจะคาดเห็นได้ว่าจะมีความเสียหายเกิดจาก พฤติการณ์พิเศษ สมมติว่า นาย ก ซื้อรถมาจากนาย ข เพื่อนำไปให้เช่า แต่ปรากฏว่ารถมีความชำรุดบกพร่องทำให้นาย ก ต้องนำรถไปซ่อม จึงไม่สามารถนำรถออกให้เช่าได้จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ ค่าเสียหายตามธรรมดาคือ ค่าซ่อมรถ ค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษคือ รายได้จากการนำรถออกให้เช่า ซึ่งจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้ขายรู้หรือควรรู้ว่าผู้ซื้อได้ซื้อรถเพื่อนำไปให้เช่า ดังนั้นเมื่อผู้ขายส่งมอบรถที่ชำรุดบกพร่องนอกจากค่าซ่อมแล้ว ผู้ซื้อก็ย่อมได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการไม่สามารถนำรถออกไปให้เช่าได้ ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่คู่สัญญาจะต้องไปพิสูจน์กันในชั้นการพิจารณาคดีต่อไป แต่นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งในส่วนอารัมภบทของสัญญา (Preamble) จะพูดถึงที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาในการเข้าทำสัญญา ซึ่งจะช่วยให้การพิสูจน์ถึงความรู้ถึงพฤติการณ์พิเศษง่ายขึ้น

ประการต่อมา ค่าเสียหายที่อาจถูกลดจำนวนลง หากคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้น ตัวอย่างข้างต้นหากนาย ก รู้ว่ารถมีความชำรุดบกพร่องแต่ยังฝืนนำไปขับทำให้ความชำรุดบกพร่องนั้นมีมากขึ้น หรือช่างซ่อมที่นาย ก ไปจ้างไว้ทำให้รถได้รับความชำรุดบกพร่องมากขึ้น ค่าเสียหายที่นาย ก จะเรียกจากนาย ข ได้ก็อาจถูกลดจำนวนลงได้

จริงๆ แล้วหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายตามกฎหมายไทยยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก ซึ่งหากยกมาอธิบายทั้งหมดคงทำให้บทความนี้ยาวเกินไป ผู้เขียนจึงขอยกมาเฉพาะเรื่องหลัก ๆ พอให้เห็นภาพเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกฎหมายประเทศอื่น

ในกรณีที่กฎหมายต่างประเทศเป็นกฎหมายที่นำมาใช้บังคับกับสัญญา ประเด็นสำคัญประการแรกที่จะต้องพิจารณาคือ กฎหมายต่างประเทศนั้นจะนำมาใช้กับเรื่องการกำหนดค่าเสียหายของสัญญาได้มากน้อยเพียงใด ในเรื่องนี้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่า หากต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ (1) จะต้องมีการพิสูจน์กฎหมายต่างประเทศนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล และ (2) กฎหมายที่ใช้จะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในประเทศไทย

การพิสูจน์กฎหมายต่างประเทศให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไทยไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่นำพยานผู้เชี่ยวชาญมาอธิบายกฎหมายต่างประเทศให้ศาลรับฟังก็เพียงพอแล้ว สิ่งที่ยากในการจะพิจารณาว่ากฎหมายต่างประเทศจะนำมาใช้ได้มากน้อยเพียงใดนั้นอยู่ที่ว่า ประเด็นพิพาทที่นำมาพิจารณาเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ติดตามต่อได้ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]