อุดมศึกษาไทยศตวรรษที่ 21 : ผู้เรียน ผู้สอนที่ตัองปรับตัว(จบ)

อุดมศึกษาไทยศตวรรษที่ 21 : ผู้เรียน ผู้สอนที่ตัองปรับตัว(จบ)

การให้การศึกษาทางการเมืองแก่เยาวชนต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอุดมการณ์ โครงสร้าง

การมีส่วนร่วม มีอิสระทางความคิดและมีวุฒิภาวะทางการเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการทางการเมืองให้ก้าวหน้าควบคู่กันไป เพื่อสร้าง สังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นโดยแท้จริง

สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่มุ่งสร้างการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและขณะเดียวกันก็ปรารถนาที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมมีความยุติธรรม เสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งส่วนสำคัญจะต้องมีการให้ความรู้ด้านการเมืองแก่ผู้เรียนให้มากขึ้น การเรียนรู้ทางการเมืองยังกระจุกอยู่กับกลุ่มที่ได้รับปัญหา ผลกระทบทางการเมืองจำนวนหนึ่งเท่านั้น จึงจำเป็นที่ควรจะจัดให้ผู้เรียนได้ซึมซับเพื่อจะออกไปบูรณาการและเสริมสร้างการเมืองไทยที่ใสสะอาด

ผู้เรียนต้องได้รับการปลูกฝังให้เกิดความตระหนัก(Awareness)ในคุณค่าของประชาธิปไตย คำว่า ความตระหนัก หมายถึง การแสดงออกถึงความรู้สึก รับรู้ คิดได้ มองเห็นประโยชน์และความสำคัญโดยแสดงออกมาในทิศทางที่ต้องการตามประสบการณ์ ความตระหนักจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์ สภาพแวดล้อมในสังคมหรือสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นให้เกิดความตระหนักและสะท้อนให้เห็นทางพฤติกรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้การรับรู้ทางการเมืองจะต้องถูกสร้างให้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมและไปสู่สังคมความสมานฉันท์ ซึ่งต่างจากสังคมไทยปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันกันอย่างสูงที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรุนแรงนี้ โดยผลกระทบ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าในสภาวะแบบนี้ ควรมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองอย่างไร เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน มีสันติสุข และสามารถเอาชนะวิกฤตการณ์ทางด้านต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้

ความตระหนัก โดยนัยเหมือนกับการที่เรามีจิตใต้สำนึกในการรักษาคุณค่าของประชาธิปไตย เพราะความตระหนักเป็นการรู้ที่อยู่ใต้จิตสำนึกตลอดเวลา ครั้งใดที่เกิดปัญหาหรือพบเห็นเรื่องราวที่เรามีความรู้ ก็จะดึงจิตใต้สำนึกทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนไม่ว่าในภาวะใดก็ตามความสำนึกที่ฝังลึกและถูกต้องนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง  การสร้างความตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตยนั้นอาจแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ได้ 4 ขั้นตอน คือ

(1) สร้างความรู้ที่ชัดเจนและซาบซึ้งในเรื่องราวของประชาธิปไตย หมายถึง ต้องสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ประชาธิปไตยตั้งอยู่บนหลักการของคนส่วนใหญ่ปกครอง (principles of majority rule)ควบไปกับสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิของคนส่วนน้อย (minority rights) ในขณะที่เคารพต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ให้การคุ้มครองอย่างแข็งขันกับสิทธิพื้นฐานของแต่ละบุคคลและของกลุ่มคนส่วนน้อยด้วย นอกจากนั้นประชาธิปไตยให้รัฐบาลอยู่ภายใต้หลักของกฏหมาย (rule of law) และรับรองให้ประชาชนทั้งหมดได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฏหมาย และสิทธิของประชาชนได้รับความคุมโดยขบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น

(2) สร้างความรักและความหวงแหนในประชาธิปไตย เพราะรู้ว่าประชาธิปไตยมีหน้าที่หลักคือ การปกป้องสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ เช่น เสรีภาพในการพูดและนับถือศาสนา สิทธิที่เท่าเทียมกัน ในการได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย และสิทธิที่เท่าเทียมกันในจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางชีวิตวัฒนธรรมของสังคมเป็นต้น

(3) มีความวิตกและห่วงใยเมื่อประชาธิปไตยถูกคุกคาม หมายถึงรู้สึกเป็นห่วงและกังวลถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งส่งผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นห่วงและกังวลต่อการเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่เห็นแก่ตัวไม่มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ตักตวงผลประโยชน์จากประเทศชาติและประชาชนโดยปราศจากความพอเพียง ที่เห็นได้ชัดคือกรณีความวิตกและความห่วงใยในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะมีผลผลกระทบกับประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต

(4) การปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตย โดยขั้นตอนทั้ง 3 ข้อ ที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วนั้นเป็นเพียงพื้นฐานที่ก่อให้เกิด ผลทางด้านลักษณะนิสัยและความรู้สึกนึกคิด แต่ผลทางรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและประชาชนนั้น จำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งทางตรงและทางอ้อมในวิสัยที่มนุษย์แต่ละคนพึงกระทำได้ ที่กล่าวเน้นตรงจุดนี้เพราะมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน ตามสถานภาพและบทบาทที่อำนวยให้ในปัจจุบัน

ถ้าทุกภาคส่วนในสังคมร่วมแรงร่วมใจกันสร้างความตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนแล้ว ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะถูกสร้างขึ้นโดยอนาคตชนคนรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจและสำนึกแห่งประชาธิปไตยเต็มร้อย

เราเรียกร้องหาคนรุ่นใหม่ที่จะรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในอนาคต ถ้าไม่ปลูกฝังความตระหนักในคุณค่าประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนในทุกช่วงวัยในวันนี้ เราทุกคนนั่นแหละที่ร่วมกันทำร้ายประเทศชาติในอนาคต

โดย... 

ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์

ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม