โอกาสเก็งกำไรหุ้นไทย เมื่อ 'กระทิง' (น่าจะ) ชนะ 'หมี'

โอกาสเก็งกำไรหุ้นไทย เมื่อ 'กระทิง' (น่าจะ) ชนะ 'หมี'

Equity risk premium ของไทย พบว่าอาจเป็น 1 ในเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีการปรับตัวขึ้น

ผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่กำลังมีข้อสงสัยว่าทำไมตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีประเด็นบวกบ้างเช่นตัวเลข เศรษฐกิจในประเทศหลักๆโดยเฉพาะจีนเริ่มเห็นการฟื้นตัว การเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังดำเนินต่อไป แต่ยังไม่มีประเด็นบวกอย่างมีนัยสำคัญมากนัก และซ้ำร้ายอาจจะมีแต่ข่าวลบในช่วงที่ผ่านมา (นักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง, กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว) ขณะที่การเมืองไทยเองยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แล้วมีเหตุผลใดที่นักลงทุนต่างชาติรวมถึงนักลงทุนสถาบันไทยเริ่มสลับกันเป็นผู้นำการเข้าซื้อหุ้นมาตลอดตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. เป็นต้นมา

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการปรับน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยโดย MSCI แล้ว ผมทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องของ Equity risk premium ของไทย พบว่าอาจเป็น 1 ในเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีการปรับตัวขึ้น อย่างน้อยในระยะสั้น 1-2 เดือนนี้  

Equity risk premium คือพื้นฐานในการ Valuation หุ้น ซึ่งโดยปกติแล้วอาจแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลักๆ คือ 1) การสำรวจเก็บข้อมูลจาก นักลงทุน, นักวิชาการ, ผู้บริหารสายการเงิน หรือ CFO 2) การเก็บข้อมูลในอดีต และ 3) Market based หรือการใช้ข้อมูลจากราคาในตลาดฯ ทั้งนี้ Equity risk premium มีประโยชน์ทั้งในด้าน 1) การ Valuation หาราคาเหมาะของหุ้น และ 2) ใช้ในการพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบว่าการลงทุนในขณะนี้นั้นมีความคุ้มค่าลงทุนเพียงใด ซึ่งในบทความฉบับนี้นั้นผมจะใช้ประโยชน์ที่ 2) ของ Equity risk premium มาหาคำตอบว่าตลาดหุ้นไทยทำไมถึงปรับตัวขึ้น และยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อได้อีกหรือไม่ สำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ที่ 2) ของ Equity risk premium นั้น เป็นการพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบดังนั้นผมจึงใช้วิธี Market based ในการคำนวณ ซึ่งน่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการลงทุนได้สะดวกกว่า

วิธี Market based ที่นิยมใช้กัน เบื้องต้นที่สุดคือ Yield gap (อาจจะเป็น Earnings yield gap หรือ Dividend yield gap ก็ได้ เพราะเราต้องการเชิงเปรียบเทียบไม่ได้ต้องการหาข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด ในบทความนี้ผมเลือกใช้ Earnings yield gap) โดย Earnings yield gap คือส่วนต่างของผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในหุ้น เทียบกับอัตราผลตอบแทนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (ในบทความนี้ ผมเลือกใช้พันธบัตรอายุ 5 ปี) ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวหากพิจารณานิยามที่ผมเขียนแล้วมันก็คือ Equity risk premium หรือ ส่วนชดเชยความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องการจากการลงทุนในหุ้น ที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk free) นั้นเอง และอีกวิธีที่อาจจะนำมาใช้ได้คือ การใช้ Credit Default Swap Spread หรือ CDS Spread (CDS) ซึ่งจะเป็นส่วนชดเชยความเสี่ยงของประเทศนั้นๆที่เพิ่มขึ้นจาก Mature market เช่น สหรัฐฯ เป็นต้น (... อ้างอิงจาก Damodaran A., 2018, Equity Risk Premiums (ERP): Determinants, Estimation and Implications – The 2018 Edition, Working paper) แต่ในบทความนี้ผมต้องการพิจารณาเพียงเชิงเปรียบเทียบจึงจะไม่ทำการคำนวณหา Equity risk premium จากวิธี CDS Spread แต่จะแสดงกราฟ Earnings yield gap เปรียบเทียบกับ CDS ของไทย

เห็นได้ว่า Earnings yield gap แทบจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับ CDS แต่เริ่มมีการฉีกตัวออกจากกันเป็นครั้งแรกในช่วงกลางปี 2560 จะเห็นได้ว่า Earnings yield gap ยืนอยู่ระดับ 4.5% มาตลอด (Earnings yield gap ยิ่งสูง ยิ่งน่าซื้อหุ้น) ขณะที่ CDS ปรับลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ (CDS ลดลงแสดงว่าความเสี่ยงประเทศไทยต่ำลง) ส่วนต่างดังกล่าวนี้เอง หากนำมาพิจารณาจะเห็นได้ว่าอาจเป็นโอกาสในการเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากผมประเมินว่า ความเสี่ยงต่างๆที่กดดันตลาดหุ้นไทยมาตลอดอย่างประเด็นการเมือง น่าจะปลดล๊อกได้รัฐบาลใหม่ในเดือน พ.ค. นี้

ขณะที่ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศจีน) คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนเองน่าจะฟื้นตัวได้ใน 2Q62 จึงทำให้มีโอกาสที่ Earnings yield gap จะปรับตัวลง เข้าหา CDS ที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหากกำหนดปัจจัยอื่นๆ อาทิ ประมาณการกำไร และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลคงที่ เท่ากับว่า SET index มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นนั่นเอง (ผมคาดว่าใน 1-2 เดือนนี้ น่าจะไม่มีการปรับลดประมาณการฯ และแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังคงที่) โดยสรุปผมจึงยังคงมุมมองว่า SET index ที่ปรับขึ้นทะลุแนวราคาสำคัญ 1,655 จุดขึ้นมาได้นั้น มีโอกาสที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือน พ.ค. เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ น่าจะลดลง และ Valuation หุ้นไทยอยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไปนั่นเอง