ชัยชนะJaguarLand Rover คดีประวัติศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ชัยชนะJaguarLand Rover คดีประวัติศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงเฉาหยาง แห่งนครปักกิ่งได้ตัดสินให้บริษัท Jaguar Land Rover ชนะคดีทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์รถยนต์

ของบริษัท Jaguar Land Rover โดยมีคู่ความคือบริษัท Jiangling Motor Corporation (JMC) ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกรณีพิพาทคือรถยนต์ยี่ห้อ Landwind รุ่น X7 ซึ่งมีลักษณะเด่น 5 ด้านที่ศาลเชื่อว่าได้ถูกเลียนแบบมาจากรถยนต์ Range Rover Evoque ของบริษัท Jaguar Land Rover โดยการเลียนแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนำไปสู่ความเข้าใจหลงผิดของผู้บริโภค

ในคดีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นคดีที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานถึง 3 ปี โดยรถ Landwind X7 เป็นรถ SUV ที่เปิดตัวจำหน่ายในช่วงเดือน พ.ย. 2557 และหลังจากเปิดตัวก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับรถ Range Rover Evoque ที่ได้มีจำหน่ายก่อนหน้าในประเทศจีน โดยรถทั้ง 2 รุ่นนั้นมีรูปร่างเหมือนกัน โดยมีหลังคาและหน้าต่างด้านข้างคนขับบานใหญ่และค่อย ๆ เล็กลงไปในด้านหลัง มีไฟท้ายที่แทบจะเหมือนกันทุกส่วน รวมถึงแถบเส้นด้านข้างของแผงประตู โดยลักษณะที่แตกต่างกันที่สามารถสังเกตได้คือกระจังหน้าของ Landwind X7 นั้นมีความโค้งมนมากกว่ากระจังหน้าของ Range Rover Evqoue ที่มีความเป็นเหลี่ยมมุมมากกว่า

ถึงอย่างไรก็ตาม ลักษณะที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ทำให้ผู้บริโภคพอสังเกตได้ว่าเป็นรถคนละรุ่น คนละยี่ห้อกันนั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงในภายหลังเพื่อให้มีลักษณะที่เหมือนกันได้ นั่นคือ หากผู้บริโภคต้องการเปลี่ยนลักษณะของรถภายนอกของ Landwind X7 ให้เหมือน Range Rover Evoque นั้นก็สามารถทำได้โดยซื้ออะไหล่จากเว็บไซต์ออนไลน์ชั้นนำของประเทศจีนอาทิ Taobao ซึ่งมีราคาตกอยู่ที่ประมาณ 128 RMB (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 600 บาท) เท่านั้น

ในแง่ของราคาและ marketing channel ของรถทั้ง 2 รุ่น 2 ยี่ห้อนั้น รถ Landwind X7 มีราคาประมาณ 1 ใน 3 ของราคา Range Rover Evoque ในประเทศจีน นั่นคือ 123,000 RMB (ประมาณ 582,750 บาท) และ 350,000 RMB (ประมาณ 1,659,000 บาท) สำหรับ Range Rover Evoque และถึงแม้รูปร่างภายนอกจะเหมือนกัน แต่เทคโนโลยีและสมรรถนะมีความแตกต่างกันพอควร

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการจำหน่ายรถ Landwind X7 นั้น ยอดขายรถยนต์ของบริษัท Jaguar Land Rover นั้นเพิ่มขึ้นถึง 36% ก่อนที่จะหล่นลงมาที่ 20% หลังจากที่ Landwind X7 ออกจำหน่าย

ศาลแขวงเฉาหยางได้พิพากษาให้บริษัท Jiangling Motor Corporation ผู้ผลิตรถยนต์ Landwind X7 หยุดผลิต จำหน่าย และโฆษณาใด ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ Landwind X7 ในประเทศจีนโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ นอกจากนี้ บริษัท Jiangling Motor Corportaion ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัท Jaguar Land Rover ทั้งความเสียหายที่แท้จริง และความเสียหายเชิงลงโทษด้วย ซึ่งคำพิพากษาครั้งนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และถูกจับตามองในวงกว้างจากธุรกิจรถยนต์ทั่วโลกเนื่องจากคำพิพากษานี้นับเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาในธุรกิจรถยนต์ของประเทศจีนที่บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์จากต่างประเทศได้รับชัยชนะในคดีทางทรัพย์สินทางปัญญา

 ก่อนหน้านี้ ในปี 2546 บริษัท Honda Motor Co., Ltd. ฟ้องร้องคดีต่อศาลแขวงเหอเป่ย ในกรณีที่บริษัท Shuanghuan Auto ผู้ผลิตรถยนต์ Laibao S-RV ได้ละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์หมายเลข JP1004783 แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยศาลตัดสินว่า ถึงแม้ว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่นในปี 2541 แล้วก็ตาม แต่ทางคณะกรรมการสิทธิบัตรของประเทศจีนไม่ถือว่าเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงส่งผลให้บริษัท Shuanghuan Auto สามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรการออกแบบของรถยนต์ Laibao S-RV ได้

แม้ว่าทางบริษัท Honda Motor Co., Ltd. จะถือสิทธิบัตรจากต่างประเทศอยู่แล้ว นั่นคือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตนได้รับจากประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองทางทรัพย์สินทางปัญญา ยิ่งกว่านั้นบริษัท Honda Motor Co., Ltd. ยังต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัท Shuanghuan Motor จำนวน 16,000,000 RMB (ประมาณ 80,000,000 บาท) อีกด้วยในข้อหากลั่นแกล้งทางธุรกิจต่อผู้ผลิตรถยนต์รายย่อยของประเทศจีน

หากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร ในกรณีนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สิทธิบัตร 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542) ซึ่งวางหลักว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา 56 ได้นั้นจะต้องไม่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และจะต้องไม่เคยมีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร แบบผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องไม่ได้รับการประกาศโฆษณาแล้ว

นอกจากนี้ แบบผลิตภัณฑ์ที่จะยื่นขอสิทธิบัตรนั้นจะต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาก่อนหน้าอย่างชัดเจนจนสามารถเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ ดังนั้น ในกรณีของรถยนต์ Range Rover Evoque นั้นได้มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่มีจำหน่ายมาเป็นระยะเวลานึงแล้ว ทำให้บริษัทรถยนต์อื่นไม่สามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรการออกแบบของรถยนต์ในแบบเดียวกันได้

ในกรณีที่บริษัท Jaguar Land Rover ต้องการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรของราชอาณาจักรไทย ก็ควรจะยื่นขอสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ภายในหกเดือนนับจากการยื่นขอสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 60 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542) อีกด้วย

การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่างชาตินั้น นอกจากเป็นไปเพื่อความยุติธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานการให้ความคุ้มครองทั้งผู้บริโภคเพื่อมิให้สับสนหลงผิดในผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ และการให้ความคุ้มครองผู้ประดิษฐ์และผู้ผลิตในแง่ของสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรแล้ว ความยุติธรรมในการพิจารณาและตัดสินคดีนั้นยังสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในการลงทุนในประเทศอีกด้วยว่าธุรกิจจากต่างประเทศจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา

โดย...

ดร.สรรเพชุดา ครุฑเครือ

นางสาวไอมี่ มาราสา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์